หนุ่มเมืองจันท์ : “โควิด-ปิดหาด”

บทความ โดย หนุ่มเมืองจันท์
คอลัมน์ Marketthink
สรกล อดุลยานนท์

คิดเรื่องนี้มานานแล้ว แต่ไม่กล้าพูด

เพราะตอนช่วงที่เกิดโควิด-19 ใหม่ ๆ อารมณ์คนค่อนข้างเปราะบางมาก

การที่จะพูดถึง “ข้อดี” ของ “โควิด-19” เป็นจังหวะเวลาที่ไม่เหมาะสม

เหมือนกับไม่สนใจความเดือดร้อนของคนทั่วไป

เพราะคนส่วนใหญ่ลำบากถึงขนาดไม่มีข้าวกิน

ต้องมาต่อคิวเป็นชั่วโมงเพื่อรับข้าว 1 กล่อง

แต่วันนี้คงพอจะพูดได้แล้ว

“โควิด-19” ทำให้คนเดินทางน้อยลง

มลภาวะที่เป็นเรื่องใหญ่ของสังคมไทยก็ลดน้อยลงด้วย

ค่า PM 2.5 ที่เป็นเรื่องใหญ่ของ “คนกรุง”

พอคนอยู่บ้าน ไม่มีใครเดินทางไปไหน

นอกจากการจราจรที่เคยติดขัดก็สะดวกสบายขึ้น

ควันพิษจากรถก็ลดลง

เราสามารถมองเห็นท้องฟ้าชัดกว่าเดิม ไม่มีฝุ่นควันบดบังสายตา

วัดค่าฝุ่น PM 2.5 ก็ลดลงมาก

ชายหาดหรือป่าเขาที่เคยมีนัก

ท่องเที่ยวเต็มไปหมด ไม่เคยมีวันหยุด

อยู่ดี ๆ ก็มีวันหยุดขึ้นมา ยาวนานถึง 2-3 เดือน

ทะเลได้พักผ่อน

ต้นไม้ได้แผ่กิ่งก้านอย่างสบายใจ

สัตว์ป่าที่เขาใหญ่ได้ออกมานั่งเล่นบนถนน

ปะการังใต้ทะเลไม่มีใครรบกวน

ปลาที่เคยหนีห่างจากชายหาดก็กลับมาอีกครั้ง

นี่คือ สิ่งที่เราได้เห็นหลังจากรัฐบาลได้ผ่อนคลายให้คนออกมาใช้ชีวิตเหมือนเดิม

ที่ผ่านมาเรารณรงค์เรื่องการท่องเที่ยว

มีนักท่องเที่ยวทั้งต่างชาติและคนไทยเดินทางไปตามแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติต่าง ๆ มากมาย

ไม่เคยมีช่วงเวลาไหนที่แหล่งท่องเที่ยว

เหล่านี้ได้พักเพื่อฟื้นฟูธรรมชาติให้กลับคืนมา

ทุกเวลาเป็นเงินเป็นทอง

แหล่งท่องเที่ยวทุกแห่งเหมือนโรงพิมพ์แบงก์

มีไม่กี่แห่งที่มีการพักบ้าง เช่น ภูกระดึง ที่ไม่ให้เที่ยวช่วงหน้าฝน

แต่ “โควิด-19” น่าจะทำให้เราได้ฉุกคิดถึงอะไรบางอย่าง

“คำถาม” ที่ค้างคาใจมานานว่าถ้าปล่อยให้แหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติได้พักฟื้นบ้าง

มันสวยงามขึ้นกว่าเดิมมากแค่ไหน

“โควิด-19” ให้ “คำตอบ” ที่ชัดเจนมาก

วันนี้ ในวันที่นักท่องเที่ยวยังไม่กลับมา เราน่าจะมีการทบทวนเรื่องนี้สักนิดไหมครับ

แปร “วิกฤติ” ให้เป็น “โอกาส”

ถ้าเห็นว่าธรรมชาติวันนี้สวยงามกว่าวันก่อน

เพราะได้พักผ่อน

เราควรคิดถึงเรื่องการท่องเที่ยวที่ยืนยาว ใช้ประโยชน์จากธรรมชาติที่งดงามของประเทศให้นานที่สุดดีไหม

ให้ทะเลสวยอย่างที่ควรจะสวย

ให้ชายหาดขาวและสะอาดเท่าที่ธรรมชาติมอบให้

ให้ต้นไม้ในอุทยานแห่งชาติทั้งหลายได้มีเวลาฟื้นตัว

สัตว์ป่าได้ใช้ชีวิตแบบไม่มีมนุษย์รบกวนบ้าง

รีบคิดและรีบทำก่อนที่นักท่องเที่ยวจะกลับมาอีกครั้ง

สมมติว่าถ้าเราจะปิดไม่ให้นักท่องเที่ยวไปเกาะหรือชายหาดแต่ละแห่งสักปีละ 1 เดือน

สลับกันปิด เพื่อให้มีชายหาดอื่นๆให้นักท่องเที่ยวไปเที่ยวได้

ปิดป่า ปิดอุทยาน เป็นประจำทุกปี

ในเชิงธุรกิจ ของดี-ของสวย และเวลาไปเที่ยวก็เหลือแค่ 11 เดือนจาก 12 เดือน

เราขายราคาแพงขึ้นได้

และโรงพิมพ์แบงก์เมื่อได้พักเครื่อง

เราก็จะหากินได้ยาวนานกว่าเดิม

ถ้ารัฐบาลว่างจากการปรับคณะรัฐมนตรีแล้ว ลองทบทวนเรื่องนี้สักครั้ง

ผมเชื่อว่าคนส่วนใหญ่จะสนับสนุน

อย่าให้ชายหาดสวย ๆ เป็นแค่ภาพในอดีต

เมื่อเราสามารถฟื้นฟูกลับคืนมาและรักษามันไว้นาน ๆ ได้

เราก็ควรทำ

น่าคิดนะครับ