“เอ็มวิชั่น” ปรับโมเดลธุรกิจ ให้เช่าแคมปิ้งคาร์ปั๊มยอด

ตอบโจทย์ - ธุรกิจร้านอาหาร-ท่องเที่ยว-ไอที หันใช้แคมปิ้งคาร์เป็นร้าน-ที่พัก เพื่อตอบโจทย์การเว้นระยะห่าง และการให้บริการแบบนอกสถานที่

“เอ็ม วิชั่น” ปรับโมเดลธุรกิจ ผนึกพันธมิตรหลากวงการ ทั้งร้านอาหาร ไอที ท่องเที่ยว ฯลฯ ต่อยอดธุรกิจให้เช่ารถบ้านหวังปั้นรายได้ชดเชยช่วงอีเวนต์สะดุด ด้านอีเวนต์เตรียมจัด “ไทยแลนด์ โมบาย เอ็กซ์โป” ต้น ก.ค. พร้อมระดมนิวนอร์มอล อาทิ ถ่ายทอดออนไลน์, เข้างานเป็นรอบ, ขยายทางเดินเรียกความเชื่อมั่น

นายโอภาส เฉิดพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็ม วิชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงแนวโน้มของธุรกิจจัดอีเวนต์ และทิศทางของบริษัทช่วงครึ่งปีหลังว่า แม้การระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ธุรกิจจัดอีเวนต์ชะงักไปในช่วงไตรมาส 2 นี้ แต่เชื่อว่าภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องยังมีความเชื่อมั่นและพร้อมเข้าร่วมงานเมื่อได้รับอนุญาตให้สามารถจัดงานได้อีกครั้ง สะท้อนจากฟีดแบ็กของพันธมิตรที่ต่างแสดงความพร้อมร่วมออกบูทในงานไทยแลนด์ โมบาย เอ็กซ์โป ช่วงวันที่ 2-5 กรกฎาคมที่จะถึงนี้ ทำให้ปัจจัยที่ต้องจับตามองมีเพียงความเชื่อมั่นของฝั่งผู้บริโภคที่จะเข้าร่วมงาน และมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐที่กำลังจะออกมาเท่านั้น

ขณะเดียวกัน ยังเริ่มเห็นสัญญาณฟื้นตัวในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว โดยหลังปลดล็อกผู้บริโภคเริ่มเดินทางท่องเที่ยวในประเทศไปยังแหล่งท่องเที่ยวแนวธรรมชาติอย่างภูเขา และทะเลบ้างแล้ว หลังยอดจองที่พักแบบรถบ้านซึ่งบริษัทเป็นผู้ดำเนินการเริ่มเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะช่วงเสาร์-อาทิตย์ และน่าจะดีขึ้นอีกในช่วงไตรมาส 3

ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็ม วิชั่น กล่าวว่า จากแนวโน้มเหล่านี้เป็นโอกาสสำหรับบริษัทในการต่อยอดธุรกิจเพื่อสร้างรายได้ช่วงครึ่งปีหลัง โดยนอกจากการจัดอีเวนต์แล้วยังต่อยอดธุรกิจให้เช่ารถบ้านด้วยการจับมือพันธมิตรจากวงการต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร ไอที ท่องเที่ยว ฯลฯ เพื่อนำรถบ้านไปปรับใช้งานในรูปแบบต่าง ๆ ชูจุดขายเรื่องความสามารถตอบโจทย์นิวนอร์มอลอย่างการเว้นระยะห่าง และการให้บริการแบบนอกสถานที่ได้ พร้อมจัดหารถบ้านเพิ่มอีก 100 คัน จากเดิมที่มีอยู่ 200 คัน สำหรับรองรับการขยายธุรกิจ โดยให้บริการใน 3 โมเดล คือ เช่าระยะสั้น-ยาว, เช่าพร้อมเซอร์วิสและกึ่งขาย เพื่อให้สามารถรองรับธุรกิจของคู่ค้าได้ทุกรูปแบบ

ล่าสุดจับมือกับเชนร้านอาหารสไตล์ชาบู เพนกวิน อีท ชาบู (Penguin Eat Shabu) ที่ปัจจุบันมี 7 สาขา นำรถบ้านไปใช้เป็นร้านอาหารนอกสถานที่ รวมถึงเตรียมขยายพันธมิตรกับบริษัท เจ มาร์ท ผู้บริหารเชนร้านมือถือ นำรถบ้านไปใช้เป็นร้านมือถือ และให้บริการหลังการขาย หลังทดลองเปิดบริการซ่อมจอมือถือนอกสถานที่ “เอ็มวีพี เซอร์วิส เอ็กซ์เพรส” (MVP Service Express) ตั้งแต่เดือนเมษายน และได้รับผลตอบรับดีมาก ในส่วนของเอ็มวีพี เซอร์วิสฯ ได้เพิ่มบริการซ่อมเครื่อง, เปลี่ยนแบตเตอรี่ และติดฟิล์มกันรอย โดยมีเป้าขยายเพิ่มเป็น 100 จุด และยอดผู้ใช้บริการเฉลี่ย 5,000 เครื่องต่อเดือน

ขณะเดียวกัน มีดีมานด์จากธุรกิจที่พักในแหล่งท่องเที่ยวทั้งพื้นที่ภูเขา-ทะเล เพื่อนำรถบ้านไปใช้เป็นห้องพักเนื่องจากตอบโจทย์การเว้นระยะห่างสำหรับลูกค้ากลุ่มเล็ก แต่สามารถเคลื่อนย้ายมาจอดใกล้กันในกรณีต้องรับรองลูกค้ากลุ่มใหญ่ได้ โดยบริษัทเล็งเจาะกลุ่มผู้ประกอบการท่องเที่ยวชายทะเลเพิ่ม เพื่อเสริมพอร์ตที่ปัจจุบันมีลูกค้าเป็นแนวภูเขา เช่น สวนละไม จังหวัดระยอง, บ้านนากาแฟ จังหวัดราชบุรี, Empreo จังหวัดเชียงใหม่ เป็นต้น

“ธุรกิจรถบ้าน มีความท้าทายด้านการบริหารจัดการคล้ายธุรกิจอสังหาฯ-โรงแรม แต่ยังมีคู่แข่งน้อยกว่ากันมาก ส่วนใหญ่เป็นรายเล็กมีรถเพียงหลักสิบคัน บริษัทซึ่งมีรถ 200 คัน รวมถึงมีทีมเซอร์วิสที่ต่อยอดมาจากธุรกิจอีเวนต์และเว็บไซต์สำหรับจองที่พักจึงได้เปรียบ”

รวมถึงเตรียมเปิดตัวธุรกิจโซลูชั่นด้านจักรยานยนต์ไฟฟ้า เช่น ขาย ให้เช่า และอื่น ๆ ที่จับมือกับพันธมิตร อาทิ บุญเติม ในฐานะผู้สร้างจุดชาร์จไฟ และดีแทค ซึ่งพัฒนาแพลตฟอร์มบนมือถือมาตั้งแต่เมื่อ 2 ปีก่อนอีกด้วย

ส่วนธุรกิจอีเวนต์ที่เป็นรายได้หลักนั้น ได้ปรับรูปแบบงานไทยแลนด์ โมบาย เอ็กซ์โป หลายด้านเพื่อให้สอดรับกับมาตรการเว้นระยะห่าง เช่น ขยายความกว้างของทางเดินเป็น 2 เมตร และชดเชยด้วยการลดขนาดบูทลงเพื่อให้ได้จำนวนเท่าเดิม ให้ผู้ร่วมงานลงทะเบียนล่วงหน้า และเข้างานเป็นรอบ ๆ เพื่อลดความหนาแน่นภายในพื้นที่จัดงาน รวมถึงศึกษาการจัดงานแบบไฮบริด โดยถ่ายทอดบนออนไลน์ พร้อมกิจกรรมพิเศษซึ่งจะมีการเปิดเผยรายละเอียดเร็ว ๆ นี้ ทั้งนี้ ยังต้องจับตานโยบายของรัฐบาลอย่างใกล้ชิด เพื่อปรับแผนให้สอดรับกับมาตรการที่จะออกมา

อย่างไรก็ตาม ยังไม่สามารถคาดการณ์หรือตั้งเป้ารายได้ในปีนี้ได้ เนื่องจากต้องประเมินสถานการณ์ในช่วงไตรมาส 3 ซึ่งน่าจะมีความเปลี่ยนแปลงสูงก่อน ส่วนช่วงไตรมาสแรกบริษัทมีรายได้รวม 69.8 ล้านบาท ลดลง 26.6 ล้านบาท เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ส่วนกำไรขั้นต้นอยู่ที่ 21.6 ล้านบาท ลดลง 3.1 ล้านบาท โดยเป็นผลจากการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้รายได้จากการจัดงานลดลง 9.4 ล้านบาท หรือ 12.7% เช่นเดียวกับกำไรขั้นต้นที่ลดลง 4.3 ล้านบาท หรือ 18.6% ส่วนธุรกิจโฆษณาและเอเยนซี่แม้รายได้ลดลง 15.3 ล้านบาทหรือ 78% แต่กำไรขั้นต้นเพิ่มขึ้น 1.4 ล้านบาท หรือ 82.6% เนื่องจากรับงานที่มีอัตรากำไรสูงกว่าปีที่แล้ว