งัด “แปะโป้ง-ดีลิเวอรี่” สู้โควิด โชห่วยอินเดียยอดพุ่ง 300%

คอลัมน์ MARKET MOVE

ช่วงมาตรการล็อกดาวน์ได้ช่วยให้อีคอมเมิร์ซและบริการส่งสินค้า-อาหารในหลายประเทศได้รับความนิยมล้นหลามจนราวกับจะเป็นปัจจัยพื้นฐานใหม่ของสังคม

แต่ในประเทศอินเดียสถานการณ์กลับแตกต่างออกไป โดยยักษ์ธุรกิจข้ามชาติอย่างอเมซอนและวอลมาร์ต ต้องยอมหลีกทางให้กับ “คิรานา” (Kirana) หรือร้านโชห่วยสไตล์อินเดีย ที่กลายเป็นตัวเลือกอันดับแรกของชาวภารตในการซื้อหาสินค้าอุปโภคบริโภคและอาหารการกิน

สำนักข่าว “นิกเคอิ เอเชียน รีวิว” ได้รายงานถึงปรากฏการณ์นี้ว่า ร้านคิรานาจำนวนกว่า 18 ล้านแห่งทั่วอินเดีย ได้กลายเป็นหัวใจของวงการค้าปลีกอินเดียในช่วงล็อกดาวน์ไปแล้ว สะท้อนจากภาพลูกค้าที่ต่อคิวยาวเหยียดหน้าร้านเพื่อรอซื้อสินค้าต่าง ๆ ตั้งแต่บะหมี่่กึ่งสำเร็จรูป ไปจนถึงผงซักฟอก โดยนอกจากการขายสินค้าตามปกติแล้ว หลายรายยังปรับตัวรับสถานการณ์โรคระบาด และสภาพเศรษฐกิจด้วยการเปิดบริการดีลิเวอรี่ รวมถึงยอมให้ลูกค้า “แปะโป้ง” ยอมให้เซ็นไว้ก่อนได้อีกด้วย

หนึ่งในนั้นคือ “ดีพัก โพรวิชั่น” (Deepak Provision) ร้านคิรานาขนาด 110 ตร.ม. ในกรุงนิวเดลี ซึ่งมีสินค้าหลากหลาย ทั้งผัก, ไข่ไก่, ถั่ว ไปจนถึงสบู่ โดยเจ้าของร้านเปิดรับออร์เดอร์จากลูกค้าในพื้นที่ใกล้เคียง ทั้งการมาสั่งด้วยตนเองที่หน้าร้าน และผ่าน “วอตส์แอป” (WhatsApp) แอปแชตยอดนิยม ก่อนจะให้พนักงานไปส่งให้ภายหลัง

กลยุทธ์นี้ช่วยให้ยอดขายช่วง 2 เดือนของการล็อกดาวน์เพิ่มขึ้นถึง 300% หรือ 3 เท่าของช่วงปกติ

“ดีพัก กุ๊ปตา” เจ้าของร้าน อธิบายว่า จุดแข็งของร้านอยู่ที่ความรวดเร็วในการส่งสินค้าถึงบ้านลูกค้าได้ภายใน 15 นาที ในขณะที่บรรดายักษ์อีคอมเมิร์ซนั้นต้องใช้เวลานานถึง 5 วัน แถมยังยอมให้ลูกค้าติดค่าสินค้าไว้ก่อนได้ด้วย นอกจากนี้ร้านคิรานาแต่ละแห่งจะมีโกดังสินค้าอยู่ติดกัน ทำให้สามารถแลกเปลี่ยนซัพพลายกันได้จึงมีต่อเนื่อง

“เชื่อว่าแม้จะผ่านช่วงล็อกดาวน์ไปแล้ว ลูกค้าน่าจะยังมาใช้บริการอยู่ เพราะความกังวลด้านความปลอดภัยจะทำให้ผู้คนเลือกช็อปในร้านค้าใกล้บ้านมากกว่า”

สอดคล้องกับความเห็นของนักวิเคราะห์ที่มองว่า การเป็นองค์กรขนาดใหญ่ของผู้ค้าปลีกออนไลน์รายใหญ่ในอินเดีย ทั้งอเมซอนและวอลมาร์ต กลายเป็นอุปสรรคทำให้ปรับตัวรับความเปลี่ยนแปลงช่วงล็อกดาวน์ อย่างการขาดกำลังคนและการเดินทางที่ถูกจำกัดเชื่องช้าจนไม่สามารถตอบสนองผู้บริโภคได้ทัน ส่งผลให้บางรายหนี้ท่วม เช่น ฟิวเจอร์กรุ๊ป หนึ่งในค้าปลีกรายใหญ่ที่พยายามขายหุ้นกับคู่แข่งอย่างอเมซอนเพื่อหาเงินสดมาจ่ายหนี้

ตรงข้ามกับร้านคิรานาที่มีแทบทุกที่ โดยตามข้อมูลของบริษัทวิจัยโกลบอลดาต้า ร้านคิรานามีสัดส่วนประมาณ 1 ร้านต่อประชากรเพียง 100 คน สะท้อนถึงความทั่วถึงได้ชัดเจน

ความเปลี่ยนแปลงนี้ กระตุ้นความสนใจของแบรนด์ใหญ่ให้หันกลับมามองร้านคิรานาในฐานะช่องทางค้าปลีกที่สำคัญ โดย “ดิเรน คานธีย์” ผู้อำนวยการอาวุโส และหัวหน้ากลุ่มธุรกิจอาหารของเป๊ปซี่โค ประเทศอินเดีย กล่าวว่า ขณะนี้ช่องทางเทรดิชั่นนอลเทรดอย่างร้านคิรานา ทวีความสำคัญมากขึ้นในการกระจายสินค้าให้ถึงมือผู้บริโภค

นอกจากนี้ยังมีอีกหลายธุรกิจที่ใช้จังหวะนี้ดึงบรรดาร้านค้าเหล่านี้มาเป็นลูกค้า เช่น ยักษ์ไอที “กูเกิล” ซึ่งเสนอเทคโนโลยี อาทิ ระบบชำระเงินแบบไร้สัมผัสกูเกิลเพย์และวิดีโอคอล ฯลฯ ต่อเนื่องจากก่อนหน้านี้ที่เดินหน้าเสริมเขี้ยวเล็บด้านไอทีและเทคโนโลยีให้กับผู้ค้าปลีกรายย่อยในอินเดีย รวมถึงร้านคิรานาอย่างต่อเนื่อง จนมีผู้ใช้งานกว่าล้านร้านค้าแล้ว

ความเคลื่อนไหวนี้สะท้อนถึงโอกาสทางธุรกิจที่อาจมาพร้อมกับวิกฤต ซึ่งต้องรอดูกันว่าร้านโชห่วยของอินเดียจะสามารถใช้โอกาสนี้เป็นสปริงบอร์ดผงาดขึ้นมาต่อกรกับยักษ์อีคอมเมิร์ซในระยะยาวได้หรือไม่