Passion to Profit กว่าจะเป็น “ปัญญ์ปุริ” ก่อนจะฝัน…เราต้องทำก่อน

กว่าจะถึงวันนี้ กว่าจะเป็นแบรนด์ปัญญ์ปุริ ไม่ใช่เรื่องง่ายแต่ก็ใช่ว่าจะทำไม่ได้ “วรวิทย์ ศิริพากย์” เจ้าของแบรนด์ปัญญ์ปุริ ชายหนุ่มที่ครั้งหนึ่งเคยรุ่งเรืองใน Wall Street ก่อนพลิกชีวิตจากเหตุการณ์ 911 วันนี้เขาทำให้ปัญญ์ปุริ ติดลมบนไม่เพียงเฉพาะในเมืองไทยแต่ไกลไปทั่วโลก

บนเวทีสัมมนา “Passion to Profit” ประชาชาติธุรกิจ ร่วมกับธนาคารไทยพาณิชย์ SCB เมื่อวันที่ 27 กันยายนที่ผ่านมา “วรวิทย์” เล่าถึงแรงบันดาลใจในวันนั้นกว่าจะมาเป็นแบรนด์ “ปัญญ์ปุริ” ในวันนี้ ว่า ตอนนั้นผมเป็นแมเนจเมนต์คอนซัลแตนต์ เป็นพนักงานทั่วไปในนิวยอร์ก ต้องไปอยู่กับลูกค้าที่ตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ ปกติตึกออฟฟิศอยู่ชั้นที่ 63 แต่วันนั้นผมโชคดีลงมาชั้น 5 พอดี ก็เลยรอดชีวิตออกมาได้

วินาทีนั้นผมจำได้ว่าความคิดแรกที่เข้ามาในหัวตอนเห็นคนตกลงมาคือ ทุกคนตายเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นใคร เป็นนักการเงินเหมือนเราก็ตาม ก็ตั้งคำถามตัวเองว่า…ความสุขมันคืออะไร

ตอนผมทำที่นิวยอร์กจริง ๆ ต้องบอกว่าทำไปเครียดไป ไม่ค่อยมีความสุขเท่าไร ช่วงนั้นโปรเจ็กต์ที่ทำเยอะ ๆ คือการไล่คนออก เขาจะวิเคราะห์ว่าบริษัทนี้มันได้ประสิทธิภาพพอหรือยัง คนมันกลายเป็นมูลค่าทางการเงินไป เราเซฟเงินให้ลูกค้าได้หลายสิบล้านเหรียญ พอเกิดเหตุการณ์แบบนี้มันทำให้ผมมองว่าชีวิตมันเป็นตัวเลขไม่ได้

ช่วงนั้นก็มีเหตุการณ์หลายอย่างเกิดขึ้นกับชีวิต ก่อนหน้านี้สมัครเรียนที่อิตาลีเกี่ยวกับการบริหารลักเซอรี่กูดส์ มันต้องใช้ สกิลธุรกิจ แต่ขณะเดียวกันก็ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์เยอะ ก็เลยคิดว่ามันน่าจะตรงกับเรา พอเกิดเหตุการณ์ 911 ก็ได้ทุนไปเรียนพอดี ฟรีด้วย ก็เหมือนเปิดประตูบานใหม่ และได้อินสไปเรชั่นมามาก ซึมซับการทำธุรกิจและแพสชั่นเยอะมาก

“คนอิตาลีทำตามแพสชั่นสูง เค้ามีศิลปะการใช้ชีวิตมาก เป็นชาติที่รวมธุรกิจกับศิลปะไว้ได้ดี ก็มาประกอบเป็นตัวเราในทุกวันนี้”

ตอนทำทีซิส ผมเลือกธุรกิจสุขภาพความงามสปา เพราะในเมืองไทยยังไม่ค่อยมี ก็เลือกธุรกิจนี้มาวิเคราะห์ว่ามันจะมาเป็นธุรกิจหลัก และแข็งแรงให้กับเมืองไทยได้ ซึ่งพอทำงานที่อิตาลีนาน ๆ ไป ผมก็เผลอกลับไปอยู่ในวงจรเดิม ตั้งคำถามกับตัวเอง ชีวิตมันอยู่ตรงไหน มีความรู้สึกว่าบางอย่างมันไม่ตอบโจทย์เรา

ถ้าวันไหนรู้สึกไม่โอเคกับวันจันทร์ ต้องเริ่มคิดแล้ว ก็เลยตัดสินใจกลับมาเมืองไทย

แต่จริง ๆ แล้ว ผมไม่รู้ว่าชอบสปาอย่างไร แต่ชอบเครื่องหอมมาตั้งแต่เด็ก ๆ เคยได้ทุนไปเรียนที่แคนาดา อากาศหนาวมาก ก็ต้องใช้เครื่องหอมดูแลผิวเสมอ แล้วผมแพ้ง่าย ก็ต้องหาเครื่องหอมดี ๆ มันเหมือนเป็นมาโดยไม่รู้ตัว

พอกลับมาเมืองไทย เคยได้ไปใช้บริการสปาโรงแรมที่มีชื่อเสียง แปลกใจว่าทำไมไม่มีของไทยเลย มีแต่ฝรั่งหมด มันเกิดเพนพอยต์บางอย่างว่าทำไมไม่มีผลิตภัณฑ์ของคนไทยไปอยู่ในสถานที่แบบนี้เลย ผมว่าคุณภาพของบ้านเรามันมีอยู่ แต่ยังไม่ถูกเอามาตีความให้มันใช้ได้ สองคือแพ็กเกจจิ้ง สามคือแบรนดิ้ง อยู่ดี ๆ ความคิดพวกนี้ก็กลับมา

ตอนนั้นมีเงินอยู่นิดนึงครับ ตอนเรียนเอ็มบีเอเขาบอกว่าก็ไปกู้มา แต่เอาจริง ๆ ผมไม่กล้ากู้ครับ เลยคิดว่ามีเงินอยู่แสน ทำยังไงให้มันเกิดได้ ก็ไปสมัครเทรดแฟร์ กรมส่งเสริมการส่งออก มีเวลา 5 เดือนเซตอัพทุกอย่าง เรียกว่าได้สกิลของคอนซัลแตนต์มาช่วย และความช่วยเหลือของพี่ ๆ น้อง ๆ

เราต้องมองภาพว่าอยากให้แบรนด์เป็นยังไง เริ่มจากห้องนอนตัวเองและคอมฯ 1 ตัว ไปเช่าออฟฟิศที่ตึกบันยันทรี มีออฟฟิศที่ถูกต้อง ผมว่าสำคัญมาก แต่เป็นออฟฟิศเล็ก ๆ นั่งได้ 5 คน เรื่องอิมเมจสำคัญมากสำหรับลักเซอรี่แบรนด์ คนที่เขาเข้ามาเสพแบรนด์เราก็ได้

อีโมชั่นนอลตรงนั้นไปด้วย ตอนนั้นไม่มีอะไรเลย มีเท่าที่เห็นในบูท มีแต่โปรโตไทป์ บอกเขาว่าไม่ขาย งานนี้โชว์เฉย ๆ แต่ได้ออร์เดอร์มาจริง ๆ ครับ ทั้งจากในและต่างประเทศ

วันนั้นจึงเป็นวันแรกที่เริ่มธุรกิจเลยจริง ๆ ตอนนั้นส่งออกก็ยังทำไม่เป็น แต่รับออร์เดอร์มาก่อน แล้วเดี๋ยวว่ากัน

เราไม่มีบัดเจตในการแอดเวอร์ไทซิ่งเลย ทุกอย่างบีโลว์เดอะไลน์ และปากต่อปาก เพราะมันนิชจริง ๆ การตลาดจะไปสู้แบรนด์ใหญ่ลักเซอรี่จริง ๆ ไม่ได้ สมัยนั้นยังไม่มีออนไลน์ขนาดนี้ ก็กลับไปอยู่ที่รีเทลโลเกชั่น การมีโลเกชั่นที่ถูกต้อง

เป็นเรื่องสำคัญ ก็ไปได้ที่เกษร คนจะมองว่าคนน้อยหรือเปล่า 3×2 เมตรครับ แต่เป็นที่ที่คนเดินจากรถไฟฟ้าต้องผ่าน ก็ได้ทราฟฟิกระดับนึง ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีครับ จากนั้นก็เริ่มได้ที่เซ็นทรัลชิดลม และดิ เอ็มโพเรียม

ผมชัดเจนว่า เราต้องไปอยู่ตรงไหน สมัยนั้นห้างที่ดังมาก ๆ คือ เอ็มโพเรียมกับชิดลม เขาให้พื้นที่โปรโมชั่นมา ก็ให้พ่อแม่พี่น้องมาซื้อหมด ทำไงก็ได้ให้มันมียอด สมัยนั้นทำเองทุกอย่าง

ตอนผมเริ่มทำสบู่เป็นแบรนด์ที่ทุกคนต้องทำ ต้องเปิดตัวด้วยอันนี้ ผมคิดว่าจะไม่ทำเลย ถ้าทำดีกว่าไม่ได้ เพราะมันไม่มีเหตุผลอะไรที่ลูกค้าจะเดินมาซื้อสบู่เราแล้วเหมือนกับแบรนด์ข้าง ๆ ถ้าจะทำเราต้องดีกว่า จนผ่านไป 4-5 ปี ผมเจอส่วนผสมที่เป็นเกษตรอินทรีย์ มันทำให้สบู่นี้แพงมาก อาจไม่เมกเซนส์เลย แต่ผมอยากใช้มาก ดีต่อสิ่งแวดล้อม มันพรีเซนต์ทุกอย่างที่เรามี ผมอยากทำ ในนั้นมันมีผสมน้ำมันจากดอกมะลิจากฝรั่งเศส ไม้จันทน์ เกษตรอินทรีย์ วัตถุดิบส่วนใหญ่มาจากฝรั่งเศส แต่เราจะเอาเหล่านี้มาเล่าเรื่องให้เป็นไทย ๆ ได้อย่างไร การเล่าเรื่องนี่สำคัญมาก แบรนด์สตอรี่ที่ให้คนจดจำนี่สำคัญ

ผมเอาตัวเองเป็นคอนซูเมอร์ สมัยก่อนไม่มีเงินทำรีเสิร์ช ผมเอารสนิยมของผม ผมว่าคนที่เริ่มทำธุรกิจไม่ได้มีเงินไปทำรีเสิร์ชอะไรเท่าไหร่ ผมเริ่มจากทำรีเสิร์ช เข้าห้องสมุด ไปงานสัมมนาเยอะมาก ผมต้องไปเติมพลังให้ตัวเองเสมอ บวกกับความชอบส่วนตัว

และอีกข้อ สกิลบางอย่างตอนเป็นคอนซัลต์ มันทำให้เห็นแพตเทิร์นบางอย่าง ในความวุ่นวายมันยังมีช่องว่าง ผมเชื่อว่าการที่ทำอะไร ต้องเอาความชอบของเรามาใช้ ผมไปอยู่ ตปท.มาเข้าใจความชอบของทั้งคนตะวันออกตะวันตก ก็คิดว่าจะต้องทำเอ็กซ์ปอร์ต มันต้องทำครับ อาจจะเป็นความใฝ่ฝันส่วนตัวตั้งแต่เด็ก ๆ ว่าอยากเห็นแบรนด์ไทยไประดับโลก

ตอนนี้ “ปัญญ์ปุริ” ในเวทีโลก ยังเล็กอยู่มากครับ เมื่อเทียบแบรนด์ระดับโลก ส่งออกไป 20 กว่าประเทศแล้วตอนนี้ และที่ไทยเองก็มีอยู่กว่า 40 สาขาแล้วตอนนี้ อย่างญี่ปุ่นก็เข้าไปอิเซตัน แต่เปลี่ยนโมเดลนะครับ เมื่อก่อนใช้ดิสทริบิวเตอร์ ตอนนี้ไปลงทุนเอง ในประเทศที่เราเชื่อมั่นและมีความรู้พอ แล้วเราก็ไปเปิดแฟลกชิปสโตร์ในญี่ปุ่น ฝรั่งเศส ดูไบ สปามีที่ไทยและปีนัง ล่าสุดเปิดที่พาร์กไฮแอทกรุงเทพฯ

สปาคือกลยุทธ์หนึ่งในการขายของแต่เรายังเป็น “โปรดักต์คอมปะนี” รายได้หลักมาจากผลิตภัณฑ์อยู่แล้ว แต่สปามันช่วยเสริมประสบการณ์ของลูกค้าให้ดีขึ้น และอนาคตเรากำลังจะเป็น “เวลเนสคอมปะนี” การดูแลสุขภาพแบบองค์รวม มีอีโมชั่นนอลและสปิริตเข้ามา

เส้นทางไประดับโลก สมัยนี้คงเทียบได้กับ KOL คีย์โอพีเนี่ยนลีดเดอร์ สมัยก่อนเราเรียกเซเลบมาร์เก็ตติ้ง เราต้องใช้คนกลุ่มนี้มาสื่อสารแบรนด์ของเราให้ออกไป แทนที่จะไปทำตลาดกับคนหมู่มาก เราเลือกคนที่คิดว่าใช่ วิธีการทำก็มีหลายแบบ ทั้งติดต่อโดยตรง พี.อาร์. ช่างแต่งหน้า ช่างทำผม

ผมต้องบอกก่อนว่าผมเป็นคนไม่มีต้นทุน ผมเป็นชนชั้นกลาง พ่อเป็นข้าราชการ แม่ค้าขาย ปกติมาก นามสกุลก็ธรรมดาทั่วไป แต่ต้นทุนที่ผมคิดว่ามีคือต้นทุนจากพ่อและแม่ เรื่องความซื่อสัตย์ซื่อตรงในการทำธุรกิจ พ่อเป็นตำรวจที่ซื่อตรงที่สุดเท่าที่ผมเคยเห็นมา

ต้นทุนที่สองคือ การทำงานหนัก ความเพียรพยายามอย่างไม่ลดละจากแม่ ผมเห็นทั้งสองท่านมาตั้งแต่เด็ก ๆ รู้ว่าฐานะบ้านเราไม่ค่อยมีอะไร จนกระทั่งส่งลูก ๆ ให้เรียนต่างประเทศได้มันพยายามมาก ไม่ได้มีอะไรหล่นมาจากฟ้าเลย พ่อแม่จะบอกเสมอว่าอย่าหวังพึ่งโชคชะตาฟ้าฝนอะไรทั้งสิ้น ถ้าอยากประสบความสำเร็จต้องทำการบ้าน ต้องทำงานหนัก

ในยุคดิจิทัลเราเห็นความสวยงามแบบสำเร็จรูปเร็วมาก แต่เห็นตอนที่เขาสำเร็จแล้ว อย่างเราเอง คนเห็นว่ามันสวยงาม แต่ไม่รู้ว่าเราผ่านอะไรมาบ้าง ชีวิตจริงกว่าถึงจุดนั้นได้มันต้องทำงานหนัก ต้องมีสกิล ต้องบ่มเพาะความรู้ ต้องมีแพสชั่น เรียกว่าก่อนที่จะฝันเราต้องทำก่อน ฝันได้ไม่ผิดนะ ผมก็ฝัน แต่ก่อนที่จะฝันได้ผมผ่านการทำมาในระดับนึง ฝึกฝนในระดับนึงมาแล้ว ก็อยากจะฝากครับ ว่าฝันได้ ฝันไกล ๆ ด้วย ดีแล้ว แต่ก่อนที่จะฝันให้ลงมือทำและสะสม

ผมมองว่าทุกวันคือปัญหาและการแก้ปัญหานะ ต้องออกตัวก่อนว่าผมไม่เคยรู้สึกว่าการทำธุรกิจแล้วมันจะไม่มีปัญหา ที่สนุกกับการทำธุรกิจทุกวันเพราะผมมองว่ามันเป็นโจทย์ในการแก้มากกว่า มองการทำธุรกิจเป็นเกมมาริโอ ทุกคนกำลังเล่นอยู่ในเกมนี้ด้วยกัน ระหว่างทางเราก็ต้องเก็บอาวุธ เก็บแต้มสะสม มันอาจจะยังไม่ได้ใช้ก็ได้ ทุกอย่างที่ทำคือประสบการณ์ครับ ทำสิบครั้งผมว่ามันต้องประสบความสำเร็จสักหนึ่งครั้ง ถ้าล้มอีกครั้งคุณก็ใกล้เส้นชัย ผมว่าการคิดบวกสำคัญมาก ให้เชื่อเสมอว่าการลากเส้นจุดเอไปบีมันไม่ได้มีเส้นเดียว


คนเราเวลาทำสิ่งที่รักเราอยู่กับมัน 24 ชั่วโมงได้ เอาเก็บไปฝันต่อได้ อยากคุยไม่จบ เวลามีปัญหามันไม่อยากวิ่งหนี กลับกัน อยากวิ่งเข้าชนด้วยซ้ำ เพราะเราอยากไปเจอเน็กซต์สเต็ปที่มันดีกว่านี้ พอเรามีเป้าหมายชัดเจน มีแพสชั่น ถ้าเรามันโกล์ชัด ผมว่ามันไม่น่าจะมีปัญหาอะไรหนักเกิน