ซมพิษ ‘โควิด-เศรษฐกิจ’ เหล้า-เบียร์ บักโกรก ฟื้นยาก

ร้านอาหาร
จับกระแสตลาด

ถึงวันนี้แม้ว่าศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) จะคลายล็อกเฟส 4 ไฟเขียวให้ลูกค้านั่งดริงก์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหาร ภัตตาคารได้แล้ว และคาดว่าอีกไม่กี่วันก็จะถึงคิวการจะปลดล็อกเฟส 5 ให้สถานบันเทิงกลางคืน ผับ-บาร์ “ร้านเหล้า” กลับมาเปิดให้บริการได้อีกครั้งหนึ่ง หลังจากที่ต้องหยุดให้บริการมานาน 2-3 เดือนเลยทีเดียว

แต่ก็ดูเหมือนว่าจากสถานการณ์ที่เริ่มคลี่คลายมากขึ้นนี้ ยังไม่ช่วยให้ตลาด “เหล้า-เบียร์” ที่มีมูลค่าตลาดรวมมากกว่า 3 แสนล้านบาท ฟื้นตัวจากสภาพตลาดที่ชะลอตัวอย่างหนักขึ้นมาได้

“เบียร์” ทำใจตลาดหดตัว

แหล่งข่าวจากบริษัท สิงห์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายเบียร์รายใหญ่ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจากที่ ศบค.ปลดล็อกและอนุญาตให้ลูกค้าสามารถนั่งดื่มในร้านอาหาร สวนอาหาร ภัตตาคาร ได้ตั้งแต่กลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา พร้อม ๆ กับการยกเลิกเคอร์ฟิว ล่าสุดขณะนี้ตลาดเบียร์โดยรวมเริ่มค่อย ๆ ฟื้นตัวขึ้นมา และถัดไป หลังจาก ศบค.ปลดล็อกเฟส 5 อนุญาตให้สถานบันเทิงกลางคืน ผับบาร์ เปิดได้ อาจจะเป็นช่วงต้นเดือนกรกฎาคม คาดว่าแนวโน้มตลาดเบียร์ก็จะค่อย ๆ ดีขึ้นตามลำดับ และน่าจะช่วยให้ตัวเลขในเดือนมิถุนายนเริ่มดีดกลับขึ้นมาได้บ้าง

“แต่ก็น่าเสียดายเพิ่งกลับมาขายได้ 2-3 อาทิตย์ แต่อีกไม่กี่วันก็จะเริ่มเข้าสู่โลว์ซีซั่น ทั้งหน้าฝนและเทศกาลเข้าพรรษา (6 กรกฎาคม) ตัวเลขก็จะลดลงโดยปริยาย กว่าจะไปเริ่มขายได้อีกทีก็เป็นช่วงปลาย ๆ ตุลาคมเป็นต้นไป แต่ถึงตอนนั้นก็ยังไม่สามารถคาดเดาได้ว่าจะเป็นอย่างไร หากโควิด-19 กลับมาระบาดใหม่ ตลาดก็คงจะสะดุดอีก”

แหล่งข่าวกล่าวต่อไปว่า อย่างไรก็ตาม เท่ากับว่าปีนี้ทั้งปีระยะเวลาการขายหายไป 6-7 เดือน ในแง่ของตัวเลขยอดขายก็คงหายไปไม่น้อย ปีนี้ทั้งปีตัวเลขทุกค่ายน่าจะหายไปพอสมควร แต่คงไม่สามารถคาดหรือประเมินตัวเลขที่ชัดเจนได้ ทุกค่ายคงต่ำกว่าเป้าที่ตั้งไว้ตั้งแต่ต้นปีไม่ต่ำกว่า 30%

ขณะที่แหล่งข่าวจากวงการเบียร์อีกรายหนึ่งระบุว่า จริง ๆ แล้วในภาพรวมของตลาดเบียร์ ผู้ประกอบการทุกค่ายไม่ค่อยห่วงหรือกังวลเรื่องของกำลังซื้อ แต่สิ่งที่เป็นผลกระทบจากโควิด-19 คือ การไม่สามารถคาดการณ์และประเมินความต้องการของตลาดได้ ทำให้ที่ผ่านมาโรงเบียร์บางโรงต้องตัดสินใจหยุดการผลิต เพื่อลดค่าใช้จ่าย ลดต้นทุน เพราะหากผลิตออกมาก็จะต้องเสียภาษี แต่หากผลิตออกมาแล้วขายไม่ได้ก็จะเป็นภาระสต๊อก และที่สำคัญ เบียร์เป็นสินค้าที่มีอายุ

รายงานข่าวจากบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตและจำหน่ายเหล้าเบียร์รายใหญ่ ที่แจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์โดยระบุว่า ช่วงไตรมาส 2 ที่ผ่านมา (ม.ค.-มี.ค.) บริษัทได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลให้รายได้จากธุรกิจเหล้า-เบียร์ลดลง โดยธุรกิจเหล้ามีรายได้ 29,841 ล้านบาท ลดลง 3.9% ธุรกิจเบียร์ 23,653 ล้านบาท ลดลง 23.5%

“เหล้า” ยอดร่วง-เอาคืนไม่ได้

แหล่งข่าวจากวงการสุราเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงผลกระทบจากโควิด-19 ที่เกิดขึ้นว่า ส่งผลทำให้ตลาดเหล้าหดตัวอย่างรุนแรง โดยเฉพาะเหล้านอกที่ได้รับผลกระทบตั้งแต่ช่วง ๆ แรกที่เกิดการแพร่ระบาด และนักท่องเที่ยวต่างประเทศลดลง และถัดมาสถานบันเทิงที่เป็นตลาดใหญ่ของเหล้านอกต้องปิด โดยรวม ๆ แล้วตัวเลขหายไปไม่ต่ำกว่า 40% อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาแม้ทางการจะมีมาตรการผ่อนปรนเฟส 4 ออกมา โดยอนุญาตให้นั่งดื่มในร้านได้ แต่การปลดล็อกดังกล่าวมาพร้อม ๆ กับเป็นเงื่อนไขและข้อจำกัด ตลาดจึงไม่สามารถจะกลับมาเหมือนเดิมได้ และเป็นเพียงการเปิดให้ธุรกิจได้มีช่องหายใจมากกว่า

และถึงตอนนี้ตลาดเหล้ายังไม่ดีขึ้น และปัญหาเศรษฐกิจก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่กระทบ หรือแม้จะมีการปลดล็อกเฟส 5 ให้สถานบันเทิงกลางคืนกลับมาเปิดได้ แต่ก็ขายได้อีกไม่กี่วันก็จะเข้าช่วงโลว์ซีซั่น หน้าฝน-เข้าพรรษา กว่าจะกลับมาขายได้จริง ๆ ก็อีก 3 เดือน แต่จริง ๆ แล้วเมื่อถึงเวลานั้นก็ยังคาดการณ์ไม่ได้ว่าการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จะเป็นอย่างไร

“เวลาที่เหลืออยู่คงเอาคืนไม่ได้ อยู่ที่ว่าจะลดน้อยหรือมากเท่านั้น” แหล่งข่าวกล่าว

ตัวเลขภาษีสะท้อน “ขาลง”

แหล่งข่าวจากวงการเหล้าเบียร์ระบุว่า หากย้อนกลับไปดูรายงานผลการจัดเก็บภาษีเหล้า-เบียร์ของกรมสรรพสามิต ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2563 ที่ผ่านมาจะพบว่า ตัวเลขมีแนวโน้มที่ลดลงอย่างต่อเนื่องในทุกเดือน ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงยอดขายที่ลดลงในช่วงที่เกิดไวรัสโควิด-19 และทางการมีมาตรการต่าง ๆ ออกมาเพื่อลดการแพร่ระบาด

โดยในส่วนของภาษีเบียร์ล่าสุดเดือนพฤษภาคม จัดเก็บได้เพียง 28.73 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมาที่เคยจัดเก็บได้ถึง 7,086 ล้านบาท หรือลดลงถึง 99% จากเดือนเมษายน จัดเก็บได้เพียง 8,071 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมาที่จัดเก็บได้ 9,277 ล้านบาท หรือลดลง 13%

ขณะที่เดือนมีนาคม จัดเก็บได้ 7,691 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมาที่จัดเก็บได้ 6,709 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 14% ซึ่งเป็นผลพวงจากการเตรียมสต๊อกสินค้าไว้ขายในช่วงเดือนเมษายนที่เป็นหน้าขายสำคัญ ส่วนเดือนกุมภาพันธ์จัดเก็บได้ 6,159 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมาที่จัดเก็บได้ 6,362 ล้านบาท หรือลดลง 3% จากเดือนมกราคม 2563 จัดเก็บภาษีเบียร์ได้ 8,726 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมาที่จัดเก็บได้ 8,774 ล้านบาท หรือลดลง 48%

เช่นเดียวกับภาษีสุราที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน คือ เดือนพฤษภาคมจัดเก็บได้ 3,144 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมาที่เคยจัดเก็บได้ถึง 4,650 ล้านบาท หรือลดลงถึง 26.6% เดือนเมษายนจัดเก็บได้เพียง 1,491 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมาที่จัดเก็บได้ 4,743 ล้านบาท หรือลดลง 68.5% เดือนมีนาคมจัดเก็บได้ 5,923 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมา ที่จัดเก็บได้ 6,449 ล้านบาท หรือลดลง 8% จากก่อนหน้านี้เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ จัดเก็บได้ 5,225 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมาที่จัดเก็บได้ 5,623 ล้านบาท หรือลดลง 7% และเดือนมกราคม 2563 จัดเก็บได้ 6,324 ล้านบาท จากช่วงเดียวกันในปีที่ผ่านมาที่จัดเก็บได้ 6,982 ล้านบาท หรือลดลง 9.4%