ปลดล็อกแล้ว… แต่ในแง่ธุรกิจเป็นไปไม่ได้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันศุกร์ที่ผ่านมา ทางศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.มีมาตรการคลายล็อกเฟส 4 ผ่อนคลายให้ดำเนินกิจการ หรือทำกิจกรรม อาทิ การจัดการประชุม อบรม การสัมมนา การจัดนิทรรศการ การจัดแสดงสินค้า การจัดเลี้ยง งานพิธี การแสดง นาฏศิลป์ ดนตรี คอนเสิร์ต หรือการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ที่จัดขึ้นในโรงแรม โรงมหรสพ ห้องประชุม ศูนย์ประชุม ศูนย์แสดงสินค้า โรงภาพยนตร์ ให้สามารถดำเนินการได้

แต่มีเงื่อนไขก็คือ ให้เว้นระยะนั่งหรือยืนในพื้นที่โดยรอบอย่างน้อย 1 เมตร และให้ควบคุมจำนวนผู้ร่วมกิจกรรมไม่ให้แออัด โดยการประชุม อบรม สัมมนา จัดนิทรรศการ จัดแสดงสินค้า ต้องเว้นระยะไม่น้อยกว่า 4 ตร.ม.ต่อคน ส่วนงานดนตรี คอนเสิร์ต 5 ตร.ม.ต่อคน และต้องมีมาตรการควบคุมทางเข้า-ออก จัดระบบคิวตามรอบงาน ลงทะเบียนก่อนเข้าและออกจากสถานที่ และมีมาตรการเสริม คือ อาจต้องพิจารณาจัดที่นั่งให้มีระยะห่างในลักษณะ 2 ที่นั่งเว้น 1 ที่นั่ง เฉพาะในสถานที่ที่มีการระบายอากาศที่ดี ส่วนพื้นที่การรอเข้างาน หรือรอคิว ก็ต้องจัดให้มีที่นั่งหรือยืนห่างกันอย่างน้อย 1 เมตร

ในขณะที่เสียงสะท้อนจากแหล่งข่าวระดับสูงในวงการอีเวนต์ มองว่า การผ่อนปรนมาตรการต่าง ๆ ภายใต้ข้อจำกัด ระยะนั่ง-ยืน 5 ตารางเมตรต่อคน เพื่อลดความหนาแน่นนั้น ในแง่ธุรกิจนั้นเป็นไปไม่ได้ เนื่องจากการจัดงานแต่ละครั้ง มีค่าใช้จ่ายสูงมาก เพราะต้องลงทุนเช่าสถานที่ สร้างเวที แสงสีเสียง ถือว่าไม่คุ้มกับรายได้ที่จะต้องได้จากจำนวนคนที่เข้ามาดู

“สถานที่จัดงานต่าง ๆ เมื่อเจอมาตรการและข้อจำกัดนี้ เช่น อิมแพ็ค เมืองทองธานี จากเดิมสามารถจุคนดูได้ประมาณ 15,000 คน ลดเหลือแค่ 4,000-5,000 พันคน ในจำนวนนี้คือ รวมทีมงาน เจ้าหน้าที่เอ็กซิบิเตอร์ ออร์แกไนซ์ พริตตี้ แล้วจำนวนคนดูจะเหลือเท่าไหร่ หรือแม้แต่รอยัลพารากอนฮอลล์จากที่เคยจุคนได้ 4,000-5,000 คนต่อหนึ่งฮอลล์ ลดเหลือ 300-400 คน ผู้จัดและสปอนเซอร์คงถอนตัวไปแล้ว เพราะไม่คุ้มกับต้นทุน”

โดยขณะนี้ ค่ายอีเวนต์รายเล็ก-รายใหญ่ พยายามดิ้นรนหาทางออก ปรับตัวจัดอีเวนต์และคอนเสิร์ตในรูปแบบไฮบริดอีเวนต์ แม้จะไม่คุ้ม แต่ก็ต้องทำเพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ส่วนการจัดคอนเสิร์ต แต่ละค่ายจะไลฟ์สตรีมมิ่งผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ มีทั้งให้รับชมฟรีเพราะมีสปอนเซอร์ ตลอดจนการขายบัตรเข้ารับชมราคาเริ่มตั้งแต่ 400-500 บาท แต่ก็ถือว่ารายได้ยังน้อยเพราะแพลตฟอร์มต่าง ๆ จำกัดจำนวนคนเข้าชม เช่น แอปพลิเคชั่นซูม จะจุคนดูได้เพียง 1,000 คนนั้นคือสิ่งที่เกิดขึ้นกับวงการธุรกิจอีเวนต์ในตอนนี้


แหล่งข่าวในวงการอีเวนต์อีกราย ระบุไปในทิศทางเดียวกันว่า บริษัทต้องเจอกับต้นทุนการจัดงานที่สูงขึ้น เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมด้านการจัดการ เช่น การทำความสะอาดที่ถี่ขึ้น การรักษาความปลอดภัย เจ้าหน้าที่แพทย์ และอื่น ๆ ส่วนต้นทุนคงที่ เช่น ค่าเช่าสถานที่ ฯลฯ แต่ไม่สามารถใช้พื้นที่เช่าได้เท่าเดิม เช่น จำนวนพื้นที่ทั้งหมด 2 หมื่น ตร.ม. แต่ด้วยมาตรการเว้นระยะห่างของบูทและทางเดิน ทำให้พื้นที่เช่าลดลงไปประมาณ 20-30%