“พานาโซนิค” ทุ่มลงทุนครั้งใหญ่ รุก “ซับสคริปชั่น” สร้างรายได้

คอลัมน์ Market move

โมเดลการสร้างรายได้แบบซับสคริปชั่น (subscription) หรือการเป็นสมาชิก ซึ่งสร้างรายได้แบบต่อเนื่องเป็นวงรอบรายเดือนหรือรายปีนั้น เป็นหนึ่งในโมเดลธุรกิจที่มาแรง

หลังความสำเร็จของบริการซับสคริปชั่นรูปแบบต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเน็ตฟลิกซ์, สปอตทิฟาย รวมถึงเพลย์สเตชั่นพลัส บริการซับสคริปชั่นด้านเกมของโซนี่ หนึ่งในแหล่งรายได้ที่ช่วยให้โซนี่กลับมามีกำไรอีกครั้ง และทำให้หลายบริษัทพยายามปรับโมเดลธุรกิจหันสร้างรายได้จากการซับสคริปชั่น แทนการขายสินค้าเป็นรายชิ้นเหมือนในอดีต หนึ่งในนั้นคือ “ซีเมนส์” (Siemens) ยักษ์อุตสาหกรรมสัญชาติเยอรมัน ที่ตัดสินใจขายธุรกิจอุปกรณ์สื่อสารและเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านทิ้ง พร้อมหันโฟกัสเทคโนโลยีโรงงานอัตโนมัติแทนจนประสบความสำเร็จในปัจจุบัน

ล่าสุด “พานาโซนิค” หนึ่งในยักษ์อุตสาหกรรมสัญชาติญี่ปุ่น เป็นอีกรายที่สนใจนำโมเดลซับสคริปชั่นมาใช้สร้างรายได้

สำนักข่าว “นิกเคอิ เอเชียน รีวิว” รายงานว่า “พานาโซนิค” พยายามปรับโมเดลธุรกิจหันมาเน้นการสร้างรายได้แบบต่อเนื่องทั้งจากการซับสคริปชั่น และรูปแบบอื่น ๆ ที่คล้ายกัน ให้กลายเป็นหนึ่งในแหล่งรายได้หลัก

อย่างไรก็ตาม ยักษ์อุตสาหกรรมมีแนวทางที่ต่างจากผู้เล่นรายอื่น ๆ โดยไม่ได้มุ่งจับลูกค้าทั่วไป ด้วยความบันเทิงเหมือนรายอื่น ๆ แต่เล็งรุกตลาดลูกค้าองค์กรโดยเฉพาะธุรกิจโลจิสติกส์ที่กำลังมาแรง และโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ ด้วยการให้บริการซับสคริปชั่นด้านการบริหารจัดการคลังสินค้า และการขนส่ง

“ยาสุยูคิ ฮิกูจิ” ผู้บริหารอาวุโสของกลุ่มธุรกิจคอนเน็กต์โซลูชั่น บริษัท พานาโซนิค อธิบายแนวคิดเบื้องหลังทิศทางใหม่นี้ว่า โอกาสทางธุรกิจนั้นมักจะพบได้จากการแก้ปัญหาใน 3 สถานที่ คือ ที่ที่สินค้าถูกผลิต, ขนย้าย และวางขาย

หนึ่งในความเคลื่อนไหวตามแนวทางใหม่นี้ คือ การทุ่มลงทุนมูลค่า 800 ล้านเหรียญสหรัฐ ใน “บลูยอนเดอร์” (Blue Yonder) หนึ่งในผู้ให้บริการซอฟต์แวร์สำหรับบริหารซัพพลายเชนรายใหญ่ของสหรัฐ ที่มีจุดแข็งเป็นการใช้ปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ มาช่วยวิเคราะห์หาปัญหาในระบบซัพพลายเชนของลูกค้า พร้อมเสนอโซลูชั่นเพิ่มประสิทธิภาพ โดยคิดค่าบริการแบบรายปี รวมกับโบนัสเมื่อสามารถเพิ่มรายได้ให้ลูกค้าสำเร็จ

ที่ผ่านมาพานาโซนิคเป็นหนึ่งในลูกค้าของบลูยอนเดอร์ เป็นที่มาของการพัฒนาโปรแกรมบริหารสต๊อกสินค้าที่ใช้ในกลุ่มธุรกิจคอมพิวเตอร์แล็ปทอปของพานาโซนิค ช่วยให้สามารถสต๊อกชิ้นส่วนต่าง ๆ ในจำนวนใกล้เคียงกับดีมานด์

โดยเร็ว ๆ นี้ พานาโซนิคเตรียมเปิดตัวบริการที่มาจากการผนวกความเชี่ยวชาญด้านซอฟต์แวร์และเอไอของบลูยอนเดอร์กับไลน์อัพสินค้าของพานาโซนิค เช่น กล้องวงจรปิด ไปจนถึงโนว์ฮาวด้านระบบนำทางของรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติ และระบบวิเคราะห์ภาพ รวมถึงระบบอำนวยความสะดวกด้านโลจิสติกส์

ตัวอย่างเช่น ระบบช่วยเหลือการจัดเรียงสินค้า ที่กล้องวงจรปิดบนเพดานจะอ่านบาร์โค้ดบนกล่องสินค้า และเครื่องโปรเจ็กเตอร์ที่ติดบนเพดานเช่นกันจะฉายตำแหน่งเชลฟ์ที่จะต้องนำกล่องสินค้าไปเก็บ ช่วยให้พนักงานคลังทำงานได้รวดเร็ว และผิดพลาดน้อยลง

“นาโอกิ ชิราโทริ” ผู้บริหารของบลูยอนเดอร์สาขาญี่ปุ่น อธิบายว่า บริการใหม่นี้ อุปกรณ์ต่าง ๆ ของพานาโซนิคจะเข้ามาช่วยเก็บข้อมูลด้านต่าง ๆ เช่น เส้นทางการขนย้ายสินค้าในโรงงาน โกดัง หรือร้านค้าของลูกค้า เพื่อช่วยให้เอไอสามารถระบุปัญหา และเสนอโซลูชั่นได้แม่นยำและมีประสิทธิภาพมากขึ้น

นอกจากภาคอุตสาหกรรมแล้ว พานาโซนิคยังเล็งทำตลาดวงการที่อยู่อาศัยด้วยเช่นกัน ด้วยการดึงตัวอดีตผู้บริหารกูเกิลมาประจำในฝ่ายพัฒนาธุรกิจ หวังช่วยหนุนการพัฒนาระบบซอฟต์แวร์สั่งงานเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ต่าง ๆ ในบ้าน

การร่วมมือกับบลูยอนเดอร์น่าจะเป็นเพียงก้าวแรกของเส้นทางการปั้นรายได้จากซับสคริปชั่นของพานาโซนิค

ต้องรอดูกันว่ายักษ์อุตสาหกรรมจะมีการเดินหมากตาต่อไปอย่างไร