JKN ทุ่มพันล้านซื้อคอนเทนต์ โฟกัสปั้นรายได้ต่างประเทศ

“เจเคเอ็น” กางแผนรองรับแนวโน้มธุรกิจขายคอนเทนต์โต ชู 3 กลยุทธ์ ด้านราคา-การทำตลาด-ช่องทางจำหน่าย ตอบโจทย์ลูกค้า พร้อมเน้นบริหารต้นทุน เพิ่มงบฯซื้อลิขสิทธิ์-เดินหน้าส่งออกคอนเทนต์ เจาะฐานคนดูต่างประเทศ หลังผลประกอบการครึ่งปีแรกสดใสโต 5.37% ลั่นตั้งเป้าขยับสัดส่วนรายได้ในต่างประเทศเพิ่ม 50% ภายใน 3 ปี

นายธีรภัทร เพ็ชรโปรี รองกรรมการผู้จัดการ สายงานการเงินและบัญชี บริษัท เจเคเอ็น โกลบอล มีเดีย จำกัด (มหาชน) หรือ JKN ผู้นำการจัดจำหน่ายลิขสิทธิ์คอนเทนต์รายใหญ่ เปิดเผยถึงผลประกอบการงวดหกเดือนสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2563 ว่า บริษัทมีรายได้รวม 916.67 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.37% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

โดยส่วนใหญ่มาจากธุรกิจการให้บริการและจำหน่ายลิขสิทธิ์คอนเทนต์ ที่พบว่าปีนี้ลูกค้าที่มาซื้อคอนเทนต์ดำเนินธุรกิจการแพร่มากกว่าหนึ่งช่องทาง ส่งผลให้ยอดขายทั้งระบบดิจิทัล เคเบิลและดาวเทียม และช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้นตามไปด้วย ตามด้วยรายได้จากช่องทางบริการธุรกิจโฆษณา ที่มีการขายเวลาโฆษณาเพิ่มมากขึ้น ส่วนกลุ่มธุรกิจการขายผลิตภัณฑ์ยังไม่มีรายได้ สาเหตุหลักมาจากการที่บริษัทไม่มีผลิตภัณฑ์ออกมาจำหน่ายตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการสินค้าที่ยังเหลืออยู่

อย่างไรก็ตาม ในครึ่งปีหลังนี้เชื่อมั่นว่าผลการดำเนินงานจะมีแนวโน้มเติบโตดีกว่าครึ่งปีแรก จากการส่งออกคอนเทนต์ ตลอดจนการบริหารต้นทุนในการซื้อคอนเทนต์ในครึ่งปีหลังนี้คาดว่าน่าจะปรับตัวลดลง เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลทำให้ผู้ผลิตคอนเทนต์ต่าง ๆ มีรายได้

จากค่าโฆษณาลดลง และเมื่อเจเคเอ็นมีการเจรจาขอซื้อสิทธิ์ จึงได้รับมาในราคาที่ถูกลงในจำนวนคอนเทนต์ที่มากขึ้น และได้สิทธิ์นานขึ้นจากเดิม 3 ปี เป็น 5-7 ปี ส่งผลทำให้ในระยะยาวต้นทุนคอนเทนต์ในอนาคตจะลดลง

นายธีรภัทรกล่าวว่า ล่าสุดบริษัทได้ทำสัญญาขายลิขสิทธิ์คอนเทนต์ให้กับประเทศมาเลเซียเพิ่มอีก 1 ฉบับ และจากนี้ยังมีแผนขยายการส่งออกไปยังกลุ่มประเทศใหม่ ๆ เช่น แอฟริกา ละตินอเมริกา และเอเชียใต้ และคาดว่าจะสามารถปิดสัญญาขายลิขสิทธิ์คอนเทนต์ในประเทศมาเลเซีย และกลุ่มประเทศซีแอลเอ็ม (CLM) รวมถึงเตรียมจัดการลูกหนี้การค้าที่ค้างชำระในปัจจุบันให้เรียบร้อย จากปีก่อนเก็บเงินได้จากลูกค้าค่อนข้างน้อย ซึ่งในครึ่งปีแรกที่ผ่านมาสามารถเก็บเงินจากลูกค้าได้ประมาณ 1,000 ล้านบาท และในเดือนกรกฎาคมเก็บเพิ่มได้อีก 300 ล้านบาท ขณะนี้ใกล้ครบหมดแล้ว

ด้านนายจักรพงษ์ จักราจุฑาธิบดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการ บริษัท เจเคเอ็น โกลบอล มีเดีย ระบุเพิ่มเติมว่า ในช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา บริษัทได้ขยายตลาดเพื่อจำหน่ายลิขสิทธิ์คอนเทนต์จากซีรีส์ละครไทยช่อง 3 ทั้ง 3 เรื่อง ได้แก่ เพลิงนรี, ปดิวรัดา และทองเนื้อเก้า โดยนำคอนเทนต์เหล่านี้ไปจำหน่ายให้ TV5 ผู้จัดรายการฟรีทีวีหลักของประเทศฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นตลาดสำคัญที่บริษัทได้ส่งออกละครไทยให้ เพื่อนำไปออกอากาศให้แก่ผู้ชมชาวฟิลิปปินส์ สะท้อนให้เห็นถึงมาตรฐานด้านการผลิตละครของไทยที่ได้คุณภาพ และมีเรื่องราวที่สนุกสนานจนเป็นที่ยอมรับจากผู้ชมในภูมิภาคอาเซียน

สำหรับทิศทางการดำเนินงานจากนี้ไป บริษัทเน้นกลยุทธ์ 3 ด้าน ได้แก่ 1.กลยุทธ์ด้านราคา โดยบริษัทเป็นผู้นำเข้าและจำหน่ายลิขสิทธิ์คอนเทนต์สำเร็จรูปทั้งการซื้อและนำเข้าจากเจ้าของลิขสิทธิ์ เพื่อมาจำหน่ายให้กับผู้ประกอบการสถานีโทรทัศน์ทั้งระบบดิจิทัล รวมถึงลูกค้าที่ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายโฮมเอ็นเตอร์เทนเมนต์ และวิดีโอออนดีมานด์ โดยจะมีราคาที่แตกต่างกันซึ่งจะพิจารณาจากช่องทางที่ออกอากาศ ส่วนกลยุทธ์ที่ 2.จะเน้นเรื่องการทำตลาด โดยจะเน้นนำเข้าคอนเทนต์ที่ทันกระแส เช่น ซีรีส์ การ์ตูน ภาพยนตร์ สารคดี เป็นต้น เพื่อตอบโจทย์ฐานคนดู และเพื่อสอดรับกับความต้องการซื้อคอนเทนต์ไปออกอากาศ มีเพิ่มขึ้นในทุกช่องทาง และ 3.ด้านการจำหน่ายที่ครอบคลุมทุกช่องทาง อาทิ ทีวีดิจิทัล โรงภาพยนตร์ ช่องทางออนไลน์ หรือระบบวิดีโอออนดีมานด์ เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังได้ประกาศเพิ่มงบฯลงทุนซื้อลิขสิทธิ์คอนเทนต์ในต่างประเทศเพิ่ม 1,000 ล้านบาท จากเดิมที่เตรียมงบฯไว้ 800 ล้านบาท ถือว่าเป็นการลงทุนสูงสุดในรอบหลายปี เพื่อให้สามารถครอบครองลิขสิทธิ์คุณภาพจากแบรนด์ดังระดับโลก ไว้ตอบโจทย์ความต้องการและสร้างความบันเทิงให้

ผู้ชมทั้งกลุ่มคนไทยและต่างประเทศ จากแนวทางที่เกิดขึ้นได้เข้ามาช่วยส่งเสริมแผนดำเนินงานของบริษัทให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ คือ การขยายตลาดและจำหน่ายลิขสิทธิ์คอนเทนต์ซีรีส์ละครไทย อินเดีย และฟิลิปปินส์ ไปยังภูมิภาคอาเซียน และภูมิภาคอื่น ๆ ทั่วโลก ที่ผ่านมาบริษัทได้จำหน่ายลิขสิทธิ์คอนเทนต์ในตลาดอาเซียนไปกว่า 100 เรื่อง ใน 7 ประเทศ คือ กัมพูชา สปป.ลาว เมียนมา เวียดนาม อินโดนีเซีย เกาหลีและไต้หวัน เพื่อออกอากาศผ่านช่องทีวีดิจิทัล และแพลตฟอร์มออนไลน์ หรือ OTT


อย่างไรก็ตาม บริษัทมีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนรายได้จากการจำหน่ายลิขสิทธิ์คอนเทนต์ในตลาดต่างประเทศจะเพิ่มเป็น 50% ของรายได้รวมทั้งหมดภายใน 3 ปี โดยปัจจุบันบริษัทมีสัดส่วนรายได้หลักมาจากการจำหน่ายคอนเทนต์ในประเทศ และอันดับรองลงมา คือ ตลาดต่างประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย สปป.ลาว กัมพูชา และเมียนมา