MR.D.I.Y.เร่งปูพรม 70 สาขา หวังชิงดีมานด์หลังปลดล็อก

จับตา - แม้จำนวนลูกค้าจะเริ่มกลับมาหลังการปลดล็อก แต่ยังต้องจับตาดูดีมานด์สินค้า และกำลังซื้ออย่างใกล้ชิดเพื่อให้สามารถปรับตัวตามสถานการณ์ได้ทันท่วงที

มิสเตอร์.ดี.ไอ.วาย.เดินหน้าขยายสาขาเต็มสตรีม เล็งผุด 6-7 สาขาต่อเดือน ตามเป้าทั้งปี 70 สาขา เชื่อดีมานด์ยังมี หลังจำนวนลูกค้าช่วงปลดล็อกเริ่มฟื้น พร้อมฟอร์มทีมทดลองอีคอมเมิร์ซทั้งออฟฟิเชียล-มาร์เก็ตเพลซรับเทรนด์ ก่อนระดมการตลาดผ่านออนไลน์ทั้งโปรโมตสาขาใหม่ โปรโมชั่นราคาพิเศษ หวังสร้างรับรู้-เร่งยอดขาย

นางสาวนรินติยา เสาวณีย์ ผู้จัดการฝ่ายการตลาด บริษัท มิสเตอร์.ดี.ไอ.วาย. เทรดดิ้ง (ประเทศไทย) ผู้บริหารเชนร้านค้าปลีก มิสเตอร์.ดี.ไอ.วาย. (MR.D.I.Y.) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงทิศทางของบริษัทในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 ว่า ขณะนี้แม้จะได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 รวมถึงภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว แต่เชื่อว่าผู้บริโภคยังมีดีมานด์อยู่ สะท้อนจากจำนวนลูกค้าที่เริ่มฟื้นตัวหลังจากปลดล็อก ไม่ว่าจะเป็นสาขาสแตนด์อะโลนที่มีลูกค้าเพิ่มขึ้นเป็น 600-800 คน/วัน จากในช่วงล็อกดาวน์ หรือการรณรงค์อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ ที่มีจำนวนประมาณ 400-500 คนต่อวัน ซึ่งไปในทิศทางเดียวกับสาขาในห้างที่มีลูกค้าเข้ามาต่อเนื่องหลังการปลดล็อกในเฟส 2 และสามารถกลับมาเปิดให้บริการได้ ในขณะที่ยอดขายเฉลี่ยลดลงเพียงเล็กน้อย ซึ่งเป็นผลจากระยะเวลาเปิดบริการที่ลดลง

ส่วนสินค้าที่ได้รับความนิยมเปลี่ยนแปลงไปเล็กน้อย โดยเป็นของใช้ในบ้าน และเครื่องเขียนได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นมาใกล้เคียงกับของตกแต่งบ้าน เช่นเดียวกับสินค้าจำเป็น เช่น หน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ ทิสชูเปียก คาดว่าเป็นผลจากการเวิร์กฟรอมโฮมทำให้ผู้บริโภคต้องทำงาน และใช้เวลาที่บ้านมากขึ้น จึงมีโอกาสทำกิจกรรมต่าง ๆ เช่น ทำอาหาร ตกแต่งบ้าน ฯลฯ โดยเชื่อว่าสินค้าเหล่านี้จะยังมีดีมานด์ต่อเนื่องหลังจากนี้ด้วย อย่างไรก็ตาม จากนี้ยังต้องจับตาพฤติกรรม ดีมานด์ และกำลังซื้อของผู้บริโภคอย่างใกล้ชิด เพื่อให้สามารถปรับไลน์อัพสินค้ามาตอบโจทย์ได้ทันเพื่อรับดีมานด์ และขยายการเข้าถึงผู้บริโภค

นางสาวนรินติยากล่าวว่า ล่าสุดบริษัทมีนโยบายจะกลับมาเดินหน้าขยายสาขาแบบเต็มที่อีกครั้ง ในอัตราเฉลี่ย 6-7 สาขาต่อเดือน เน้นโมเดลสแตนด์อะโลนในย่านชุมชนเป็นหลักเช่นเดิม ตามเป้าหมายเพิ่มสาขาอีก 70 สาขา เป็นประมาณ 270 สาขาภายในปีนี้ จากปัจจุบันมีประมาณ 226 สาขา และจะเร่งเปิดสาขาที่สร้างเสร็จแล้ว โดยวันที่ 6 มิถุนายนจะเปิด 6 สาขา ต่อเนื่องจากวันที่ 30 พฤษภาคมจะเปิด 3 สาขา ทั้งนี้ แต่ละสาขามีมาตรการเพื่อความปลอดภัยตามข้อกำหนดของรัฐบาลอย่างเคร่งครัด เพื่อสร้างความมั่นใจให้ลูกค้า

พร้อมปรับแผนโลจิสติกส์ส่งสินค้าเข้าร้านแต่ละสาขาเร็วขึ้น 1-2 ชั่วโมง ให้สัมพันธ์กับเวลาเปิดทำการที่สั้นลง เช่นเดียวกับปรับไลน์อัพสินค้าในแต่ละสาขาตามดีมานด์ในพื้นที่ อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีแผนสำหรับการชำระสินค้าแบบไร้สัมผัส อาทิ วอลเลตต่าง ๆ นอกเหนือจากการโอนเข้าบัญชี เนื่องจากลูกค้าส่วนใหญ่ยังนิยมเงินสด เพราะยอดต่อใบเสร็จเพียง 100-200 บาทเท่านั้น

นางสาวนรินติยากล่าวว่า ส่วนแผนงานด้านการตลาด บริษัทจะหันโฟกัสสื่อออนไลน์เป็นพิเศษ เนื่องจากเป็นสื่อที่กลุ่มเป้าหมายนิยมใช้งาน เน้นโปรโมตสาขาเปิดใหม่ รวมถึงโปรโมชั่นสินค้าราคาพิเศษ พร้อมปรับการใช้งบฯเป็นรายโปรเจ็กต์เพื่อความคุ้มค่า อย่างแคมเปญฉลองการกลับมาเปิดให้บริการช่วง 22 พฤษภาคม-7 มิถุนายน และกิจกรรมร่วมสนุกชิงรางวัลต่าง ๆ เช่นเดียวกับการย้ำจุดแข็งเรื่องสินค้าหลากหลาย ราคาจับต้องง่าย เพื่อสร้างการรับรู้ กระตุ้นยอดขาย-การไลก์-แชร์ รวมถึงการรองรับกระแสช็อปออนไลน์ที่กำลังมาแรง ด้วยการฟอร์มทีมงานใหม่สำหรับดูแลอีคอมเมิร์ซโดยเฉพาะ และเริ่มทดลองเปิดขายสินค้าผ่านทางออฟฟิเชียลเว็บไซต์ และแพลตฟอร์มมาร์เก็ตเพลซรายใหญ่ ๆ เช่น ลาซาด้า และช้อปปี้ พร้อมจับมือพันธมิตร เช่น นินจาแวน ในการส่งสินค้า โดยในช่วงแรกสินค้าจะมีเพียงหน้ากากอนามัย เพื่อทดสอบความพร้อมด้านต่าง ๆ ประมาณ 3 เดือน ก่อนจะเพิ่มสินค้าอื่นในอนาคต

“การเร่งสปีดขยายสาขา และเริ่มทำอีคอมเมิร์ซ รวมถึงปรับกลยุทธ์ จะช่วยให้ปีนี้สามารถขยายสาขาเพิ่มได้อีก 70 สาขา รวมถึงสร้างรายได้ใกล้เคียงกับปีที่แล้วตามเป้าที่วางไว้” นางสาวนรินติยากล่าว