“อสมท” วิกฤตซ้ำการบินไทย ขาดสภาพคล่อง-คลังบีบฟื้นฟู

คลังกุมขมับ “อสมท” วิกฤตสภาพคล่องเดินตามรอยการบินไทย มีเงินจ่ายพนักงานถึงแค่ ต.ค.นี้ ธุรกิจขาลง-ขาดทุนต่อเนื่อง 5 ปี สื่อทีวีถูกดิสรัปต์รุนแรง แนวโน้มรายได้ลดทุกกลุ่ม สคร.ถกบอร์ดให้เร่งทำแผนฟื้นฟูด่วน วงในชี้โอกาสริบหรี่-แถมเจอการเมืองภายใน “เขมทัตต์” ยอมรับปัญหารุมเร้า ชี้ทางรอดต้อง “ผ่าตัด” ลดขนาดองค์กร-หาพันธมิตรขยายไลน์ธุรกิจกระจายเสี่ยง ลุ้นพัฒนาที่ดินกลางเมือง 50 ไร่

อสมท วิกฤตสภาพคล่อง

แหล่งข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ได้มีการส่งสัญญาณถึงปัญหาของรัฐวิสาหกิจ นอกเหนือจาก บมจ.การบินไทย ที่ประสบปัญหาทางการเงินจนต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูภายใต้กฎหมายล้มละลาย และองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) ที่อยู่ระหว่างจัดทำแผนฟื้นฟูภายใต้การดูแลของกระทรวงคมนาคม ยังมีรัฐวิสาหกิจที่มีสถานะน่าเป็นห่วงคือ บริษัท อสมท จำกัด(มหาชน) ที่จำเป็นจะต้องเร่งทำแผนฟื้นฟูกิจการ เนื่องจากการบริหารจัดการธุรกิจมีการขาดทุนอย่างต่อเนื่องในช่วง5 ปีที่ผ่านมา ขณะที่สภาพคล่องของบริษัทมีอยู่อย่างจำกัด และลดลงเรื่อย ๆ น่าจะอยู่ได้ไม่เกินเดือน ต.ค. นี้ ซึ่งอาจจะกระทบกับการจ่ายเงินเดือนพนักงานได้

“ปัจจัยสำคัญคืออุตสาหกรรมสื่อถูกดิสรัปต์อย่างรุนแรง ซึ่งถือเป็นข้อกังวลต่ออนาคต อสมท จะเดินหน้าต่อไปได้หรือไม่ หากยังดำเนินธุรกิจสื่อรูปแบบเดิมอยู่ในภาวะเช่นนี้”

อย่างไรก็ดี ได้รับรายงานว่า สคร.ได้มีการหารือร่วมกับบอร์ด อสมท อย่างไม่เป็นทางการแล้ว โดยได้ขอให้บอร์ดและผู้บริหาร อสมท ไปพิจารณาว่าจะเดินหน้าธุรกิจต่ออย่างไร โดยให้เสนอแผนการฟื้นฟูกิจการผ่านสำนักนายกรัฐมนตรี ที่เป็นเจ้าสังกัด เพื่อเสนอเข้าสู่ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ตามขั้นตอนต่อไป

“เท่าที่ดูจากสภาพคล่องของ อสมท บริษัทจะต้องเร่งทำแผนให้เสร็จภายในเดือน ก.ค.นี้ เพื่อให้ได้เสนอเข้าคณะกรรมการ คนร. โดยเร็ว” แหล่งข่าวกล่าว

2 ทางเลือกตามรอย “การบินไทย”

แหล่งข่าวกล่าวว่า สำหรับแนวทางฟื้นฟูกิจการก็มี 2 ทางเลือก คือ 1) เดินตามรอย บมจ.การบินไทย เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการภายใต้กฎหมายล้มละลาย หรือ 2) ใช้กระบวนการฟื้นฟูกิจการภายใต้กรอบ คนร. หาก อสมท ยังมีธุรกิจอื่นที่ยังสามารถเดินหน้าต่อไปได้ ก็อาจไม่จำเป็นต้องเข้าสู่กระบวนการกฎหมายล้มละลาย โดยสามารถใช้แนวทางการเติมสภาพคล่อง เช่น การเพิ่มทุน หรือการกู้ยืม เป็นต้น ซึ่งเป็นโจทย์ที่ อสมท จะต้องไปพิจารณา

“กรณีของ อสมท ถือเป็นโจทย์ยาก เพราะธุรกิจโดนดิสรัปต์ ดังนั้นการที่ อสมทจะทำแผนฟื้นฟูเพื่อให้สามารถกลับมาดำเนินธุรกิจอย่างแข็งแรง ยากกว่าการบินไทย เพราะเทรนด์ธุรกิจสื่อปัจจุบันมีทางเลือกอื่นที่ดีกว่า ทำให้อาจจะกลับมาไม่ได้เหมือนธุรกิจสายการบิน และที่สำคัญคือปัญหาการเมืองภายใน อสมท ก็มีความวุ่นวายกันอยู่ ทั้งเรื่องบอร์ดและอื่น ๆ ในกรณีเลวร้ายที่สุดสำหรับการฟื้นฟูกิจการของ อสมท คือ รัฐบาลอาจจะปล่อยให้กิจการล้มละลาย ซึ่งต้องพิจารณาประกอบกับนโยบายของ คนร.ด้วย” แหล่งข่าวกล่าว

ในกรณี อสมท ยังมีข้อกังวลในการทำแผนฟื้นฟูจะสำเร็จหรือไม่ เนื่องจากทิศทางของธุรกิจที่มีอยู่มองไม่เห็นอนาคต แต่ อสมท ยังมีสินทรัพย์อื่นอย่างเช่น ที่ดิน ซึ่งถ้ามีการบริหารจัดการทำให้เพิ่มมูลค่าขึ้นมา สามารถทำให้เห็นว่าธุรกิจสามารถที่จะดำเนินต่อไปได้ ก็จะมีความหวังในการฟื้นฟูกิจการได้

ทั้งนี้ หาก อสมท เลือกฟื้นฟูกิจการตามรอย บมจ.การบินไทย โดยหลักการกระทรวงการคลังก็จะต้องลดสัดส่วนการถือหุ้นของ อสมท ลงเพื่อให้พ้นจากสถานะการเป็นรัฐวิสาหกิจ โดยปัจจุบันกระทรวงการคลังถือหุ้นอยู่ 65.80% และธนาคารออมสินอีก 11.48%

ขอกู้เติมสภาพคล่อง 1 พันล้าน

รายงานข่าวแจ้งว่า ในแผนบริหารหนี้สาธารณะปีงบประมาณ 2563 ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติอนุมัติปรับแผนครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 28 เม.ย. 2563 ทาง อสมทได้ขอกู้เงินเข้ามา 1,000 ล้านบาท โดยเป็นการกู้เงินระยะสั้นเพื่อเสริมสภาพคล่องในรูป credit line โดยระบุเหตุผลว่าเป็นการสำรองสภาพคล่องทางการเงิน เพื่อรองรับธุรกิจใหม่ที่จะเกิดขึ้น

แหล่งข่าวกล่าวว่า ในข้อเท็จจริง บมจ.อสมท มีปัญหาสภาพคล่อง และจำเป็นต้องเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูตั้งแต่เมื่อหลายปีก่อน ที่มีการจัดกลุ่มรัฐวิสาหกิจที่ต้องจัดทำแผนฟื้นฟูกิจการ แต่ที่สุดก็ไม่มีชื่อ อสมท จึงมีแค่ 7 รัฐวิสาหกิจที่เข้าข่ายต้องฟื้นฟู ประกอบด้วย 1) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) 2) การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) 3) บมจ.การบินไทย 4) บมจ.ทีโอที 5) บมจ.กสท โทรคมนาคม 6) ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Bank) และ 7) ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (iBank)

เงินสัมปทานก้อนสุดท้าย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า บมจ.อสมท ประสบภาวะขาดทุนต่อเนื่องมา 5 ปี ตั้งแต่ปี 2559สำหรับผลประกอบการล่าสุด ไตรมาส 1/2563 มีรายได้ 467 ล้านบาทขาดทุนสุทธิ 877 ล้านบาท โดยปัจจัยหลักมาจากการลดลงของรายได้ในธุรกิจหลักและการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่าย ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการด้อยค่าของสินทรัพย์ ขณะที่หนี้สินรวมอยู่ที่ 1,388 ล้านบาท อย่างไรก็ดี ในไตรมาสแรกที่ผ่านมา อสมท ยังมีรายได้สัมปทานจากบริษัท บางกอกเอ็นเตอร์เทนเม้นต์ จำกัด (ช่อง 3) จำนวน101 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นรายได้ก้อนสุดท้ายเพราะสัญญาสัมปทานได้สิ้นสุดลงแล้ว ซึ่งก็จะยิ่งทำให้โอกาสการสร้างรายได้ของ อสมท ในอนาคตลดลงมากขึ้น

ทั้งนี้ โครงสร้างรายได้ของ บมจ.อสมท มาจากธุรกิจวิทยุ 29% ธุรกิจโทรทัศน์ 24% ธุรกิจร่วมดำเนินการ (สัมปทาน) 22% ธุรกิจให้บริการโครงข่ายโทรทัศน์ระบบดิจิทัล (BNO) และธุรกิจเช่าช่องสัญญาณโทรทัศน์ดาวเทียม 19% ธุรกิจใหม่ (สื่อออนไลน์) 1% และรายได้อื่น ๆ 5% โดยรายได้ของทุกกลุ่มธุรกิจหดตัวทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม บมจ.อสมท ยังมีสินทรัพย์เป็นที่ดินกลางเมือง 2 แปลง จำนวน 50 ไร่ และ 20 ไร่ ที่อยู่ระหว่างเปิดคัดเลือกผู้ลงทุนและเสนอผลประโยชน์ตอบแทนในการลงทุน โดยคาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ภายใต้ปี 2563 โดยมูลค่าที่ดินที่แสดงไว้ในงบการเงิน มูลค่า 1,164.51 ล้านบาท

ขณะที่เมื่อช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา อสมท ยังเจอกับปัญหาภายใน โดยสหภาพแรงงาน อสมท ที่ยื่นหนังสือถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายเทวัญ ลิปตพัลลภ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้ตรวจสอบกรณีการจ่ายเงินเยียวยาคลื่น 2600 เมกะเฮิรตซ์ จาก กสทช. มูลค่า 3,235.836 ล้านบาท เนื่องจากเงินเยียวยาดังกล่าวมีการแบ่งให้กับบริษัทคู่สัญญา (บริษัทเพลย์เวิร์ค) เท่า ๆ กัน

ผอ.ใหญ่ “เขมทัตต์” ยอมรับปัญหาหนัก

นายเขมทัตต์ พลเดช กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ยอมรับว่า ธุรกิจสื่อในวันนี้ถูกดิสรัปชั่นอย่างหนัก โดยเม็ดเงินโฆษณาในตลาดลดลงอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งยังถูกแบ่งไปยังนิวมีเดียอย่างชัดเจน ดังนั้นหาก อสมท ยังยึดติดกับกรอบการทำงานแบบเดิม และอาศัยรายได้จากสื่อโทรทัศน์ช่องทางเดียวก็ยากที่จะอยู่รอด เนื่องจากธุรกิจสื่อในโลกปัจจุบันเปลี่ยนแปลงเร็วมากอสมท ประสบกับภาวะขาดทุนมานานแล้ว ตั้งแต่ช่วงปี 2557, 2558 ซึ่งเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านและประมูลทีวีดิจิทัล โดยครั้งนั้น อสมท ประมูล 2 ช่อง ต้องใช้เงินกว่า 3,000 ล้าน และลงทุนสร้างโครงข่ายอีกราว 2,000 ล้านบาท ซึ่งในครั้งนั้นผู้บริหารเลือกใช้เงินสดที่มีอยู่ไปจ่าย ขณะที่ต้นทุนดำเนินงานก็ปรับตัวสูงขึ้น เนื่องจากต้องลงทุนคอนเทนต์เพิ่มขึ้น ขณะที่อุตสาหกรรมโฆษณาเริ่มหดตัวลงอย่างต่อเนื่องตลอดในช่วง 6-7 ปีที่ผ่านมา

“เดิม อสมท ลงทุนผลิตรายการเองประมาณ 40% ส่วนใหญ่เป็นรายการข่าวที่เหลืออีก 60% เป็นระบบไทม์แชริ่ง คือให้เอกชนลงทุนผลิตรายการ และแบ่งรายได้ค่าโฆษณา แต่เมื่อผู้ผลิตรายการไปประมูลช่องของตัวเอง ก็ยกรายการที่มีอยู่ไปลงในสถานีของตัวเอง ทำให้สถานีต้องลงทุนผลิตคอนเทนต์เพิ่มขึ้น บวกกับพนักงานที่มีอยู่กว่า 1,000 คนสูงกว่าค่าเฉลี่ยของสถานีทีวีทั่วไป ที่ใช้ประมาณ 500-700 คน ทำให้ต้นทุนดำเนินงานสูงขึ้น สวนทางกับรายได้โฆษณาที่ลดลง ตัวเลขจึงขาดทุนมาตลอด” นายเขมทัตต์กล่าว

ต้องกู้เงินต่อลมหายใจ

นายเขมทัตต์กล่าวว่า นอกจากนี้ยังเป็นช่วงที่สัญญาสัมปทานที่มีอยู่กับสถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 หมดจบลงพอดี ขณะที่รายได้จากสัมปทานทรูก็ลดลง และที่ผ่านมา อสมท ยังไม่ได้นำที่ดิน 50 ไร่ด้านหลัง ซึ่งเป็นทรัพย์สินที่มีมูลค่ามหาศาลมาพัฒนาให้เกิดรายได้ เพื่อบาลานซ์ความเสี่ยงของธุรกิจทีวี เนื่องจากติดระเบียบปฏิบัติและแนวคิดของผู้บริหารบางส่วนที่ยังไม่เห็นด้วย

ส่วนประเด็นจะต้องเข้ากระบวนการฟื้นฟูกิจการเช่นเดียวบริษัทการบินไทยนั้น นายเขมทัตต์กล่าวว่า หากดูสถานะทางการเงินของ อสมท ในวันนี้ ส่วนตัวยังมองว่าไม่ได้ร้ายแรงเท่ากับการบินไทย และยังสามารถเดินต่อได้ เพียงแต่จำเป็นต้องขอกู้เงินจากสถาบันการเงินเพื่อนำเงินมาเสริมสภาพคล่อง ส่วนการที่เข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูกิจการเช่นเดียวกับการบินไทยก็ได้ เพราะแนวทางการเข้าสู่แผนฟื้นฟูก็ไม่ใช่เรื่องใหม่ มีการพูดกันมานานแล้ว ที่สำคัญ การเข้ากระบวนการฟื้นฟูยังเป็นการทำให้ได้เรียนรู้ว่าการเดินในภาวะวิกฤตเพื่อรักษาชีวิตให้อยู่รอด ต้องทำอย่างไร

ลดไซซ์องค์กร-แตกไลน์ธุรกิจ

“สิ่งสำคัญที่ทุกคนต้องเข้าใจและยอมรับคือ วันนี้ธุรกิจของ อสมท มีปัญหาและเวลาธุรกิจมีปัญหา ทุกคนต้องช่วยกันเพื่อพาองค์กรให้อยู่รอด โดยเฉพาะแนวทางการลดต้นทุนการดำเนินงาน แต่วันนี้มีหลายสิ่งหลายอย่างที่ทำให้ อสมท ไม่สามารถเดินหน้าได้” นายเขมทัตต์กล่าวและว่า สำหรับแผนการกู้เงินมาสร้างสภาพคล่องนั้น ปัจจุบันอยู่ในแผนและพูดกันมานานแล้ว ทำกรอบขออนุมัติบอร์ด และผ่านการพิจารณาจากสภาพัฒน์แล้ว แต่ยังทำไม่ได้

นายเขมทัตต์กล่าวต่อไปอีก ส่วนตัวมองว่าหากต้องการขับเคลื่อน อสมท ให้สามารถเดินต่อได้ ต้องทำ 3 เรื่องหลัก ๆประกอบด้วย 1.ต้องปรับลดขนาดองค์กรเพื่อให้มีขนาดเล็กลง มีจำนวนพนักงานใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยของอุตสาหกรรม 2.นำสินทรัพย์ที่มีอยู่มาพัฒนาให้เกิดประโยชน์สูงสุด และ 3.หาพาร์ตเนอร์และขยายไลน์ธุรกิจเพื่อกระจายความเสี่ยง(diversify business) เพื่อเพิ่มช่องทางรายได้ใหม่ให้สอดรับกับโลกในปัจจุบัน

ขณะที่ปัจจุบัน-10 ก.ค.นี้ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) อยู่ระหว่างประกาศรับสมัครบุคคลเพื่อคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการใหญ่/กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ แทนนายเขมทัตต์ พลเดช ที่จะครบวาระการดำรงตำแหน่งสิ้นเดือนสิงหาคม 2563