CPN รีวิวแผนลงทุน กอดเงินสด-เฟ้น 10 โปรเจ็กต์ รอเศรษฐกิจฟื้น

CPN รีวิวแผนลงทุน กอดเงินสด-เฟ้น 10 โปรเจ็กต์ รอเศรษฐกิจฟื้น

“ซีพีเอ็น” ทบทวนแผนลงทุนใหม่ รับโควิดยืดเยื้อ เน้นรักษากระแสเงินสด-สภาพคล่อง ก่อนเตรียมออกหุ้นกู้ 4 หมื่นล้าน พร้อมเดินหน้าพัฒนา-ศึกษาโครงการใหม่อีกไม่ต่ำกว่า 10 แห่ง รับการเติบโตระยะยาว หลังฟื้นจากวิกฤต ชูคอนเซ็ปต์ “มิกซ์ยูส” เป็นมากกว่าศูนย์การค้า ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ยุคใหม่ พร้อมเปิดกว้างลงทุน ต่อยอดธุรกิจหลัก หวังสร้างการเติบโต-กระจายรายได้บาลานซ์เสี่ยง

แม้ว่าสถานการณ์ “โควิด-19” จะเริ่มคลี่คลายไปในทิศทางที่ดีขึ้น แต่หลายฝ่ายก็ยังกังวลกับการระบาดรอบ 2 รวมถึงการใช้ชีวิตแบบการ์ดไม่ตก ที่ยังต้องรักษาระยะห่างทางสังคม มาตรการด้านความปลอดภัยและสุขอนามัยอย่างเต็มที่ จนกว่าจะมีวัคซีนป้องกันโรคนี้สำเร็จ ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจกำลังซื้อ ทำให้การลงทุนของหลายภาคส่วนในช่วงต่อจากนี้ไป จะต้องทำอย่างระมัดระวัง และให้ความสำคัญกับกระแสเงินสด รวมถึงต้องปรับรูปแบบเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปให้ทันด้วย

รักษาสภาพคล่อง

นายปรีชา เอกคุณากูล กรรมการผู้จัดการใหญ่และเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เซ็นทรัลพัฒนา จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ถือเป็นความท้าทายในการทำธุรกิจของบริษัท โดยซีพีเอ็นตั้งแต่พบว่ามีการระบาดเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ได้มีการบริหารจัดการในด้านต่าง ๆ เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องผ่านเหตุการณ์นี้ไปได้ ไม่ว่าจะเป็นลูกค้า ผู้เช่า พนักงานบริษัท และผู้ถือหุ้น

ทั้งเรื่องของบริการที่ปลอดภัย สร้างความสะดวกสบายในการใช้ชีวิตให้ใกล้เคียงกับการเปิดศูนย์แบบปกติ โดยการเพิ่มบริการใหม่เข้ามา เช่น แชตแอนด์ช็อป ไดรฟ์ทรู ฯลฯ การช่วยเหลือในด้านค่าใช้จ่าย ยกเว้นค่าเช่าร้านที่ไม่สามารถเปิดได้ รวมถึงการให้ส่วนลดค่าเช่าตั้งแต่ 10-50% ตามผลกระทบที่เกิดขึ้น ตลอดจนการทำประกันสุขภาพให้พนักงาน ไม่เลิกจ้าง แต่ใช้กำลังคนที่มีอยู่ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

และที่สำคัญได้ดำเนินการต่าง ๆ เพื่อลดต้นทุน ทั้งด้านสาธารณูปโภค การตลาด การประชาสัมพันธ์ การบริหาร ฯลฯ ให้สอดคล้องกับรายได้ที่ลดลง พร้อมกับทบทวนแผนลงทุนใหม่ เพื่อลดผลกระทบต่อฐานะทางการเงินและกระแสเงินสด เพื่อเตรียมสภาพคล่องของบริษัทให้เพียงพอ ต่อสถานการณ์ซึ่งยังมีความไม่แน่นอนอยู่ในขณะนี้

ล่าสุด ในการประชุมผู้ถือหุ้นประจำปี 2563 ได้อนุมัติให้ออกและเสนอขายหุ้นกู้จำนวนไม่เกิน 40,000 ล้านบาท รวมถึงการออกและเสนอขายตั๋วเงินระยะสั้น และ/หรือ หุ้นกู้ระยะสั้นจำนวนไม่เกิน 15,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนแผนการลงทุน ในการพัฒนาโครงการใหม่และการขยายธุรกิจในอนาคตของบริษัท ตลอดจนเพิ่มความคล่องตัวในการหมุนเวียนเงินทุนในการดำเนินโครงการต่าง ๆ

อยู่ระหว่างศึกษา 10 โครงการ

นายปรีชาระบุต่อไปว่า อย่างไรก็ตาม ในระยะยาวบริษัทยังเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจของไทยยังสามารถพัฒนาและเติบโตต่อไปได้ จากแผนการลงทุนเมกะโปรเจ็กต์ของภาครัฐด้านคมนาคม ที่จะเกิดขึ้นอีกจำนวนมาก เช่น รถไฟความเร็วสูง, รถไฟฟ้า ฯลฯ ตลอดจนโครงการในพื้นที่อีอีซี

หากผ่านช่วงวิกฤตครั้งนี้ไปแล้ว เชื่อว่าเศรษฐกิจของประเทศจะฟื้นกลับมาอีกครั้ง และการพัฒนาของเมืองจะเปลี่ยนไป เป็นโอกาสที่บริษัทจะเข้าไปลงทุนเพื่อสร้างศูนย์การค้า โดยเฉพาะโครงการมิกซ์ยูส ซึ่งจะเป็นโมเดลที่ใช้ในการเข้าไปตอบโจทย์การใช้ชีวิตยุคใหม่ ที่ครอบคลุมตั้งแต่ศูนย์การค้า สำนักงานออฟฟิศ ที่อยู่อาศัย และโรงแรม โดยขณะนี้ได้ศึกษาพื้นที่ที่มีศัยภาพสูงไม่ต่ำกว่า 10 โครงการ

สำหรับโครงการที่เปิดตัวไปแล้ว และกำลังก่อสร้างอยู่ในขณะนี้ ได้แก่ “ดุสิต เซ็นทรัล พาร์ค” โครงการมิกซ์ยูสที่บริษัท ร่วมทุนกับกลุ่มดุสิตธานี พัฒนาพื้นที่ 23 ไร่ บริเวณหัวมุมถนนสีลม ทำเลยุทธศาสตร์ในศูนย์กลางเศรษฐกิจ ที่เชื่อมต่อทั้งรถไฟฟ้าบีทีเอส และเอ็มอาร์ที โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2566-2567

และศูนย์การค้าที่เป็นมิกซ์ยูส 3 แห่ง อาทิ เซ็นทรัลพลาซา อยุธยา ประกอบไปด้วยศูนย์การค้า ศูนย์ประชุม พื้นที่สาธารณะสำหรับชุมชน โครงการที่พักอาศัย และโรงแรม คาดว่าจะแล้วเสร็จปี 2564, เซ็นทรัล ศรีราชา ที่เป็นศูนย์การค้าแบบเซมิเอาต์ดอร์ ไลฟ์สไตล์ มีศูนย์การประชุม โรงแรม เซอร์วิสอพาร์ตเมนต์ อาคารสำนักงาน และศูนย์เรียนรู้สำหรับเด็ก คาดว่าจะเปิดให้บริการปี 2564 และเซ็นทรัล จันทบุรี ซึ่งจะมีทั้งศูนย์การค้า ที่พักอาศัย ฯลฯ คาดว่าจะเปิดในปี 2565

กระจายแหล่งรายได้

นอกจากการพัฒนาศูนย์การค้า และโครงการมิกซ์ยูสแล้ว ในช่วงที่ผ่านมาซีพีเอ็นยังได้เข้าไปพัฒนาโครงการที่พักอาศัย เน้นทำเลใกล้ศูนย์ของบริษัท ตลอดจนทำเลที่มีศักยภาพอื่น ๆ เพื่อไดเวอร์ซิฟายไปยังธุรกิจที่หลากหลายมากขึ้น ปัจจุบันมีโครงการที่พัฒนาแล้ว อาทิ เอสเซ็นท์ วิลล์ เชียงใหม่, เอสเซ็นท์ วิลล์ เชียงราย, เอสเซ็นท์ นครราชสีมา, ฟิล พหล 34 และอยู่ระหว่างการก่อสร้าง อาทิ เอสเซ็นท์ อุบลราชธานี, เอสเซ็นท์ พาร์ควิลล์ เชียงใหม่, นิยาม บรมราชชนนี เป็นต้น

พร้อมกับพยายามหาโอกาสในการลงทุนธุรกิจใหม่ ๆ ที่มีศักยภาพการเติบโต เพื่อสร้างความแข็งแกร่งของโครงสร้างรายได้ ให้มีความหลากหลาย สนับสนุนกลยุทธ์การเติบโตที่ยั่งยืน เช่น การเปิด coworking space ภายใต้แบรนด์ “คอมมอนกราวนด์” ซึ่งเป็นการร่วมทุนกับบริษัท คอมมอนกราวด์ กรุ๊ป จากประเทศมาเลเซีย เพื่อต่อยอดเน็ตเวิร์กของซีพีเอ็น และกลุ่มเซ็นทรัลที่มีอยู่ ให้สามารถตอบรับกับการทำงานยุคใหม่ โดยเฉพาะเทรนด์ของโคเวิร์กกิ้งสเปซ และแชริ่งอีโคโนมี ที่เติบโตอย่างรวดเร็วทั่วโลก

การเข้าไปลงทุนในแกร็บ เพื่อช่วยเพิ่มยอดขายของร้านค้าในศูนย์ อันเป็นการสนับสนุนธุรกิจหลัก และในอนาคตจะนำข้อมูลการสั่งซื้อมาช่วยในการพัฒนาการทำธุรกิจให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นต่อไป นอกจากนี้ยังมีการเข้าไปลงทุนในบริษัท เบย์วอเตอร์ จำกัด เพื่อต่อยอดพัฒนาโครงการต่าง ๆ ในอนาคต เนื่องจากเบย์วอเตอร์มีกรรมสิทธิ์ที่ดินในย่านพหลโยธินซึ่งมีศักยภาพค่อนข้างสูงอยู่จำนวนมาก

ทราฟฟิกปรับตัวดีขึ้น

ผู้บริหารซีพีเอ็นกล่าวเพิ่มเติมว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นจากโควิด หากแบ่งเป็นช่วงแรก มกราคม-กุมภาพันธ์ที่เริ่มมีการแพร่ระบาดในต่างประเทศ มีผลให้จำนวนนักท่องเที่ยวลดลง โดยสาขาที่ได้รับผลกระทบได้แก่ เซ็นทรัลเวิลด์, พัทยา, เชียงใหม่, ภูเก็ต, สมุย มีทราฟฟิกลดลง 10-15% แต่ศูนย์อื่นยังมีผู้มาใช้บริการตามปกติ

จนกระทั่งเข้าเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ซึ่งมีการระบาดเป็นวงกว้างในไทย จนภาครัฐมีการประกาศให้ศูนย์การค้าปิดเป็นการชั่วคราว ทำให้ศูนย์ของซีพีเอ็นทั้ง 33 แห่ง ต้องปิดทำการ รวมระยะเวลา 45-56 วัน แต่ยังมีกิจการบางอย่างที่อนุญาตให้เปิดได้ เช่น ซูเปอร์มาร์เก็ต ร้านอาหาร แบบเทกอะเวย์ หรือดีลิเวอรี่ ทำให้มีผู้มาใช้บริการอยู่ที่ 20-30% จากช่วงปกติ

ต่อมาช่วงปลดล็อกเฟส 2 ตั้งแต่ 17-31 พฤษภาคม ศูนย์ทุกแห่งกลับมาเปิดดำเนินการอีกครั้ง ด้วยมาตรการความปลอดภัยและสุขอนามัยขั้นสูงสุด จำนวนผู้ใช้บริการจึงปรับขึ้นมาอยู่ที่ 40-60% จากช่วงปกติ และตั้งแต่ช่วงปลดล็อกเฟส 3-5 ตั้งแต่ 1 มิถุนายน เป็นต้นมา สถานการณ์เริ่มคลี่คลายในทิศทางที่ดีขึ้น รัฐบาลมีการผ่อนคลายเพิ่มเติม ภายใต้มาตรการรักษาความปลอดภัยเข้มข้นต่อเนื่อง จึงมีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เป็น 60-80% จากช่วงปกติ

โดยภาพรวมธุรกิจในปัจจุบัน บริษัทมีศูนย์การค้าทั้งหมด 34 โครงการ แบ่งเป็นในประเทศ 33 โครงการ รวมพื้นที่ให้เช่า 1,809,020 ตร.ม. และต่างประเทศอีก 1 โครงการ (เซ็นทรัล ไอ-ซิตี้) ประเทศมาเลเซีย คิดเป็นพื้นที่โครงการอีก 278,000 ตร.ม. อาคารสำนักงาน 7 แห่ง โรงแรม 2 แห่ง โครงการที่พักอาศัยเพื่อเช่า 1 แห่ง โครงการที่พักอาศัยเพื่อขาย 10 แห่ง

สำหรับผลประกอบการไตรมาส 1 ที่ผ่านมา มีรายได้รวม 11,423 ล้านบาท กำไรสุทธิ 4,592 ล้านบาท ซึ่งหากไม่รวมรายได้ที่ไม่ได้เกิดขึ้นประจำ จะมีรายได้รวมและกำไรลดลง 0.5% และ 8.7% ตามลำดับ เป็นผลมาจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่เกิดขึ้น

ห้าง CPN ปรับกลยุทธ์ รับมือโควิด