เว้นระยะห่างหนุนคนแห่ปั่น ดันดีมานด์ “จักรยาน” พุ่ง

คอลัมน์ Market Move

หลังซบเซามาหลายปี ล่าสุดขณะนี้กระแสปั่นจักรยานกำลังกลับมาอีกครั้ง

โดยดีมานด์จักรยานแบบต่าง ๆไม่ว่าจะเป็นจักรยานผู้ใหญ่ จักรยานเด็ก จักรยานไฟฟ้าไปจนถึงจักรยานออกกำลังกำลังพุ่งสูงขึ้นแบบก้าวกระโดด เมื่อผู้คนทั่วโลกหันมาใช้การปั่นจักรยานเป็นตัวเลือกหลักในการเดินทาง เนื่องจากสามารถตอบโจทย์การเว้นระยะห่างทางสังคมในระบบขนส่งสาธารณะ และการแย่งชิงที่จอดรถในออฟฟิศ รวมไปจนถึงเป็นอุปกรณ์ออกกำลังกาย และกิจกรรมสันทนาการของเด็ก ๆ ในช่วงล็อกดาวน์

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานถึงการคืนชีพของกระแสนิยมจักรยานในครั้งนี้ว่า มาตรการล็อกดาวน์และนิวนอร์มอลช่วยปลุกกระแสปั่นจักรยานขึ้นมาอีกครั้งในหลายภูมิภาคทั่วโลกทั้งอเมริกาเหนือ ยุโรป และจีน โดยบริษัทวิจัยเอ็นพีดีระบุว่ายอดขายเฉลี่ยของจักรยานและจักรยานออกกำลังในประเทศย่านมหาสมุทรแอตแลนติกเพิ่มขึ้น 66% ในเดือนมีนาคม ส่วนจักรยานไฟฟ้าเพิ่มขึ้น 85%

โดยในจีนดีมานด์จักรยานเด็กพุ่งสูงจนสินค้าขาดตลาดหลายพื้นที่ เนื่องจากบรรดาผู้ปกครองต่างมาซื้อเพื่อให้ลูกหลานใช้ออกกำลังกายในช่วงเรียนออนไลน์ และการเว้นระยะห่างทางสังคม โดย “ซู ปิง” หนึ่งในคุณแม่ชาวปักกิ่ง กล่าวว่า การเรียนออนไลน์ทำให้ลูก ๆ รู้สึกเบื่อ และยังไม่ได้ออกกำลังกายจนอาจส่งผลเสียกับสุขภาพ แต่มาตรการเว้นระยะห่างทำให้ไม่สามารถใช้สนามเด็กเล่นได้ จึงต้องพึ่งจักรยานเพื่อให้ลูกขี่ออกกำลังกาย รวมถึงไปเที่ยวในสวนสาธารณะโดยไม่ต้องเสี่ยงใช้ขนส่งสาธารณะ

เช่นเดียวกับบรรดาพนักงานออฟฟิศ ที่เริ่มหาซื้อจักรยานสำหรับปั่นไปทำงาน เพื่อเลี่ยงความแออัดของขนส่งมวลชน รวมถึงรับมือกับมาตรการของบริษัทต่าง ๆที่จำกัดจำนวนรถยนต์ในที่จอดรถ

“เย่ ยีหมิง” ประธานของฟอเรฟเวอร์ไบซีเคิล หนึ่งในแบรนด์จักรยานสัญชาติจีน เปิดเผยว่า ยอดขายและกำไรช่วงมกราคม-พฤษภาคมสูงกว่าปีที่แล้วถึง 30% หลัง 5 เดือนบริษัทขายจักรยานไปแล้วกว่า 1.5 ล้านคัน โดย 1 ใน 5 ของยอดขายเป็นจักรยานเด็ก

สอดคล้องกับข้อมูลจากแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซ เถาเป่า ที่ระบุว่า ร้านจักรยานแต่ละร้านบนแพลตฟอร์มขายจักรยานเด็กได้เฉลี่ย 8,000 คันต่อเดือน

อย่างไรก็ตาม โรงงานหลายแห่งยังไม่สามารถเดินสายการผลิตได้เต็ม 100% เนื่องจากผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้สินค้าขาดตลาด

ส่วนในประเทศอังกฤษ สาธารณรัฐไอร์แลนด์เหนือ จักรยานไฟฟ้ากำลังได้รับความนิยมสูงเป็นประวัติการณ์ หลังรัฐบาลท้องถิ่นปรับแก้กฎหมายใหม่ทำให้การใช้งานจักรยานไฟฟ้าง่ายขึ้นมาก ไม่ว่าจะเป็นไม่ต้องขอป้ายทะเบียน ไม่ต้องมีใบขับขี่ รวมถึงยกเว้นภาษีและการทำประกันอุบัติเหตุ จนชาวไอริชพากันไปหาซื้อจักรยานไฟฟ้ามาใช้กันอย่างคึกคัก จนภาพการต่อคิวหน้าร้านจักรยานกลายเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ทั่วไป

“พอล เคน” เจ้าของร้านรถจักรยานเดฟ เคน ไซเคิล ในกรุงเบลฟาสต์ กล่าวว่า หลังรัฐบาลแก้กฎหมายเมื่อกลางเดือนพฤษภาฯ ออร์เดอร์ก็หลั่งไหลเข้ามาทันที เพราะผู้คนต้องการตัวเลือกทดแทนขนส่งมวลชน เนื่องจากความกังวลเรื่องโรคระบาด นอกจากนี้หลายคนมองว่าการปั่นจักรยานยังช่วยเสริมสุขภาพอีกด้วย โดยลูกค้าบางรายใช้งานถึง 1,000 ไมล์ในช่วง 3 สัปดาห์

“ก่อนแก้กฎหมาย การใช้จักรยานไฟฟ้าในไอร์แลนด์เหนือโดยไม่มีใบขับขี่อาจถูกปรับสูงถึง 1,000 ปอนด์เลยทีเดียวทำให้พาหนะนี้ไม่ได้รับความนิยมนัก แม้ผู้คนในเมืองอย่างเบลฟาสต์จะเดินทางเฉลี่ยเพียงวันละ 2 ไมล์เท่านั้น”

ขณะเดียวกัน จักรยานเด็กมีดีมานด์สูงไม่แพ้ในจีน โดยซัพพลายเออร์เกือบทั้งหมดในอังกฤษสินค้าขาดจนถึงช่วงกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา

ด้านแคนาดา ดีมานด์จักรยานสูงจนแม้แต่ตลาดมือ 2 ยังร้อนแรง โดยร้านจักรยานมือ 2 มีลูกค้ามาเข้าคิวรอซื้อยาวเหยียด เนื่องจากจักรยานขาดตลาดหลังโรงงานในจีนได้รับผลกระทบจากโรคระบาด เช่นเดียวกับเซ็กเมนต์อะไหล่จักรยานที่สินค้าขาดตลาดด้วยเช่นกัน

จากกระแสที่เกิดขึ้น ทำให้ธุรกิจซ่อมจักรยานมีดีมานด์สูงตามไปด้วย “อดัม โคราคิส” เจ้าของร้านซ่อมจักรยานวีโรฟิกส์ กล่าวว่า แม้ร้านจะมีหน่วยซ่อมนอกสถานที่ 3 กลุ่มทำงาน 7 วันต่อสัปดาห์ แต่ตอนนี้ลูกค้าต้องรอคิวซ่อมนานระดับเดือนแล้ว และยังต้องพึ่งอะไหล่มือ 2 จากจักรยานเก่ามาใช้ซ่อมให้ลูกค้าชั่วคราวไปก่อน

ปรากฏการณ์นี้ถือเป็นโอกาสรอบใหม่สำหรับตลาดจักรยานที่ชะลอตัวมานานโดยเฉพาะหากการปั่นสามารถกลายเป็นนิวนอร์มอลได้