สปอนเซอร์-ธุรกิจกุมขมับ อนาคต “โอลิมปิก” เลือนราง

กีฬาโอลิมปิก

หากไม่มีการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เกิดขึ้น ช่วงสุดสัปดาห์นี้ผู้คนทั่วโลก รวมถึงชาวไทยคงจะได้ชมความอลังการของพิธีปิดมหกรรมกีฬาแห่งมวลมนุษยชาติ “โตเกียว โอลิมปิก 2020” กันแล้ว

แต่จากสถานการณ์การระบาดในหลาย ๆ ประเทศที่ยังรุนแรง หลายประเทศสร่างซาลงแต่ก็กลับมาระบาดรอบใหม่ รวมถึงเจ้าภาพอย่างญี่ปุ่นต้องเผชิญกับการระบาดรอบ 2 ยิ่งทำให้ความเป็นไปได้ของการจัดกีฬาโอลิมปิกในปีหน้ายิ่งเลือนรางเต็มที

ในสถานการณ์นี้นอกจากนักกีฬาและผู้ชมแล้ว บรรดาธุรกิจในญี่ปุ่นที่ทุ่มเม็ดเงินมหาศาลเพื่อสิทธิการเป็นสปอนเซอร์ของการแข่งขัน รวมถึงธุรกิจท้องถิ่นที่เตรียมรับดีมานด์จากนักท่องเที่ยว เป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก เนื่องจากกว่าที่คณะกรรมการโอลิมปิกสากล หรือไอโอซี จะมีมติเลื่อนการแข่งขัน

เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2563 ผู้ประกอบการแต่ละรายต่างลงทุนไปเต็มที่แล้ว ไม่ว่าจะในรูปแบบสินค้า และการเตรียมพร้อมด้านอื่น ๆ ไปจนถึงค่าสปอนเซอร์ เช่นเดียวกับโรงแรมที่ต้องถูกยกเลิกการจองกะทันหัน

โดยมีการประเมินว่าญี่ปุ่นลงทุนไปกับการจัดโอลิมปิกแล้วกว่า 1.2 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ ในเวลา 6 ปีที่ผ่านมา และการเลื่อนกำหนดการที่เกิดขึ้นเป็นการบีบให้ผู้เกี่ยวข้องจำเป็นต้องลงทุนเพิ่มในช่วง 1 ปีนี้ แต่ความไม่ชัดเจนว่าปีหน้าจะสามารถจัดงานได้หรือไม่ ประกอบกับสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัวในปัจจุบัน ทำให้บรรดาสปอนเซอร์ และแบรนด์ที่หวังรับอานิสงส์จากมหกรรมกีฬาโลกครั้งนี้ต่างไม่กล้าลงทุนเพิ่ม

ทำให้ปัจจุบันธุรกิจเหล่านี้นอกจากต้องหาทางจัดการกับสินค้าธีมโอลิมปิกที่ผลิตออกมาแล้ว ยังต้องตัดสินใจว่า จะเสี่ยงลงทุนต่อกับกีฬาโอลิมปิกที่อาจไม่ได้จัดครั้งนี้หรือไม่

สำนักข่าวนิกเคอิ เอเชียน รีวิว ได้รายงานถึงสถานการณ์นี้ว่า ผู้ประกอบการแต่ละรายได้รับผลกระทบในระดับต่าง ๆ กัน เนื่องจากสปอนเซอร์การแข่งขันโอลิมปิกแบ่งออกเป็นหลายรูปแบบ ตั้งแต่สปอนเซอร์ท้องถิ่น ซึ่งในการแข่งขันครั้งนี้มีธุรกิจญี่ปุ่นจำนวน 62 ราย เซ็นสัญญาระดับนี้พร้อมลงทุนเป็นมูลค่ารวมกันมากกว่า 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ แลกกับสิทธิการใช้การแข่งขันมาทำตลาดเป็นเวลานาน 6 ปี

ขณะที่สปอนเซอร์รายใหญ่อย่าง “โตโยต้า มอเตอร์” เป็น 1 ในพาร์ตเนอร์ระดับเวิลด์ไวด์ 14 รายของไอโอซี ที่แม้จะไม่เปิดเผยตัวเลขอย่างเป็นทางการ แต่เชื่อกันว่ายักษ์ใหญ่ยานยนต์ทุ่มเงินเพื่อสัญญาระยะยาว 8 ปีนี้ไปกว่า 800 ล้านเหรียญสหรัฐแล้ว

นอกจากนี้ยังมีสปอนเซอร์ระดับเทียร์ 2 ที่ต้องจ่ายเงินอย่างน้อย 9.4 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี แลกกับสิทธิติดโลโก้โอลิมปิกในสินค้า ตามด้วยสปอนเซอร์ระดับทองอีก 15 ราย อาทิ ฟูจิตสึ เอสิกส์ แคนอน อาซาฮี และอื่น ๆ ที่ต้องจ่ายเงินประมาณรายละ 128 ล้านเหรียญสหรัฐเพื่อสิทธิการทำตลาดแบบในช่วงเวลาหลายปี

นอกจากเม็ดเงินที่ลงทุนไปแล้ว บางรายที่เป็นสปอนเซอร์ด้านสิ่งของเครื่องใช้สำหรับนักกีฬา-การแข่งขัน ยังต้องหาทางจัดการกับสินค้าที่ผลิตขึ้นมาแล้วด้วย “โมโตคุนิ ทาคาโอกะ” ผู้ก่อตั้งบริษัท แอร์วีฟ (Airweave) ซึ่งได้สิทธิผลิตที่นอนสำหรับหมู่บ้านนักกีฬารวม 1.8 หมื่นชุด กล่าวว่า หากการแข่งถูกยกเลิก การจัดการกับผ้านวมจะเป็นปัญหาใหญ่ เพราะมีโลโก้โอลิมปิกอยู่จึงไม่สามารถนำไปวางขายทั่วไปได้ เพราะติดข้อกำหนดของไอโอซี ในขณะที่ฟูกซึ่งผลิตจากวัสดุเดียวกับเอ็นตกปลาสามารถนำมาหลอมกลับเป็นวัตถุดิบได้

ด้านสายการบิน “ออล นิปปอน แอร์เวย์” ที่หวังจะสร้างรายได้จากนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้า-ออกประเทศในช่วงมหกรรมกีฬาต้องเปลี่ยนแผนหันมาพยุงธุรกิจให้อยู่รอดในช่วงโควิด-19 แทน โดยโฆษกของบริษัทกล่าวว่า ตอนนี้
ขอโฟกัสกับการประคองธุรกิจให้รอดได้ถึงสิ้นปีก่อน แล้วเรื่องโอลิมปิกค่อยว่ากันหลังจากนั้นขณะที่ “อิมพีเรียล โฮเทล” (Imperial Hotel) บริษัทผู้บริหารโรงแรมหรูหลายแห่งในญี่ปุ่น ยังรอการเจรจากับคณะกรรมการจัดงานเรื่องค่าใช้จ่ายกว่า 15 ล้านเหรียญสหรัฐ จากการยกเลิกการจองห้องพักจำนวนถึง 600 ห้อง จาก 931 ห้องของสาขาโตเกียว ที่เตรียมไว้รับรองเจ้าหน้าที่ไอโอซีในช่วงการแข่งขันโอลิมปิกปีนี้แม้แต่ธุรกิจท้องถิ่นก็ได้รับผลกระทบ

โดย “ชิเกมิ ฟูจิ” ประธานสหพันธ์การท่องเที่ยวอาซากุสะ และเจ้าของกิจการร้านข้าวเกรียบที่เปิดมานานกว่า 135 ปี กล่าวว่า เดิมเราหวังให้โอลิมปิกช่วยดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาทั้งในระยะสั้นและระยะยาว แต่ตอนนี้การเลื่อนกำหนดการและโรคระบาดทำให้ผู้ประกอบหลายรายต้องเร่งหาทางระบายสินค้าที่เตรียมไว้แทน

นอกจากนี้ยังเริ่มเกิดกระแสสนับสนุนให้ยกเลิกการแข่งขันขึ้นในญี่ปุ่นอีกด้วย โดยเมื่อปลายเดือนมิถุนายน สำนักข่าว “เกียวโด นิวส์” ของญี่ปุ่น ได้ทำโพลสำรวจความเห็นของประชาชนในกรุงโตเกียว พบว่า 50% เห็นว่าควรเลื่อนการจัดโอลิมปิกออกไปอีก หรือไม่ก็ยกเลิกไปเลย ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย และภาระค่าใช้จ่ายที่จะตกกับประชาชนผู้จ่ายภาษีช่วง 11 เดือนที่เหลือนี้บรรดาสปอนเซอร์ยังต้องวุ่นกับการแก้ปัญหาที่มาพร้อมกับการเลื่อนจัดงาน พร้อมลุ้นระทึกว่าโตเกียว โอลิมปิก 2020 จะยังได้จัดอยู่หรือไม่