“แม็คโคร” เล็งส่ง “นาโนไฟแนนซ์” เจาะลูกค้าโชห่วย

“แม็คโคร” รับอยู่ระหว่างศึกษา “นาโนไฟแนนซ์” เตรียมปล่อยกู้โชห่วย ลงทุนต่อยอดกิจการ ก่อนถอดบทเรียนโควิด-19 เปิดเทรนด์พฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนไป ฝ่าทางรอดธุรกิจร้านชำ ชี้บริบทค้าขายยุคใหม่ต้องเข้าใจลูกค้า พร้อมดึงจุดแข็งโลเกชั่นใกล้ชิดชุมชน ปรับโปรดักต์มิกซ์รับกระแส work from home เพิ่มช่องทางจ่ายเงินออนไลน์ รุกสื่อสารผ่านดิจิทัล

วีระชัย ตู้วชิรกุล

นายวีระชัย ตู้วชิรกุล ผู้จัดการอาวุโส แม็คโคร 4.0 บริษัท สยามแม็คโคร จำกัด (มหาชน) กล่าวในงานเสวนา “ยุทธศาสตร์ค้าปลีกวิถีใหม่ฝ่า COVID-19” จัดโดยสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ระบุว่า ในช่วงวิกฤตผู้ประกอบการโชห่วยต้องทำความเข้าใจกับพฤติกรรมของลูกค้าที่เปลี่ยนไป เพื่อปรับปรุงวิธีการค้าขายให้สอดรับ รวมถึงเรื่องการบริหารจัดการเงินสดให้เหมาะสม

โดยธุรกิจโชห่วยมีความได้เปรียบในเรื่องต้นทุนการดำเนินการ ที่ส่วนใหญ่อยู่ในชุมชน เช่น แบ่งพื้นที่ในทาวน์เฮาส์ หรือที่ริมรั้วเล็ก ๆ ก็สามารถเปิดได้แล้ว แต่อย่างไรก็ตาม พบว่าโชห่วยหลายแห่งมีการเอาเงินไปลงทุนกับสต๊อกจำนวนมาก และขาดการบริหารที่ดี ทำให้เงินจำนวนหนึ่งจมอยู่กับของที่อาจจะหมดอายุหรือเสียหาย

นอกจากนี้การเข้าถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการโชห่วยยังมีความยากลำบาก เนื่องจากไม่มีสลิปเงินเดือนประจำ ไม่มีเอกสารแสดงรายได้ที่ชัดเจน หากต้องการเงินมาลงทุนเพิ่มโดยการไปกู้ธนาคารจึงทำได้ยาก บริษัทจึงอยู่ระหว่างการศึกษาและร่วมมือกับหลายภาคส่วนเพื่อทำนาโนไฟแนนซ์ โดยใช้ดาต้าที่มีอยู่มาปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้าได้ โดยเร็ว ๆ นี้จะมีความชัดเจนมากขึ้น

สำหรับนิวนอร์มอลของผู้บริโภค พบว่ามี 4 ประการ ที่ผู้ประกอบการต้องให้ความสนใจ คือ 1.ความคุ้นชินกับดิจิทัล การสแกน อีเพย์เมนต์ เพื่อลดความเสี่ยงการสัมผัสเชื้อไวรัสจากเงินสด ทำให้ร้านต้องมีช่องทางรองรับการจ่ายเงินที่ครอบคลุมมากขึ้น เช่น โมบายแบงกิ้ง, คิวอาร์โค้ด ฯลฯ 2.การทำอาหารกินกันเองในครอบครัว โดยอาจปรับพื้นที่บางส่วนขายสินค้าแช่แข็ง เช่น เนื้อหมู เนื้อไก่ แช่แข็ง ฯลฯ เพื่อเพิ่มรายได้และกำไร ตลอดจนความถี่ของลูกค้าที่เข้าร้าน

3.การใส่ใจสุขภาพและคุณภาพสินค้า เพราะผู้บริโภคให้ความสนใจกับแหล่งที่มาของสินค้า ความน่าเชื่อถือ มากขึ้น และ 4.การติดตามข่าวสารทางโซเชียลมีเดียมากขึ้น ร้านจึงควรการสร้างเพจในเฟซบุ๊ก หรือไลน์ เพื่อประชาสัมพันธ์เมื่อมีสินค้าใหม่ โปรโมชั่น หรือถามตอบกับลูกค้าในช่องทางออนไลน์ เพื่อสร้างการรับรู้และครองใจลูกค้า

สลิลลา สีหพันธุ์

นางสาวสลิลลา สีหพันธุ์ รองประธานกรรมการฝ่ายกิจการ บรรษัท เทสโก้ โลตัส กล่าวเสริมว่า พฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของผู้บริโภคอาจเป็นวิกฤตของหลาย ๆ ธุรกิจ แต่หากเรียนรู้และนำมาปรับใช้ก็จะสามารถสร้างโอกาสได้ในเวลาเดียวกัน เช่น ช่วงการแพร่ระบาดจนถึงขณะนี้ ก็ยังพบว่าผู้บริโภคบางส่วนไม่ต้องการเดินทางไกล หรือเข้าสโตร์ใหญ่ ๆ เพื่อไปจับจ่ายในสถานที่ที่มีคนจำนวนมาก ๆ ในขณะที่โชห่วยซึ่งอยู่ใกล้บ้าน ใกล้ชุมชน สามารถเข้าไปตอบโจทย์ความต้องการที่เกิดขึ้นได้

ในด้านของสินค้า ทุกวันนี้คนยังให้ความสำคัญกับเรื่องความสะอาดและสุขอนามัยอยู่ ดังนั้น กลุ่มสินค้า เช่น น้ำยาฆ่าเชื้อ ทำความสะอาด ฯลฯ สามารถนำไปเติมลงบนเชลฟ์เพื่อสร้างยอดขายได้ รวมถึงเทรนด์ของการทำอาหารที่บ้านที่ยังเติบโต เนื่องจากลูกค้าบางส่วนยังกังวล และบางออฟฟิศที่ยังคงให้ทำงานอยู่บ้าน หรือโรงเรียนที่ยังไม่ได้เปิดเต็มที่ 100% แม้ว่าโชห่วยจะไม่ใช่ตลาดสด ที่คนมาซื้อเนื้อสัตว์หรือผักผลไม้ แต่ช่องว่างที่เกิดขึ้น คือ ผู้บริโภคมักจะลืมซื้อสินค้าชิ้นเล็ก ๆ อย่างกระเทียม ซอสปรุงรส พริกไทย ฯลฯ การมีสินค้าเหล่านี้ก็จะช่วยเติมเต็มได้

“ต้องปรับตัวให้ทันว่าอะไรคือความต้องการของลูกค้า และอะไรคือสิ่งที่ลูกค้าไม่ต้องการแล้ว อะไรที่ไม่ควรขาย เพราะมันคือการบริหารสต๊อก การสั่งมาเยอะ ๆ จำนวนเท่า ๆ กัน แล้วหวังว่าจะขายได้แบบเมื่อก่อน วันนี้ไม่ได้แล้ว ธุรกิจเปลี่ยนไป ไม่จำเป็นต้องซื้อเป็นโหล การตามลูกค้าให้ทันมีความสำคัญมากในวิกฤต”


นอกจากนี้การตั้งราคาก็ต้องดูความเหมาะสม เพราะจากนี้ไปลูกค้าจะมีเงินน้อยลง เนื่องจากเศรษฐกิจของประเทศยังน่ากังวล จากการพึ่งพาการส่งออกและนักท่องเที่ยวสูง ทำให้มีแนวโน้มที่คนจะระวังการใช้จ่ายมากขึ้น