“เทเลเมดีซีน” อินโดฯฮิต ขยาดโควิดแห่ปรึกษาออนไลน์

คอลัมน์ Market Move

ช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา บริการเทเลเมดิซีนในอินโดนีเซียกำลังได้รับความนิยมแบบก้าวกระโดด หลังการระบาดของโรคโควิด-19 หนุนให้บริการนี้กลายเป็นตัวเลือกหลักของทั้งชาวอินโดนีเซีย รวมถึงรัฐบาลที่หนุนให้ผู้คนใช้เทเลเมดิซีนเพื่อเลี่ยงการแพร่ระบาดในวงกว้าง จากความแออัดในโรงพยาบาลโดยตามข้อมูลขององค์การอนามัยโลก (WHO) ในปี 2560 อินโดนีเซียมีแพทย์เพียง 4 คนและเตียงในโรงพยาบาล 12 เตียงต่อประชากร 10,000 คน

สำนักข่าว “แชนเนล นิวส์ เอเชีย” รายงานว่า ผู้ให้บริการเทเลเมดิซีน 12 รายในอินโดนีเซีย ได้ผนึกกำลังกับรัฐบาลเพื่อรับมือกับการระบาดของโรคโควิด-19 จนทำให้จำนวนผู้ใช้งานบริการนี้พุ่งสูงขึ้นแบบก้าวกระโดด โดยนับตั้งแต่พบผู้ป่วยโรคโควิด-19 ในอินโดนีเซียเมื่อวันที่ 2 มีนาคม แพลตฟอร์มเทเลเมดิซีนหลายเจ้าถูกถล่มด้วยผู้ใช้งานที่มากกว่าปกตินับล้านรายต่อวัน จนต้องรีบปรับตัวรับมือ

หนึ่งในนั้นคือ “ฮาโลด็อก” (Halodoc) ซึ่งช่วงเดือนมีนาคม-พฤษภาคม จำนวนผู้ใช้งานต่อเดือนเพิ่มจาก 7 ล้านคน เป็น 22 ล้านคน ส่วนยอดดาวน์โหลดแอปเพิ่มขึ้น 3 เท่าตัว ช่วยให้รายได้ซึ่งมาจากค่าใช้บริการสูงสุด 3 หมื่นรูเปียห์ต่อครั้งหรือประมาณ 65 บาท และส่วนแบ่งจากการสั่งยา ตรวจแล็บและการส่งต่อผู้ป่วยเพิ่มขึ้น 7 เท่าตามไปด้วย

“โจนาธาน สุดฮาทา” ซีอีโอของฮาโลด็อกเล่าว่า ช่วงแรกบริษัทต้องระดมทีมงานมาพัฒนาฟังก์ชั่นเกี่ยวกับโควิดแบบด่วนพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นแชตบอต บริการคำถามที่พบบ่อย (FAQ) และอื่น ๆ เพื่อรักษาการทำงานของแพลตฟอร์ม เพราะมีผู้ใช้เข้ามาถามคำถามคล้าย ๆ กันเป็นจำนวนมาก จึงต้องพึ่งระบบอัตโนมัติในการคัดกรอง และจัดทีมแพทย์ 600 คนมารองรับผู้ป่วยด้านนี้เพื่อแบ่งเบาภาระของแพทย์ในสังกัดที่มีอยู่ประมาณ2.2 หมื่นคน ไปในทิศทางเดียวกับ “อโลด็อกเตอร์” (Alodokter) ที่ระบุว่าผู้ใช้ต่อเดือนเพิ่มขึ้น 50% จาก 20 ล้านคนเป็น 30 ล้านคน รวมถึงมียอดขายแพ็กเกจประกันสุขภาพเพิ่มขึ้นด้วย

“นาธาเนียล ไฟบิส” ซีอีโอของอโลด็อกเตอร์ กล่าวว่า โควิด-19 ทำให้ผู้บริโภคกังวลด้านสุขภาพ แต่ก็ไม่มั่นใจในความปลอดภัยหากต้องไปโรงพยาบาล เทเลเมดิซีนจึงเป็นตัวเลือกหลักที่ตอบโจทย์ทั้ง 2 ข้อได้ บริษัทจึงจัดทีมแพทย์ประมาณ 1,000 คน สำหรับให้บริการตอบคำถามเกี่ยวกับโรคโควิด-19โดยเฉพาะแบบ 24 ชั่วโมง

“ผู้ป่วยที่ได้รับการยืนยันว่าเป็นโควิด-19 สามารถใช้บริการปรึกษาแพทย์บนแพลตฟอร์มของเราได้ฟรีไม่ว่าจะอยู่ส่วนไหนของประเทศ”

นอกจากความกังวลเรื่องโรคระบาดแล้ว ปรากฏการณ์นี้เป็นผลจากนโยบายของรัฐบาลอินโดฯ ที่ตัดสินใจหนุนให้ผู้คนใช้เทเลเมดิซีนแทนการไปโรงพยาบาล “อาเหม็ด ยูเรียนโต” โฆษณาของคณะทำงานด้านโควิด-19 ของอินโดนีเซีย อธิบายว่า นอกจากช่วยลดการเดินทางไปยังโรงพยาบาลหรือคลินิกแล้ว รัฐบาลยังเล็งใช้บริการนี้ช่วยกระจายข้อมูลสุขภาพ และแก้ข่าวลวง-ความเชื่อผิด ๆ เกี่ยวกับโรคระบาดอีกด้วย

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาเทเลเมดิซีนในอินโดนีเซียมีบริการที่ครบวงจรมากแห่งหนึ่ง โดยนอกจากการพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยโรค และจองโรงพยาบาลแล้ว ยังมีบริการดีลิเวอรี่ ส่งยาถึงบ้านผู้ป่วยได้ในไม่กี่นาทีอีกด้วย


หลังจากนี้มีแนวโน้มว่าวงการเทเลเมดิซีนในอินโดนีเซียจะสามารถรักษาโมเมนตัมการเติบโตนี้ให้ต่อเนื่องไปในระยะยาวได้ “โจนาธาน สุดฮาทา” ให้ความเห็นว่า การระบาดครั้งนี้ช่วยให้ผู้บริโภคได้ทดลองใช้บริการเป็นครั้งแรกซึ่งฟีดแบ็กเป็นไปในทางที่ดีโดยเฉพาะด้านความสะดวก ช่วยให้ความถี่ในการใช้งานเพิ่มขึ้น เช่น นอกจากแพทย์ทั่วไปแล้ว บางรายเริ่มใช้บริการแพทย์เฉพาะทางอย่างโรคผิวหนัง หรือโรคกระดูก