“โชนัน” ปรับแผนลงทุนสู้ไวรัส ขายแฟรนไชส์-เพิ่มพอร์ตอาหารไทย

ร้านอาหารญี่ปุ่น “โชนัน” ปรับแผนลงทุนสู้ไวรัส เปิดขายแฟรนไชส์ราคาถูก ลงทุนเริ่มต้นแค่หมื่นเดียว อัดแคมเปญฟรี 100 รายแรก พร้อมเปิดแผนขยายสาขาต่อเนื่อง

“โชนัน” ร้านอาหารจานด่วนญี่ปุ่น พลิกตำราสู้ไวรัสโควิด งัด “แชริ่งอีโคโนมี” ช่วยเพิ่มยอดขาย เปิดขายแฟรนไชส์ราคาแสนถูก ลงทุนเริ่มต้นแค่หมื่นเดียว สำหรับค่าซื้อวัตถุดิบ-ปรุงแล้วส่งลูกค้า ดึงร้านอาหาร-โรงแรม ที่ต้องการหารายได้เสริมมาช่วยขายเมนูดัง “ข้าวหน้าเนื้อ” อัดแคมเปญจูงใจ ฟรี 100 รายแรก เผยใบสมัครเพียบ พร้อมเปิดแผนขยายสาขาต่อเนื่อง บุกทั้งในห้าง-มหาวิทยาลัย โฟกัสไซซ์เล็ก เล็งเพิ่มพอร์ตร้านอาหารไทย

นายกุลวัชร ภูริชยวโรดม ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โชนัน จำกัด ผู้บริหารร้านอาหารจานด่วนญี่ปุ่น “โชนัน” (ChouNan) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ที่ผ่านมาผลกระทบจากการล็อกดาวน์ ด้วยการปิดห้างสรรพสินค้า ศูนย์การค้า เพื่อป้องกันและลดการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ทำให้ร้านโชนันที่มีสาขาในห้าง 14-15 สาขา ต้องปิดให้บริการ แต่ยังคงให้บริการเฉพาะช่องทางซื้อกลับบ้าน และดีลิเวอรี่เท่านั้น และทำให้ยอดขายหายไปกว่า 80-90% ขณะเดียวกันก็มีค่าจีพีที่ต้องจ่ายให้ผู้ให้บริการดีลิเวอรี่ที่ค่อนข้างสูง และตลาดมีการแข่งขันสูง

“ก่อนหน้าที่จะเกิดโควิด-19 ช่องทางขายดีลิเวอรี่เติบโตขึ้นมาก แต่ยังไม่เยอะ ตัวเลขอยู่ที่ 2-3% แต่ช่วงโควิดเติบโตขึ้นมา 6-7% หลังจากที่ศูนย์การค้า ร้านอาหารต่าง ๆ กลับมาเปิดขายได้แล้ว ตัวเลขก็เติบโตในระดับนี้ ส่วนยอดขายหน้าร้านก็เริ่มกลับมาดีขึ้น ตอนนี้ลูกค้ากลับมาประมาณ 70% ส่วนอีก 30% ที่ยังไม่กลับมา คาดว่าจะอยู่ที่ทราฟฟิกศูนย์การค้าแต่ละแห่งแต่ละสาขา ตอนนี้ทราฟฟิกของห้าง และโชนันเองก็ยังเน้นการเต็มรูปแบบทั้งขายหน้าร้านและดีลิเวอรี่ควบคู่กันไป”

เร่งปรับตัว-ขายแฟรนไชส์

นายกุลวัชรกล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้บริษัทต้องเร่งปรับตัวเพื่อรองรับการแข่งขันและสภาพตลาดที่เปลี่ยนไป นอกจากการเน้นการบริหารจัดการต้นทุน การลดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่ไม่จำเป็น รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพด้วยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ เข้ามาช่วย อาทิ ระบบการสั่งเมนูอาหารผ่านคิวอาร์โค้ด เพิ่มความสะดวกให้กับผู้บริโภค และช่วยป้องกันการผิดพลาด ตลอดจนการช่วยลดหน้าที่พนักงานให้น้อยลง ขณะเดียวกันก็นำจุดแข็งของร้านอาหารโชนัน ที่เป็นร้านอาหารญี่ปุ่นจานด่วน ที่มีเมนูอาหารหลัก ข้าวหน้าเนื้อ ข้าวหน้าหมู ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี มาใช้ให้เป็นประโยชน์ ในแง่ของการขยายเครือข่ายการให้บริการที่ครอบคลุมมากขึ้น

“ตอนแรกคิดจะทำดีลิเวอรี่ผ่านแพลตฟอร์มของตัวเอง เพื่อตัดคนกลางออกไป แต่เนื่องจากโชนันนั้นมีสาขาเพียง 14 สาขา และไม่ครอบคลุมทุกพื้นที่ จึงทำให้ต้นทุนค่าขนส่งค่อนข้างสูงและมีอุปสรรค ลูกค้าสั่งแล้วอาจจะไม่กลับมาสั่งซ้ำ เพราะค่าส่งแพง จึงกลับมาคิดใหม่ จะทำอย่างไรที่จะสามารถขยายให้มีจำนวนสาขาที่มาก และเร็วที่สุด จึงเกิดไอเดียที่จะขยายด้วยโมเดล sharing economy”

นายกุลวัชรกล่าวว่า เนื่องจากบริษัทมีระบบคุกกิ้ง มีระบบการบริหารจัดการสต๊อกต่าง ๆ ที่ดีอยู่แล้ว จึงเปิดรับสมัครแฟรนไชส์มาเป็นพาร์ตเนอร์ โดยเรียกว่า “โชนัน อีโคซิสเต็ม” เพื่อรับสมัครร้านอาหาร โรงแรม ซึ่งปกติก็จะมีครัว มีพนักงานอยู่แล้ว และต้องการจะมีรายได้เสริมเข้ามาเป็นแฟรนไชส์ โดยลงทุนเริ่มต้นเพียง 1 หมื่นบาท สำหรับค่าซื้อวัตถุดิบจากบริษัทเพื่อนำไปปรุงขาย ส่วนอุปกรณ์ทุกอย่างที่นอกเหนือจากโชนันกำหนดไม่ต้องซื้ออะไรเพิ่ม อาจจะซื้อหม้อหุงข้าวที่สเป็กกำหนด และบริษัทจะมีการเทรนนิ่งให้ทุกขั้นตอน

รวมทั้งโชนันจะมีหน้าที่ทางด้านตลาด โปรโมชั่น ส่วนลด คูปอง การสื่อสารกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ทั้งทางช่องทางออนไลน์และออฟไลน์ หรือในอนาคตคนที่อยู่บ้านและต้องการรายได้เสริมก็สามารถเข้ามาเป็นแฟรนไชส์นี้ได้

นายกุลวัชรอธิบายว่า ทั้งนี้ แฟรนไชส์ที่เปรียบเสมือนเป็นคลาวด์คิตเช่นให้กับโชนัน จะเปิดขายได้เฉพาะช่องทางดีลิเวอรี่เท่านั้น และทำหน้าที่บริหารจัดการสินค้าและจัดส่งอาหารให้ลูกค้าภายในรัศมี 2-3 กิโลเมตร โดยทีมงานของโชนันจะเป็นผู้ส่งออร์เดอร์ให้ หลังจากที่ลูกค้าสั่งออร์เดอร์เข้ามา โดยในเฟสแรกจะเปิดรับสมัครเฉพาะในเขตกรุงเทพฯ ตอนนี้มีใบสมัครเข้ามากว่า 100 ราย และอยู่ระหว่างการคัดเลือก เริ่มจากเช็กมาตรฐานของครัวและโลเกชั่น เพื่อไม่ให้เกิดความซ้ำซ้อน การมีแฟรนไชส์มากขึ้นก็จะเท่ากับว่า โชนันมีสาขาที่ครอบคลุมมากขึ้น และทำให้ค่าส่งจะถูกลง

“การขยายธุรกิจโมเดลแบบนี้ จะทำให้โชนันมีสาขา และครอบคลุมพื้นที่ต่าง ๆ มากขึ้น และมีรายได้เพิ่มขึ้น และเอาค่าใช้จ่ายที่จะต้องจ่าย ทั้งค่าเช่าที่ ค่าจ้างพนักงาน กลับไปเป็นรายได้ให้กับพาร์ตเนอร์ แฟรนไชส์โมเดลนี้ลงทุนน้อย และมีแคมเปญ 100 รายแรก ไม่คิดแฟรนไชฟี ไม่มีค่าเซตอัพฟี เราให้ฟรีหมดทุกอย่าง อยากให้มาลงทุนและเป็นการจูงใจ”

เพิ่มโฟกัสขยายสาขาไซซ์เล็ก

นายกุลวัชรกล่าวต่อไปว่า นอกจากการขยายเครือข่ายด้วยการขายแฟรนไชส์ดังกล่าว บริษัทยังมีแผนจะขยายสาขาเพิ่มอย่างต่อเนื่องในหลากหลายโมเดล ทั้งการเปิดสาขาที่บริษัทลงทุนเอง จะเน้นไปเปิดในพื้นที่มหาวิทยาลัย รวมทั้งศูนย์การค้าก็มองว่าตลาดยังมีช่องว่าง โดยบริษัทจะให้ความสำคัญในเรื่องของโลเกชั่นเป็นพิเศษ และเน้นที่โมเดลสาขาที่เป็นร้านขนาดเล็กมากขึ้น เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มความคล่องตัวในการส่ง รวมถึงสาขาในรูปแบบคีออสก์ ทั้งที่บริษัทลงทุนเองและแฟรนไชส์

ส่วนสาขาใหญ่ก็ยังเปิดอยู่ แต่จะเน้นไปที่โมเดลสโตร์แฟรนไชส์ มีพื้นที่ประมาณ 70-100 ตร.ม. เน้นเปิดในต่างจังหวัดมากขึ้น โดยบริษัทจะเป็นผู้ลงทุนเปิดก่อน เมื่อได้รับการตอบรับดีและสาขาไปได้ดี บริษัทก็จะขายให้ผู้สนใจที่ต้องการลงทุนหรือเป็นแฟรนไชส์ให้เข้ามาดูแลต่อ เบื้องต้นมีแผนจะเปิดสาขารูปแบบนี้อีก 3-5 สาขาทั้งในกรุงเทพฯและต่างจังหวัด จากที่เพิ่งเปิดที่สยามพารากอนเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา นอกจากนี้ยังมีโมเดลของสาขาที่อาจจะเข้าไปเปิดในอาคารสำนักงานหรือคอร์ปอเรต ซึ่งอยู่ระหว่างของการดำเนินงาน ต่อไปนี้จะโฟกัสทุกโมเดลค่อยเป็นค่อยไป

เล็งเพิ่มพอร์ตร้านอาหารไทย

นายกุลวัชรย้ำด้วยว่า ขณะเดียวกัน บริษัทมองไปถึงการเพิ่มพอร์ตโฟลิโอแบรนด์ร้านอาหาร โดยกำลังมองหาแบรนด์ร้านอาหารเข้ามาเพิ่มในพอร์ต โดยกลุ่มที่กำลังมองและสนใจคือ อาหารไทย โดยมองไปถึงการขยายสาขาไปเปิดให้บริการไปตลาดต่างประเทศด้วย

ส่วนด้านการตลาด บริษัทจะเน้นทั้งออนไลน์และออฟไลน์ โดยจะโฟกัสที่โปรดักต์หลัก คือ เมนูข้าวหน้าเนื้อ ด้วยการเชิญบล็อกเกอร์มารีวิว เพื่อประชาสัมพันธ์และโปรโมตผ่านสื่อออนไลน์ พร้อมทำสื่อร่วมกับพาร์ตเนอร์ทั้งค่ายมือถือ และธนาคาร รวมถึงสื่อทีวีต่าง ๆ ที่เชิญไปออกรายการ ควบคู่กับการทำระบบ CRM เพื่อนำข้อมูลหรือดาต้าของลูกค้ามาใช้งานมากขึ้นในทุกมิติ การนำมาวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภค ความถี่ในการสั่ง ฯลฯ เพื่อจะนำมาปรับปรุงเมนู ปรับปรุงบริการ ให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้าได้อย่างตรงจุด