“เดอะมอลล์ กรุ๊ป” เดินหน้าทรานส์ฟอร์ม ย้ำแผนโรดแมป 5 ปี

“ศุภลักษณ์ อัมพุช” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป
สัมภาษณ์พิเศษ

“เดอะมอลล์ กรุ๊ป” ค้าปลีกรายใหญ่ของไทย ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมากว่า 37 ปี  หลังจากต้องเผชิญกับวิกฤตการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19  แม้ว่าจะกลับมาเปิดให้บริการได้อีกครั้ง แต่จำนวนทราฟฟิกยังไม่ฟื้นกลับมา จากพฤติกรรมการเปลี่ยนแปลงของผู้บริโภค ตลอดจนภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่ยังน่าเป็นห่วง ทำให้ “สปีด” ของการทรานส์ฟอร์มองค์กร ที่เกิดขึ้นในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาถูกเร่งให้เร็วขึ้น เพื่อรับมือกับความท้าทายดังกล่าวได้อย่างทันท่วงที

“ประชาชาติธุรกิจ” ได้ร่วมสัมภาษณ์พิเศษ “คุณแอ๊ว-ศุภลักษณ์ อัมพุช” ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เดอะมอลล์ กรุ๊ป ถึงการ “ทรานส์ฟอร์ม” โครงสร้างครั้งสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มผู้บริหารที่จะมาช่วยเป็นเสาหลักในการขับเคลื่อน และการวางยุทธศาสตร์การดำเนินงานให้ตอบโจทย์กับเทรนด์ความต้องการของตลาดและลูกค้า เพื่อสร้างโอกาสการเติบโตใหม่ ๆ นับจากนี้ไป

“คุณแอ๊ว” ฉายภาพว่า วิกฤตที่เกิดขึ้นทำให้เดอะมอลล์ กรุ๊ปมีโจทย์ใหญ่ในการทำงานก็คือ การปรับตัวให้เร็วเพื่อให้ธุรกิจสามารถอยู่รอดได้ โดยให้ความสำคัญกับ 3 เรื่อง ได้แก่ globalization, digital and technology และ tourist ต้องเรียนรู้เทรนด์ทั่วโลก และการพัฒนาด้านดิจิทัล ตลอดจนการนำเทคโนโลยีมาช่วยให้การทำงาน การวางกลยุทธ์ต่าง ๆ มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ขณะเดียวกัน ตลาดนักท่องเที่ยวก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะอย่างไรก็ตาม ไม่มีทางที่เศรษฐกิจในประเทศจะมีกำลังซื้อหากไม่มีนักท่องเที่ยว จึงเป็นที่มาของการเสนอแผน 10 ข้อให้รัฐบาลในช่วงก่อนหน้านี้ หลังจากรับจดหมายขอความร่วมมือจากนายกรัฐมนตรีที่ให้ร่วมเสนอแนวทางในการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ทำให้บริษัทต้องทรานส์ฟอร์มจากองค์กรไทยแท้ไปสู่การเป็น multinational company

ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเปลี่ยนถ่ายผู้บริหารรุ่นเก่า และเพิ่มผู้บริหารรุ่นใหม่ ๆ ทั้งคนไทยและต่างชาติที่มีแพสชั่นและมีประสบการณ์ทำงานอย่างมืออาชีพ พร้อมนำรุ่นลูก-หลานเจเนอเรชั่นที่ 3 ของตระกูลอัมพุช เข้ามาร่วมงานในตำแหน่งต่าง ๆ ในบริษัทมากขึ้น

โดยแผนการปรับโครงสร้างนี้ เริ่มมาตั้งแต่ 1-2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งผู้บริหารระดับสูงที่มีอายุงานมานานกว่า 30 ปี บางคนก็ยังทำงานอยู่ เช่น “เมธินี สุวรรณะบุณย์” ผู้อำนวยการใหญ่อาวุโส และ “วรรณา เพิ่มสุวรรณ” รองประธานกรรมการบริหารอาวุโส การเงินและการบัญชี และมีบางคนที่ถึงเวลาเกษียณอายุงานคือ “ไพบูลย์ กนกวัฒนาวรรณ” ที่เคยดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มเดอะมอลล์ กรุ๊ป และ “มาลินี ทรัพย์บริบูรณ์” และที่มีช่วงหนึ่งที่รับซีอีโอใหม่เข้ามาด้วยสัญญา 1 ปี จนถึงตอนนี้ได้เกษียณไปแล้ว

ปัจจุบันโครงสร้างผู้บริหารภายในของเดอะมอลล์ สามารถแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.ทีม RE (Real Estate) กลุ่มนี้เป็นหัวหอกการสร้างการเติบโตและสร้างรายได้ให้กับบริษัท โดยมี  “เกรียงศักดิ์ ตันติพิภพ” เป็นผู้ดูแลในตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มเดอะมอลล์ กรุ๊ป มีบทบาทในการพัฒนาค้าปลีกและช็อปปิ้งเซ็นเตอร์รูปแบบใหม่ รวมไปถึงทางด้านกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ โรงแรม ที่พักอาศัย และเอ็นเตอร์เทนเมนต์

2.ทีม TR (Trading) ที่ดูแลโดย “จักรกฤษ กีรติโชคชัยกุล” ที่รับผิดชอบธุรกิจดีพาร์ตเมนต์สโตร์ ระบบโอเปอเรชั่น และการตลาด 3.ทีมไฟแนนซ์ บัญชี และระบบไอที รับผิดชอบโดย “วรรณา เพิ่มสุวรรณ” ส่วนโปรเจ็กต์ดีเวลอปเมนต์การพัฒนาต่าง ๆ คุณแอ๊วจะดูโดยตรง อย่างไรก็ตาม ตอนนี้โครงสร้างดังกล่าวยังไม่ได้ปรับอย่างเป็นทางการ แต่เริ่มนำมาใช้แล้ว ซึ่งต่อไปจะเรียกว่า “M Transformation”

“คุณแอ๊ว” ยังกล่าวถึงแผนการลงทุนตามโรดแมประยะเวลา 5 ปี (2562-2566) ภายใต้งบประมาณ 5 หมื่นล้านว่ายังเดินหน้าตามแผนเดิมที่เริ่มมาตั้งแต่ปี 2562 ที่ผ่านมา โดยหนึ่งในโปรเจ็กต์หลักที่จะเกิดขึ้นเป็นส่วนของโครงการ “บางกอกมอลล์” ถนนบางนา ที่จะเป็นทั้งศูนย์การค้า ที่อยู่อาศัย และออฟฟิศ อยู่ระหว่างการดำเนินงาน ซึ่งจะต้องใช้เวลาในการก่อสร้างค่อนข้างนาน เนื่องจากตั้งเป้าที่จะพัฒนาให้เป็นศูนย์การค้าที่มีครบทุกด้าน ทั้งประสบการณ์ นวัตกรรม แรงบันดาลใจ ตลอดจนไลฟ์สไตล์ต่าง ๆ เบื้องต้นคาดว่าจะเปิดให้บริการได้ในปลายปี 2566 แต่ก็ต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์ภาพรวมด้วย

ด้านโครงการ “ดิ เอ็มสเฟียร์” (The Emsphere) บนใจกลางสุขุมวิท มีแผนจะเปิดให้บริการช่วงปลายปี 2565 ส่วนโปรเจ็กต์ของการรีโนเวตเดอะมอลล์ งามวงศ์วาน ที่เริ่มตั้งแต่ปี 2562 ตอนนี้เสร็จเรียบร้อย เตรียมเปิดอย่างเป็นทางการในปลายปี 2563 โดยหลังจากนี้จะทำการรีโนเวตเดอะมอลล์ ท่าพระ ตามด้วยเดอะมอลล์ บางแค ในปี 2564 และเดอะมอลล์ บางกะปิ ในปี 2566 ส่วนเดอะมอลล์ รามคำแหง จะอยู่อันดับท้าย ๆ เนื่องจากต้องรอให้รถไฟฟ้าสร้างให้เสร็จเรียบร้อยก่อน เพราะมีข้อจำกัดในเรื่องการจราจรในบริเวณนั้น

โดยทุกสาขาจะอยู่ภายใต้คอนเซ็ปต์ “The Mall Lifestore : A Happy Place To Live Life” มีการปรับใช้โลโก้เป็นตัว M ที่ปรับให้มีเอกลักษณ์และทันสมัยมากขึ้น ซึ่งโลโก้ใหม่นี้จะถูกนำไปใช้กับเดอะมอลล์ทุกสาขา ตลอดจนการปรับพื้นที่ของโซนร้านอาหาร มีการนำเอาแบรนด์ฟู้ดคอร์ต “กูร์เมต์ อีทส์” และร้านสตรีตฟู้ด ชื่อดังกว่า 30 ร้าน พร้อมพื้นที่ในส่วนของโคเวิร์กกิ้งสเปซ ฯลฯ ควบคู่กับการเพิ่มน้ำหนักช่องทางออมนิแชนเนล และออนไลน์ ปัจจุบันได้นำสินค้าของเดอะมอลล์ อาทิ เพาเวอร์มอลล์ สปอร์ตมอลล์ เข้าไปจำหน่ายในแพลตฟอร์มลาซาด้า รวมถึงการสั่งสินค้าผ่านคอลเซ็นเตอร์ ตามด้วยการให้บริการดีลิเวอรี่ ปลายปีนี้จะได้เห็นเต็มรูปแบบ

สำหรับการกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้งของเดอะมอลล์หลังจากภาครัฐได้คลายล็อกให้กับธุรกิจศูนย์การค้า “คุณแอ๊ว” ฉายภาพว่า ขณะนี้จำนวนทราฟฟิกเริ่มปรับตัวดีขึ้นอยู่ที่ 70% ของช่วงปกติ โดยลูกค้าที่เข้ามาในห้างมีจำนวนลดลง แต่มียอดซื้อต่อบิลเพิ่มขึ้น และประเมินว่าในช่วงปลายปีจะค่อย ๆ ดีขึ้นตามลำดับ แต่อย่างไรก็ตาม การที่ค้าปลีกจะฟื้นตัวอย่างเต็มรูปแบบ คาดว่าต้องใช้เวลากว่า 2 ปี และขึ้นอยู่กับนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล

ส่วนยอดขายของเดอะมอลล์ กรุ๊ปในปี 2562 มีรายได้รวม 54,000 ล้านบาท (ไม่รวมส่วนพื้นที่เช่า) สำหรับรายได้ในส่วนของศูนย์การค้าปี 2563 คาดว่าจะลดลงประมาณ 10%  โดย 5 ปีหลังจากนี้ และหลังจากการรีโนเวตกลุ่มธุรกิจพื้นที่เช่า จากเดิมจะเป็นพื้นที่ที่เซ้งระยะยาว จะเข้ามาเพิ่มรายได้ให้กับบริษัทมากขึ้น และกลายเป็นสัดส่วนรายได้หลักถึง 60% ในขณะที่ศูนย์การค้าจะมีสัดส่วน 40% โดยปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวมีกว่า 2 แสนตารางเมตร และจะเริ่มรับรู้รายได้ภายในปีนี้

ด้านของแผนการเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ มองว่าเดอะมอลล์ไม่จำเป็นที่จะต้องเข้าก็ได้ เพราะไม่มีปัญหาด้านการเงิน แต่การเข้าก็มีข้อดีคือทำให้องค์กรน่าเชื่อถือมากขึ้น ซึ่งก็ต้องรอดูจากนี้ไปว่าจะเป็นอย่างไร


“แม่ทัพเดอะมอลล์ กรุ๊ป” ยอมรับว่า วิกฤตไวรัสโควิด-19 นับเป็นการดิสรัปต์ธุรกิจนับตั้งแต่เปิดบริการมา “คนที่แข็งแรงกว่า ต้องช่วยคนที่อ่อนแอกว่า” และปีนี้ไม่ได้ตั้งเป้าที่จะมีกำไร ขอแค่ประคับประคองธุรกิจและพนักงาน ตลอดจนคู่ค้าให้อยู่รอดไปด้วยกัน