“คิง”ย้ำแชมป์กอดส่วนแบ่ง 70% น้ำมันรำข้าว

น้ำมันรำข้าวแบรนด์นอกดาหน้าบุก “คิง” ขยับตัวป้องมาร์เก็ตแชร์ เดินหน้าสื่อสารการตลาด ย้ำจุดแข็ง “แบรนด์ไทย คุณภาพดี” หวังรักษาแชมป์ พร้อมเร่งสร้างองค์กรให้เติบโตอย่างยั่งยืน ผนึก “ทีเส็บ” ร่วมโครงการ “ก้าวตามรอยพ่อ ประชุมเมืองไทย อิ่มใจตามรอยพระราชดำริ” หวังขยายต่อจากประสบการณ์สู่การประยุกต์เข้ากับการทำงาน

นายประทีป สันติวัฒนา กรรมการบริหาร บริษัท ไทยร่วมใจน้ำมันพืช จำกัด ผู้ผลิต จัดจำหน่ายผลิตภัณฑ์น้ำมันรำข้าว “คิง” กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันมีแบรนด์น้ำมันรำข้าวจากต่างประเทศเข้ามาตีตลาดในไทยมากขึ้น ทำให้การแข่งขันตลาดนี้สูงขึ้น โดยคิงถือเป็นผู้นำตลาดน้ำมันรำข้าวด้วยส่วนแบ่งประมาณ 70-80% และทิศทางธุรกิจจากนี้จะมุ่งรักษาส่วนแบ่งตลาด ผ่านการจัดกิจกรรมทางการตลาดรูปแบบต่าง ๆ เพื่อสื่อสารให้ผู้บริโภครับรู้ว่า คิงเป็นน้ำมันรำข้าวแบรนด์ไทยและใช้วัตถุดิบไทยรวมถึงเดินหน้าส่งเสริมการตลาดและสร้างการรับรู้อย่างต่อเนื่อง หลังจากปลายปีก่อนได้ลอนช์แคมเปญ “รู้จริง เลือกคิง” ที่ดึง “โอปอล์-ปาณิสรา อารยะสกุล” มาเป็นพรีเซ็นเตอร์ สื่อสารถึงแบรนด์คิง ที่เป็นตัวจริงเรื่องน้ำมันรำข้าว พร้อมทั้งโฆษณาผ่านสื่อต่าง ๆ ทั้งออฟไลน์และออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ก เว็บไซต์ สื่อต่าง ๆ

“ตอนนี้ยังไม่มีแผนจะต่อยอดแบรนด์คิงสู่ผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เพราะต้องการให้ คิง เป็นแบรนด์ที่แข็งแกร่ง สื่อสารถึงแบรนด์ที่ผลิตน้ำมันรำข้าวเท่านั้น ขณะที่อนาคตถ้าจะต่อยอดมาผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่ทำมาจากรำข้าว คงจะใช้แบรนด์อื่น ๆ แทน”

ล่าสุดได้เข้าร่วมโครงการ “ก้าวตามรอยพ่อ ประชุมเมืองไทย อิ่มใจตามรอยพระราชดำริ” ซึ่งสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือทีเส็บได้จัดขึ้น โดยบริษัทได้คัดเลือกพนักงานระดับผู้บริหารจำนวน 30 คน จากพนักงานทั้งหมด 500 คน ใน 3 โรงงาน เพื่อเข้าร่วมโครงการดังกล่าวที่อ่าวคุ้งกระเบน

นายประทีปกล่าวต่อว่า ปัจจุบันกลุ่มน้ำมันรำข้าวคิง ประกอบด้วย 3 บริษัท ได้แก่ บริษัท น้ำมันบริโภคไทย จำกัด ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันรำข้าวภายใต้แบรนด์ คิง และโรงงานสกัดน้ำมันรำข้าว 2 บริษัท คือ บริษัท ไทยร่วมใจน้ำมันพืช จำกัด และบริษัท ไทยร่วมใจโคราช จำกัด โดยมีรายได้จาก 2 ธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจน้ำมันรำข้าวคิง เจาะตลาดผู้บริโภค คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 50% ของรายได้รวม ซึ่งจำหน่ายทั้งในประเทศ และส่งออกแบรนด์ คิง ไปในหลาย ๆ ประเทศ เช่น อเมริกา เกาหลี ออสเตรเลีย ประเทศแถบตะวันออกกลาง รวมทั้งมีการรับจ้างผลิต ส่วนอีกธุรกิจหนึ่ง คือ การนำน้ำมันรำข้าวมาสกัดเป็น แป้งรำข้าว เนยขาวรำข้าว เป็นต้น เพื่อเจาะตลาดอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมอาหารสัตว์ อุตสาหกรรมอาหาร