หนุ่มเมืองจันท์ : เป็นได้ทุกอย่าง

บทความ โดย หนุ่มเมืองจันท์
คอลัมน์ Market-think
โดย สรกล อดุลยานนท์

คัมภีร์ธุรกิจหนึ่งที่ยึดถือกันมานาน คือ ทำธุรกิจอะไรก็ตามต้องกระจายความเสี่ยง

อย่าเอาไข่ทั้งหมดใส่ตะกร้าใบเดียว

เพราะถ้าตะกร้าตกเมื่อไร ไข่จะแตกหมด

…ไม่เหลืออะไรเลย

วันนี้คำสอนดังกล่าวยิ่งชัดเจนขึ้น เพราะใครก็ตามที่ทำธุรกิจอย่างเดียวและธุรกิจนั้นได้รับผลกระทบจาก “โควิด”

ยอดขายเป็น 0 สัก 1-2 เดือน

เรียบร้อยเลยครับ

และทุกครั้งที่เกิดวิกฤติ เราจะได้บทเรียนทุกครั้ง

ครั้งนี้ก็เช่นกัน

ไม่แปลกที่หลายบริษัทเริ่มคิดใหม่

ตั้งคำถามกับตัวเองว่าทำไมต้องขายของอย่างเดียว

วันนี้เราจึงเห็นองค์กรรุ่นใหม่ปรับตัวครั้งใหญ่

“เพนกวิน อีท ชาบู” ที่ฝ่าวิกฤติได้จากการคิดนอกกรอบ

ร้านอาหารทั่วไปขายหน้าร้านไม่ได้ ก็ยังขายดีลิเวอรี่ได้

แต่ “ชาบู” เป็น “อาหาร” ที่ขายเป็นแบบข้าวกล่อง หรืออาหารตามสั่งไม่ได้

จะสั่งเนื้อ ผัก น้ำจิ้ม ไปก็ยังกินไม่ได้

เพราะต้องมีอุปกรณ์ “หม้อชาบู”

วิธีการแก้ปัญหาของเขาก็คือ การขายชาบู พร้อมหม้อ

ถ้าเป็นช่วงเวลาปกติคงไม่กล้าคิด เพราะราคาหม้อแพงกว่าราคาอาหาร

แต่บังเอิญเขาเจอผู้ผลิตหม้อชาบู

รายหนึ่งที่มีปัญหาขายของเข้าโมเดิร์นเทรดไม่ได้

สมการใหม่ทางการตลาดจึงเกิดขึ้น

ปัญหา+ปัญหา = โอกาส

“เพนกวิน อีท ชาบู” จึงกลายเป็นกรณีศึกษาทางธุรกิจในช่วงโควิด

เขาขายหม้อพร้อมชาบู ได้ 5,000 ใบ

พอเริ่มเปิดร้านได้ วิธีคิดของเขาก็เปลี่ยนไปแล้ว

เขาพบว่าแฟนเพจของ “เพนกวิน อีท ชาบู” เป็นผู้หญิง 5 แสนคน

แคมเปญการตลาดจึงแหวกแนว เช่น ขายชาบูแถม “โบท็อกซ์”

เอาสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกันมาเชื่อมโยงกัน

เจาะกลุ่มเป้าหมาย “ผู้หญิง”

จากนั้นก็ตกผลึกความคิดว่า “เพนกวิน อีท ชาบู” ถ้าทำแค่ร้าน “ชาบู” ก็จะเป็นแค่ร้านชาบู

เราเป็นอะไรได้มากกว่านั้น

เช่นเดียวกับ “คลาส คาเฟ่” ที่ผมเคยเขียนถึง

เขาก็คิดแบบเดียวกัน

จากเดิมที่ขายกาแฟที่หน้าร้าน พอเข้าสู่ช่วงโควิด เขารู้แล้วว่าลายสวย ๆบนแก้วลาเต้ คนไม่สนใจ

ยุทธศาสตร์การขายเปลี่ยนไป

จากการขาย “หน้าร้าน” เป็นการยึด “ตู้เย็น”

เพราะคนซื้อของตุน

สินค้าของร้านเริ่มเปลี่ยนไปเป็นน้ำส้มขวด กาแฟขวด ขนมปังขนาดใหญ่ ฯลฯ

แต่ที่ก้าวกระโดดมากในวันนี้ก็คือ การขายสินค้าที่ไม่เกี่ยวอะไรกับอาหารและกาแฟเลย

วิธีคิดของเขาน่าสนใจมาก

ขั้นที่ 1 “ถ้าเราขายกาแฟได้ เราก็ขายหม้อหุงข้าวได้”

ขั้นที่ 2 “ถ้าเราขายหม้อข้าวได้ เราก็ขายลู่วิ่งเป็นหมื่นได้”

ขั้นที่ 3 “ถ้าเราขายลู่วิ่งหลายหมื่น

ได้ เราก็ขายรถมอเตอร์ไซค์ได้”

ครับ ตอนนี้เขา live ขายหม้อหุงข้าว ลู่วิ่ง ของ Xiaomi

ขายได้ด้วย

ความเชื่อของเขาก็คือ “ทำแบบเดิมย่อมได้ผลลัพท์แบบเดิม… ทำสิ่งใหม่อาจจะเจอเรื่องใหม่ที่เลยเถิด”

ยอมรับว่า “เลยเถิด” จริง ๆ

เกินจินตนาการไปไกลมาก

ผมเชื่อว่าตอนนี้ “กรอบความคิด” เรื่อง “แบรนด์” ของแต่ละคนเปลี่ยนไปแล้ว

“กรอบ” เริ่มไม่มี “เส้น” ที่ชัดเจน

แต่เป็นพื้นที่ว่าง ๆ ประมาณนี้

มีอากาศให้จินตนาการได้หายใจมากขึ้น

“โควิด” สอนให้คนที่ทำธุรกิจรู้ว่า “แบรนด์” ที่แข็งแรงจะมีพลัง

ขายของได้ง่าย

แต่ในขณะเดียวกัน “โควิด” ก็ให้บทเรียนที่สำคัญกว่า

คือ “ยอดขาย” สำคัญที่สุด

“แบรนด์” ก็สำคัญ

แต่ “ยอดขาย” สำคัญกว่า