บูมอีเวนต์-คอนเสิร์ตไฮบริด “บีอีซี-อินเด็กซ์”ปั้นแพลตฟอร์มใหม่ลุย

บิ๊กธุรกิจบันเทิง-อีเวนต์ พลิกเกมสู้ ! ดิ้นหนีข้อจำกัด พนึกกำลังพาร์ตเนอร์บูมงานอีเวนต์-คอนเสิร์ต ออนไลน์ ดีเดย์กลางเดือนกรกฎาคมนี้ “อินเด็กซ์” ลุยจัดคอนเสิร์ตไฮบริด สร้างสีสัน-ปลุกธุรกิจ ขณะที่ “บีอีซี-เทโร” ไม่น้อยหน้าปั้นแพลตฟอร์มมิวสิกสตรีมมิ่ง ด้านบริษัทผู้จัดงานแสดงสินค้า “อินฟอร์มาร์” งัดแพลตฟอร์มออนไลน์ ตอบโจทย์การชมสินค้า-เจรจาธุรกิจ “ไร้ท์แมน” ชี้ ดีมานด์เริ่มดีดกลับ

ปรากฏการณ์ของแวดวงเอ็นเตอร์เทนเมนต์และอีเวนต์ หลังจากที่รัฐบาลได้ปลดล็อกเฟส 4 ทำให้อุตสาหกรรมนี้กลับมาคึกคักและร้อนแรงขึ้นอีกครั้ง แม้จะมีข้อจำกัดด้านจำนวนคน ตามมาตรการรักษาระยะห่าง แต่ผู้ประกอบการก็ไม่รอให้โอกาสนี้หลุดลอยไป แม้จะรู้ดีว่าการจัดงานแต่ละครั้งมีต้นทุนจำนวนมหาศาล และด้วยจำนวนคนที่จำกัดเพียง 4-5 ตารางเมตรต่อ 1 คน ก็เรียกได้ว่า “ไม่คุ้ม” อย่างแรง

ดังนั้นภาพที่เกิดขึ้นคือการดิ้นไปสู่รูปแบบ หรือแพลตฟอร์มในช่องทางออนไลน์ ซึ่งมีแต้มต่ออย่างการเข้าถึงได้แบบไม่จำกัด ทั้งจำนวนคน เทคโนโลยี ความครีเอทีฟ เครื่องมือที่ใช้ ฯลฯ มาเป็นช่องทางหลักในการจัดงานกันมากขึ้น บางงานอาจเป็นออนไลน์ 100% บางงานมีทั้งออฟไลน์ และออนไลน์ผสมกัน

“อินเด็กซ์” ลุยคอนเสิร์ตไฮบริด

นายเกรียงไกร กาญจนะโภคิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้แม้ว่าศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (ศบค.) จะประกาศอนุญาตให้สามารถจัดคอนเสิร์ต อีเวนต์ การประชุมต่าง ๆ ได้แล้ว แต่การมีเงื่อนไข อาทิ การต้องเว้นระยะห่าง 4 เมตรต่อคน จะทำให้จำนวนผู้ร่วมงานลดลงมาก และทำให้ไม่คุ้มในเชิงธุรกิจโดยเฉพาะในเรื่องของต้นทุนการจัดงาน และไม่สามารถที่จะจัดอีเวนต์ด้วยโมเดลแบบเดิม ๆ ได้ ทำให้ผู้ประกอบการหลายรายต้องหันไปจัดงานที่เป็นในลักษณะของออนไลน์อีเวนต์มากขึ้น

อย่างไรก็ตาม การจัดงานในลักษณะนี้อาจจะไม่สามารถทดแทนการจัดงานทั้งหมดได้ โดยเฉพาะงานคอนเสิร์ต บริษัทจึงมีการพัฒนาโมเดลการจัดคอนเสิร์ตขึ้นมาใหม่เป็นแบบไฮบริด คือ มีโปรดักชั่นที่จัดเต็มทั้งงานคอนเสิร์ตเต็มรูปแบบในฮอลล์ และการถ่ายทอดผ่านออนไลน์ พร้อมบริการเสริมต่าง ๆ เพื่อสร้างความแตกต่าง ความเชื่อมั่น และจูงใจผู้ชมด้วยความคุ้มค่า เช่น ผู้ซื้อบัตรออนไลน์ราคา 900 บาท จะได้รับหูฟังเจบีแอลฟรี ส่วนออฟไลน์จะมีเลานจ์ทดแทนการเสิร์ฟอาหาร-เครื่องดื่ม

โดยงานแรกที่จะจัดชื่อ “เวทีคอนเสิร์ต คืนรอยยิ้ม” ที่ทรูไอคอนฮอลล์ ในวันที่ 18 กรกฎาคมนี้ ตามด้วยวันที่ 25 กรกฎาคม และ 1-2 สิงหาคม มีศิลปิน อาทิ เจ-เจตริน คริสติน่า อากีล่าร์ ราคาบัตร 600-6,000 บาท โดยมีแผนจัดต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปี ซึ่งหากประสบความสำเร็จจะนำไปต่อยอดกับอีเวนต์อื่น ๆ ในอนาคตด้วย

“การจัดงานดังกล่าวจะเป็นการจับมือพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญในแต่ละด้าน เพื่อมาเสริมซึ่งกันและกัน ไม่ว่าจะเป็น สถานที่ อุปกรณ์ ศิลปิน ประกอบด้วย ทรูไอคอนฮอลล์ มหาจักร โรงพยาบาลเทพธารินทร์ ฯลฯ แต่ในแง่รายได้อาจไม่สามารถเทียบกับงานช่วงก่อนโควิดได้ แต่เราจะเน้นในเรื่องของความถี่ในการจัดและจำนวนบัตรออนไลน์ที่ขายได้แบบไม่จำกัดเข้ามาช่วย”

“บีอีซี” ลุยไลฟ์สตรีมมิ่ง

นายเนล ทอมป์สัน รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท บีอีซี-เทโร เอ็นเตอร์เทนเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ระบุว่า บริษัทในฐานะผู้จัดคอนเสิร์ตได้ร่วมมือกับพาร์ตเนอร์อย่าง พีเอ็ม เซ็นเตอร์ ในเครือซีเอ็มโอกรุ๊ป ผู้ให้บริการระบบภาพ แสงและเสียงแบบครบวงจร และจู๊กซ์ (JOOX) แพลตฟอร์มมิวสิกสตรีมมิ่ง ในการจัดคอนเสิร์ตวิถีใหม่ ในรูปแบบไลฟ์สตรีมมิ่ง โดยนำร่องจัดซีรีส์คอนเสิร์ต “ซาวนด์บอกซ์ ออนไลน์” 3 งานแรก ได้แก่ Slot Machine, Max Jenmana และ Twopee Southside ซึ่งจะมีขึ้นในวันที่ 18, 24 และ 26 กรกฎาคม ที่จะถึงนี้ ผ่านโมบายแอปพลิเคชั่นของจู๊กซ์ เปิดจำหน่ายโค้ดการเข้าชมผ่าน www.thaiticketmajor.com ในราคา 499 บาท

คอนเสิร์ตดังกล่าวจะถ่ายทอดสัญญาณภาพด้วยความละเอียดระดับ HD และในอนาคตจะเพิ่มทางเลือกให้กับผู้ชม ทั้งไลฟ์สตรีมมิ่ง และไฮบริดที่ผสมผสานระหว่างการชมออนไลน์และเข้าชมในสถานที่จริง ภายใต้เงื่อนไขการรักษาความปลอดภัยด้านสาธารณสุข

“แม้ว่าโควิดจะทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป แต่ก็เป็นแค่การเปลี่ยนแปลงในช่วงระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น มนุษย์ยังต้องการเข้าสังคม สังสรรค์กับเพื่อน ฯลฯ สิ่งนี้จะไม่มีทางหายไป และจะไม่มีอะไรมาแทน live experience ได้ เมื่อเหตุการณ์เริ่มดีขึ้น หรือมีการคิดค้นวัคซีนสำเร็จ อุตสาหกรรมเอ็นเตอร์เทนเมนต์ก็จะกลับมาฟื้นตัวได้อย่างแน่นอน”

ปั้นแพลตฟอร์มตอบโจทย์

นางสาวรุ้งเพชร ชิตานุวัตร์ ผู้อำนวยการกลุ่มโครงการ และอีเวนต์ ภูมิภาคอาเซียน บริษัท อินฟอร์มาร์ มาร์เก็ต จำกัด ผู้จัดงานแสดงสินค้าสำหรับภาคธุรกิจ-อุตสาหกรรม กล่าวว่า ฝั่งงานอีเวนต์เทรดแฟร์สำหรับธุรกิจนั้น นอกจากประเด็นจำนวนผู้เข้างานแล้ว ยังมีความท้าทายในเรื่องของจำนวนผู้ร่วมงานจากต่างชาติและการเจรจาธุรกิจ ซึ่งเป็นจุดประสงค์หลักของงาน แนวทางการจัดงานจึงสร้างแพลตฟอร์มออนไลน์ BEPLACE ขึ้น เพื่อให้ทั้งผู้ออกบูท และผู้เข้าชมที่อยู่ในประเทศต่าง ๆ สามารถเข้าร่วมงานได้ผ่านออนไลน์ โดยสามารถเลือกชมสินค้า พูดคุยเจรจาธุรกิจได้เหมือนอยู่ในงาน

นอกจากนี้ยังได้ปรับโมเดลด้วยการเพิ่มออนไลน์เอ็กซิบิชั่น และดิจิทัลโชว์รูม ล่วงหน้างาน เพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจงานการใช้งานแพลตฟอร์มของผู้เข้าร่วม โดยเริ่มจะใช้ในงานโปรแพ็คเอเชีย 2020 ซึ่งมีกำหนดจัดในเดือนตุลาคม พร้อมงานแบบออนไลน์เอ็กซิบิชั่นและดิจิทัลโชว์รูมล่วงหน้าในวันที่ 15-17 กรกฎาคมนี้

นายกัมพล นิสิตสุขเจริญ กรรมการบริหาร บริษัท ไร้ท์แมน จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจบริหาร ออกแบบพิพิธภัณฑ์ ศูนย์การเรียนรู้ และครีเอทีฟอีเวนต์แบบครบวงจร กล่าวว่า ขณะนี้ดีมานด์ในธุรกิจอีเวนต์เริ่มฟื้นตัวประมาณ 80-90% สะท้อนจากงานที่บริษัทจะต้องเข้าไปสร้างบูทให้จำนวน 10-20 งานในช่วงครึ่งปีหลัง โดยผู้จัด/ผู้ออกบูทหลายรายพยายามเดินหน้างานของตน ทำให้อีเวนต์ออนไลน์-ไฮบริดได้รับความนิยมและอาจเปลี่ยนจากทางเลือกไปเป็นแนวทางหลักของการจัดอีเวนต์

ล่าสุดบริษัทได้จับมือบริษัท วายดีเอ็ม (ไทยแลนด์) จำกัด ผู้ให้บริการด้านดิจิทัลมาร์เก็ตติ้ง และวิทยาลัยศิลปะสื่อและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (CAMT) ที่เชี่ยวชาญด้านพัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์ ตั้งบริษัท Virtual Solution Asia ให้บริการจัดอีเวนต์ทั้งแบบออนไลน์และไฮบริด ชูจุดแข็งด้านบริการแบบครบวงจรจาก 3 พันธมิตร ตั้งแต่การออกแบบ-จัดงาน การทำการตลาด ไปจนถึงเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลบิ๊กดาต้าของงาน โดยจะมีผลงานแรกเป็น บางกอกอินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 41 ในวันที่ 15-26 กรกฎาคมนี้

ซึ่งจะจัดแบบไฮบริด ผู้ร่วมงานสามารถเข้าร่วมได้ทั้งแบบเดินทางไปที่งาน และผ่านออนไลน์ ซึ่งบริษัทจำลองบูทต่าง ๆ เสมือนอยู่ในงานจริงด้วยเทคโนโลยี 3D และภาพ 360 องศา โดยหลังจากนี้มีแผนต่อยอดดึงผู้ประกอบการเอสเอ็มอี หน่วยงานต่าง ๆ มาจัดอีเวนต์ด้วยแพลตฟอร์มนี้อีกด้วย