“สะดวกซื้อญี่ปุ่น” หดตัว เลิกแข่งสาขา-พึ่งไอทีแก้แรงงานขาด

หลังจากมีการขยายตัวต่อเนื่องมาหลายสิบปี วงการร้านสะดวกซื้อของญี่ปุ่นที่ได้ชื่อว่าคึกคักที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ได้มาถึงจุดอิ่มตัวและเริ่มเข้าสู่ภาวะถดถอยแล้ว เนื่องจากไม่มีพื้นที่และแรงงานเพียงพอ สำหรับรองรับการขยายตัวต่อไป โดยปีงบฯ 2562 (เมษายน 62-มีนาคม 63) ผู้ประกอบการร้านสะดวกซื้อในญี่ปุ่นจำนวน 15 ราย มีสาขารวมกัน 58,250 สาขา ลดลง 0.5% จากปีก่อนหน้า นับเป็นการหดตัวครั้งแรกในรอบ 39 ปีนับตั้งแต่ปี 2524

ขณะที่รายได้ก็เติบโตต่ำสุดในรอบ 10 ปี โดยเติบโตเพียง 1.3% เป็น11.9 ล้านล้านเยน หรือประมาณ3.49 ล้านล้านบาท หลัง 5 บริษัทในกลุ่มท็อปไฟฟ์ต่างมีรายได้ลดลง เช่น”แฟมิลี่มาร์ท” รายได้ลดลง 0.4% เหลือ3.16 ล้านล้านเยน ส่วน “มินิสต็อป” ลดลง 5.9% มาอยู่ที่ 3.14 แสนล้านเยน  แม้แต่ “เซเว่นอีเลฟเว่น” ที่ในก่อนหน้านี้เติบโตอย่างต่อเนื่องเฉลี่ย 5% ถึง 5 ปีติดต่อกัน กลับเติบโตต่ำสุดในรอบทศวรรษ หรือ 2.3% ทำให้มีรายได้5.01 ล้านล้านเยน

นักวิเคราะห์ในประเทศญี่ปุ่นอธิบายว่าข้อมูลเหล่านี้สะท้อนว่ากลยุทธ์การสร้างอีโคโนมีออฟสเกล ด้วยการขยายสาขาจำนวนมากมาถึงจุดอิ่มตัวแล้ว โดยเริ่มเห็นสัญญาณหลังจำนวนร้านสะดวกซื้อในญี่ปุ่นทะลุ 5 หมื่นสาขา และเริ่มมีปรากฏการณ์แย่งยอดขายกันเอง แม้แต่ในแบรนด์เดียวกัน เห็นได้จากจำนวนลูกค้าเฉลี่ยต่อวันซึ่งลดลง 5 ปีติดต่อกันคิดเป็น 2.3% เหลือเฉลี่ย 932 คนต่อวัน

ด้านบรรดาผู้ประกอบการต่างรับรู้ถึงสถานการณ์นี้ และพยายามหาทางออกในรูปแบบต่าง ๆ ตัวอย่างที่ชัดเจนคือ “ลอว์สัน” ที่เดิมมุ่งสปีดสาขาด้วยกลยุทธ์สไตล์ สร้างก่อนถามทีหลังเดินหน้าเช่าพื้นที่ และสร้างร้านจนเสร็จแล้วจึงค่อยหาคนมาบริหารสาขานั้น โดยเปลี่ยนมาเป็นหยุดขยายสาขาใหม่จนกว่าจะหาแฟรนไชซีมาบริหารได้

“ซาดาโนบุ ทาเคะมะสึ” ซีอีโอลอว์สัน อธิบายว่า ตอนนี้บริษัทเลิกสนใจตัวเลขจำนวนสาขาแล้ว แต่หันโฟกัสการทำให้สาขาที่มีอยู่ประสบความสำเร็จมากขึ้นไปในทิศทางเดียวกับ “แฟมิลี่มาร์ท” ซึ่ง “ทาคาชิ ซาวาดะ” ประธานแฟมิลี่มาร์ท ระบุว่า บริษัทไม่สนใจตัวเลขสาขาแล้วเช่นกัน

โดยตั้งแต่ปีงบฯ 2563 นี้เป็นต้นไปแฟมิลี่มาร์ทได้เลิกประกาศเป้าหมายด้านจำนวนสาขาแล้วขณะที่ “เซเว่นอีเลฟเว่น” ยกเลิกนโยบายเดิมที่บังคับให้แต่ละสาขาต้องมีไลน์อัพสินค้าเหมือนกันตามที่บริษัทแม่เป็นผู้เลือก ก็หันมาปรับการจัดไลน์อัพสินค้าตามดีมานด์ในแต่ละพื้นที่แทน

โดยยักษ์สะดวกซื้อรายนี้ระบุว่าภายในสิ้นปีงบฯ 2563 นี้ (กุมภาพันธ์ 2564)จะทยอยปรับไลน์สินค้าในประมาณ 8,000 สาขา หรือประมาณ 40% ของสาขาทั้งหมดในญี่ปุ่น

นอกจากนี้ร้านสะดวกซื้อยังได้นำนวัตกรรมมาแก้ปัญหาขาดแคลนแรงงาน ที่เป็นหนึ่งในสาเหตุของการหดตัว และบางราย เช่น เซเว่นอีเลฟเว่น และลอว์สันยังต้องลดจำนวนสาขา 24 ชั่วโมงลง เพราะไม่มีพนักงานเข้ากะกลางคืน กระทบเป็นลูกโซ่ไปยังระบบการกระจายสินค้าที่ต้องพึ่งการเปิด 24 ชั่วโมง เพื่อให้สามารถกระจายสินค้าไปยังสาขาจำนวนมากทั่วประเทศได้อย่างราบรื่น

โดย “แฟมิลี่มาร์ท” จับมือกับบริษัทสตาร์ตอัพด้านหุ่นยนต์ เพื่อนำหุ่นยนต์แบบควบคุมระยะไกลมาทดแทนพนักงานในร้าน ช่วยให้พนักงานคนเดียวสามารถจัดการงาน อย่างการเรียงสินค้าในหลายสาขาได้ ปัจจุบันทดลองใช้ในสาขาเขตโทชิมะของโตเกียว ซึ่งได้ผลตอบรับในทางบวกจากชาวเน็ตญี่ปุ่น และเตรียมขยายเพิ่มเป็น 20 สาขาในปี 2565

ส่วน “ลอว์สัน” วางแผนเปิดร้านสะดวกซื้อแบบไร้แคชเชียร์คล้ายร้านอเมซอนโกให้ได้ก่อนสิ้นปี ด้วยการใช้เทคโนโลยีระบบจดจำใบหน้า และแอปพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟน มาทดแทนการใช้พนักงานประจำเคาน์เตอร์คิดเงิน

ไม่แน่ว่าความท้าทายเหล่านี้อาจทำให้วงการร้านสะดวกซื้อของญี่ปุ่นล้ำหน้าไปอีกขั้นหรือไม่