เดอะมอลล์เด้งรับค้าปลีกฟื้น ทุ่มงบลงทุนปั้น “ดิเอ็มดิสทริค”

แฟ้มภาพ
“เดอะมอลล์ กรุ๊ป” เดินหน้าลงทุนแผนดิ เอ็มดิสทริค เคาะกำหนดรีโนเวตเอ็มโพเรียม ปี 2564 ชูคอนเซ็ปต์ใหม่ช็อปไร้รอยต่อ หลังทุ่ม 200 ล้านเสริมแกร่งเอ็มควอเทียร์ จับมือสถานศึกษาผุดโซน “EM JOY” หวังจับกลุ่มครอบครัวเด็กเล็ก-สูงวัย ช่วยปั้นยอดใช้จ่ายช่วงไตรมาส 4


นางสาวอรธิรา ภาคสุวรรณ รองกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายพัฒนาธุรกิจ ศูนย์การค้า ดิ เอ็มโพเรียม และดิ เอ็มควอเทียร์ ในเครือเดอะมอลล์ กรุ๊ป เปิดเผยว่า ขณะนี้ธุรกิจค้าปลีกในย่านสุขุมวิทมีแนวโน้มการฟื้นตัวที่ดี เนื่องจากเป็นย่านที่อยู่อาศัย และผู้บริโภคมีความมั่นใจพร้อมจับจ่าย สะท้อนจากจำนวนผู้ใช้บริการศูนย์ และยอดใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องตั้งแต่คลายล็อกดาวน์จนกลับมาใกล้ระดับปกติแล้วที่ 1-1.2 แสนคนต่อวัน โดยเม็ดเงินหลักมาจากกลุ่มวัยทำงานทั้งชาวไทยและต่างชาติที่ทำงานในไทย ซึ่งเริ่มกลับมาใช้บริการตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคม เช่นเดียวกับด้านผู้ประกอบการที่ยังเดินหน้าต่อเนื่อง ทำให้ยอดเช่าพื้นที่ของศูนย์ อยู่ในระดับมากกว่า 90% และมีการจองพื้นที่ลานกิจกรรมเต็มตั้งแต่ 12 สิงหาคม ไปจนถึงสิ้นปี

“การฟื้นตัวนี้ส่วนหนึ่งมาจากการห้ามเดินทางข้ามประเทศ ที่ทำให้นักช็อประดับบนกำลังซื้อสูงซึ่งเดิมนิยมไปท่องเที่ยว-จับจ่ายในต่างประเทศ หันมาช็อปในประเทศไทยแทน จนยอดขายของบางร้านสูงขึ้นกว่าปกติ เชื่อว่าหากไม่มีการระบาดรอบ 2 จำนวนลูกค้าและการจับจ่ายน่าจะกลับสู่ภาวะปกติได้ในช่วงไตรมาส 4 ยกเว้นเพียงกลุ่มร้านอาหารที่ต้องจับตา และให้ความช่วยเหลือ เนื่องจากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปทำอาหารเอง หรือใช้บริการดีลิเวอรี่มากขึ้น ทำให้รายที่ไม่เป็นเชนขนาดใหญ่เริ่มขาดสภาพคล่อง”

นางสาวอรธิรากล่าวต่อไปว่า สำหรับบริษัทเตรียมรับแนวโน้มการฟื้นตัวดังกล่าว ด้วยการหันโฟกัสลูกค้ากลุ่มครอบครัวที่มีเด็กเล็ก ซึ่งแม้ยอดใช้จ่ายเฉลี่ยต่อคนจะอยู่ที่ประมาณ 1.6 หมื่นบาท ต่ำกว่ากลุ่มวัยทำงาน แต่โดดเด่นด้านจำนวนคนซึ่ง 1 ครอบครัวจะมาใช้บริการครั้งละ 3-4 คนขึ้นไป และใช้เวลาในศูนย์เฉลี่ย 3 ชั่วโมง ทั้งช็อปปิ้ง, ทานอาหาร ฯลฯ โดยได้ทุ่มงบฯ 200 ล้านบาท รีโนเวตพื้นที่ชั้น 2 ของเอ็มควอเทียร์ ด้วยการย้ายโซนไทยดีไซเนอร์ ไปที่เอ็มโพเรียม และเปิดโซน “เอ็ม จอย” (EM JOY) ซึ่งเป็นโซนรวมสถานศึกษา-เสริมทักษะเด็กขึ้นแทน มีกำหนดเปิดในเดือนตุลาคม 2563 นี้ ด้วยจุดขายด้านความหลากหลาย ทั้งสถาบันภาษา, ทักษะไอที, ดนตรี, การเต้น, กีฬา ฯลฯ ซึ่งมีคอร์สสำหรับเด็ก และผู้ใหญ่ ไปจนถึงสูงวัย รวมถึงบริการอย่าง

ร้านตัดผมเด็ก และร้านอาหาร พร้อมใช้งบฯการตลาดอีก 100 ล้านบาท ในช่วงไตรมาส 4 เพื่อสร้างการรับรู้ และกระตุ้นการจับจ่ายให้กับทั้งโซนใหม่และตัวศูนย์คาดว่ากลยุทธ์ดังกล่าวจะสามารถเพิ่มจำนวนลูกค้ากลุ่มครอบครัวที่ปัจจุบันมีสัดส่วนประมาณ 30% และเพิ่มการมาใช้บริการในวันธรรมดา รวมถึงยืดระยะเวลาที่ลูกค้ากลุ่มนี้ใช้ในศูนย์ให้ยาวนานขึ้นเป็นอย่างน้อย 5 ชั่วโมง เพื่อเพิ่มโอกาสสร้างรายได้ให้สูงขึ้น


ขณะเดียวกัน เดินหน้าแผนสร้าง “ดิ เอ็มดิสทริค” (The EM District) ต่อเนื่อง ด้วยการเตรียมรีโนเวตเอ็มโพเรียม ช่วงครึ่งหลังของปี 2564 ในแบบสลับปิดพื้นที่บางส่วนจนแล้วเสร็จในปี 2565 ในคอนเซ็ปต์ใหม่ การช็อปไร้รอยต่อ เช่น เลิกแบ่งโซนดีพาร์ตเมนต์และพลาซ่า รวมถึงปรับไลน์อัพผู้เช่า และตกแต่งภายในใหม่ให้ทันสมัยมากขึ้น แต่ยังคงโพซิชั่นแหล่งช็อปปิ้งระดับลักเซอรี่เช่นเดิม คาดว่าจะใช้งบฯไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท ส่วนความคืบหน้าของดิ เอ็มสเฟียร์ ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 10% โดยอยู่ระหว่างก่อสร้างชั้น G ซึ่งเป็นงานก่อสร้างใต้ดินชั้นสุดท้าย และหลังจากนี้ความคืบหน้าจะเร็วขึ้น และสามารถเปิดตัวได้ในต้นปี 2566 ตามกำหนด