ญี่ปุ่นปั้น ‘คอนเสิร์ตออนไลน์’ หวังสร้างเม็ดเงินหนุนวงการสู้โควิด

คอลัมน์ Market Move

หวังสร้างเม็ดเงินหนุนวงการสู้โควิด ที่ผ่านมาวงการดนตรีทั่วโลกมักมองว่าการไลฟ์สดคอนเสิร์ตนั้นไม่สามารถเป็นไปได้ เนื่องจากข้อจำกัดหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นบรรยากาศ และประสบการณ์ที่ผู้ชมได้รับ ซึ่งแตกต่างจากการชมในฮอลล์มาก ไปจนถึงศักยภาพการสร้างรายได้ที่ยังน้อยกว่าการขายบัตรเข้าชม และของที่ระลึกหน้างานอยู่หลายเท่า

อย่างไรก็ตาม การระบาดของโรคโควิด-19 บังคับให้มุมมองต่อแนวคิดนี้เปลี่ยนแปลงไป โดยในประเทศญี่ปุ่น บริษัทที่เกี่ยวข้องกับวงการดนตรีสื่อสารและไอที อาทิ ตัวแทนจำหน่ายบัตรเข้าชมการแสดง บริษัทสื่อสารแพลตฟอร์มไลฟ์สตรีมมิ่ง ต่างพยายามผลักดันเพื่อแจ้งเกิดการไลฟ์สดคอนเสิร์ตให้ได้

สำนักข่าวนิกเคอิ เอเชียน รีวิว รายงานว่าขณะนี้แม้รัฐบาลญี่ปุ่นจะยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉินไปแล้ว ตั้งแต่วันที่25 พฤษภาคม แต่ก็ยังขอร้องให้ผู้จัดคอนเสิร์ต และงานแสดงสดระงับการจัดงานต่อไปก่อนหลังจากที่มีคำขอให้งดจัดมาตั้งแต่วันที่ 26 กุมภาพันธ์ส่งผลให้ตามข้อมูลของบริษัทวิจัยเพียระบุว่า ช่วง มี.ค.-พ.ค. มีคอนเสิร์ตถูกยกเลิกไปกว่า 1.5 แสนงาน คิดเป็นมูลค่าความเสียหายถึง 3.3 แสนล้านเยน

สถานการณ์นี้บีบให้ผู้เกี่ยวข้องในวงการทั้งระดับบริษัทใหญ่ไปจนถึงศิลปินอิสระ หันไปหาการจัดงานบนออนไลน์ หวังสร้างรายได้ทดแทน โดยต่างพยายามหาทางแก้โจทย์ด้านบรรยากาศและศักยภาพการสร้างรายได้ เนื่องจากที่ผ่านมา งานคอนเสิร์ตและการขายของที่ระลึกถือเป็นรายได้หลักที่มาหล่อเลี้ยงวงการ แทนเม็ดเงินจากการขายแผ่นซีดีซึ่งลดลงอย่างต่อเนื่อง

ตามข้อมูลของสมาคมผู้จัดคอนเสิร์ตและการแสดงสดของญี่ปุ่นระบุว่า เมื่อปี 2561 คอนเสิร์ตสร้างเม็ดเงินมากถึง 3.45 แสนล้านเยน เพิ่มเกือบ 3 เท่าจากปี 2553 ที่มีมูลค่า 1.28 แสนล้านเยน

แต่คอนเสิร์ตออนไลน์นั้น ผู้ชมมีแนวโน้มจะยอมจ่ายค่าเข้าชมในระดับต่ำกว่าการแสดงในสถานที่จริงอยู่มาก ทำให้คอนเสิร์ตออนไลน์หลายงาน แม้จะได้ผลตอบรับที่ดี อาทิ งานคอนเสิร์ตดนตรีคลาสสิกแบบเข้าชมฟรีที่จัดบนแพลตฟอร์มวิดีโอ “นิโคะนิโคะ” (Niconico) ซึ่งมีผู้เข้าชมมากถึง2 แสนคนนั้น หากมีการเก็บค่าเข้าชมอาจได้เม็ดเงินไม่มากนัก

“ยูจิ มาเอดะ” ผู้ก่อตั้งโชว์รูมสตาร์ตอัพผู้ให้บริการแพลตฟอร์มไลฟ์สดดนตรี อธิบายว่า ผู้ชมคอนเสิร์ตออนไลน์ส่วนใหญ่จะยอมจ่ายค่าเข้าชมเพียงเฉลี่ยไม่เกิน 1,000 เยน หรือประมาณ 290 บาทเท่านั้น ต่ำกว่าค่าบัตรคอนเสิร์ตออฟไลน์ที่ราคาประมาณหมื่นเยนหลายเท่า จึงต้องหาวิธีจูงใจให้ผู้ชมยอมจ่ายแพงขึ้น

สำหรับบริษัทใช้วิธีเพิ่มฟังก์ชั่นที่ไม่มีในการแสดงสดแบบออฟไลน์ เช่น ให้ผู้ชมสามารถสื่อสาร โต้ตอบกับศิลปินที่จัดงานได้ เป็นต้น พร้อมพัฒนาโมเดลสร้างรายได้แบบอื่น ๆ เพิ่มเติม

“เชื่อว่าหากผู้จัดมีจุดขายที่เหมาะสมผู้ชมพร้อมลงทุนมากขึ้น เห็นได้จากความสำเร็จของคอนเสิร์ต BTS ที่จัดโดย “นาเวอร์” (Naver) เมื่อเดือนเมษายน ซึ่งตั้งค่าเข้าชมสูงถึง 30 เหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 930 บาท แต่ยังมีผู้ชมมากถึง 7.5 หมื่นคน”

ไปในทิศทางเดียวกับ “ยูนิทีฟ” แพลตฟอร์มไลฟ์สดอีกราย ซึ่งมีศิลปินใช้งานประมาณ 100 ราย มีจุดขายเป็นการให้ศิลปินสามารถกำหนดค่าเข้าชมการแสดงของตนได้เอง โดยจะอยู่ระหว่าง 396-1,628 เยน หรือประมาณ 115-472 บาท ส่วนบริษัทเก็บค่ารายเดือนจากศิลปินจำนวน 500 เยน

นอกจากนี้ เมื่อเดือนพฤษภาคมยังมีความพยายามของกลุ่มธุรกิจที่รวมตัวกันผลักดันคอนเสิร์ตออนไลน์อีกด้วย โดย “เคดีดีไอ” (KDDI) ยักษ์วงการสื่อสารของญี่ปุ่น ได้จับมือกับ “เพีย คอร์ปอเรชั่น” (Pia Corporation) ตัวแทนจำหน่ายบัตรเข้าชมการแสดง, แพลตฟอร์มไลฟ์สตรีมมิ่ง “โชว์รูม” (Showroom) และบริษัทอื่น ๆในวงการดนตรีอีก 3 บริษัท เพื่อจัดงานคอนเสิร์ตออนไลน์ รวมถึงสนับสนุนให้ศิลปินจัดการแสดงสดผ่านไลฟ์สตรีมพร้อมหากลยุทธ์หนุนให้สามารถมีรายได้จากช่องทางนี้สูงขึ้น

จากนี้ไปต้องรอดูว่า วงการดนตรีของญี่ปุ่นจะใช้กลยุทธ์อะไร จูงใจบรรดาผู้ชมให้ยอมควักกระเป๋าจ่ายค่าชมคอนเสิร์ตออนไลน์สูงขึ้น และปั้นโมเดลคอนเสิร์ตออนไลน์ให้สามารถประสบความสำเร็จได้