บริษัทวิจัยนีลเส็นเปิดเผยสถานการณ์ ในอุตสาหกรรมโฆษณาช่วงหลังล็อกดาวน์ พบว่า แต่ละสื่อทั้งทีวี วิทยุ และดิจิทัล ต่างมีความเปลี่ยนแปลง ในขณะที่ปริมาณเม็ดเงินเริ่มฟื้นตัวอย่างช้าๆ
รายการข่าวมาแรง
สำหรับ ทีวี มีฐานผู้ชมที่เปลี่ยนแปลงไป โดยมีกลุ่มคนอายุ 40 ปีขึ้นไป และกลุ่มพนักงานออฟฟิศเพิ่มมากขึ้น เมื่อเทียบกับก่อนการระบาดที่ผู้ชมส่วนใหญ่เป็นวัย 30 ปีขึ้นไป ประกอบด้วยกลุ่มหลักๆ คือ ผู้ใช้แรงงาน วัยเกษียณ และแม่บ้าน
ส่วนรูปแบบรายการที่ได้รับความนิยมจะเป็น รายการข่าว เรียลลิตี้โชว์ และภาพยนตร์ ซึ่งมีเรตติ้งสูงขึ้นกว่าก่อนการระบาดด้วยระดับ 0.43 และ 0.48 และ 1.02 ตามลำดับ ส่วนละครไม่เปลี่ยนแปลงมากนักด้วยระดับ 2.1
อย่างไรก็ตามในแง่จำนวนผู้ชม/ระะยะเวลาที่รับชม กลับมาอยู่ในระดับใกล้เคียงกับก่อนการระบาด ยกเว้นผู้ชมในต่างจังหวัดที่ยังต่ำกว่าปกติ เชื่อว่าเป็นเพราะสภาพอากาศที่่มีฝนฟ้าคะนองในหลายภาคเป็นอุปสรรคต่อการรับชม
ด้าน สื่อดิจิทัล มีการใช้งานสูงขึ้นในทุกกลุ่มอายุ สะท้อนจากยอดการใช้งานที่ระดับ 49% หรือครึ่งหนึ่งของประชากรชาวไทยสูงกว่าช่วงก่อนการระบาดที่อยู่ในระดับ 47% โดยมีการชมเฉลี่ย 11 ครั้งต่อเดือน และยอดวิว 3 พันล้านวิวต่อเดือน
ในส่วนของรูปแบบรายการนั้น นอกจากการชมรายการบันเทิงย้อนหลังแล้ว คอนเทนต์ข่าวยังได้รับความนิยมสูงขึ้น เช่นเดียวกับในสื่อทีวี
วิทยุโตพุ่ง
ส่วน วิทยุ เป็นสื่อที่มีการเติบโตสูงแบบก้าวกระโดด เห็นได้จากช่วงเดือน มิ.ย.-ส.ค. มีผู้ฟังเฉลี่ยระดับ 13.8-12.2 ล้านคน เพื่อจากช่วง ม.ค.-ก.พ. ที่มีผู้ฟัง 9.6-9.7 ล้านบาท โดยการฟังผ่านมือถือ และแท็บเล็ตเพิ่มมากขึ้น เช่นเดียวช่วงเวลา 8 โมงเช้า-บ่าย 2 มีผู้ฟังมากขึ้นเช่นเดียวกัน เชื่อว่าเป็นเพราะผู้บริโภคเปิดฟังเป็นเพื่อนขณะทำงานหรืออยู่บ้าน
โดยคอนเทนต์ที่ได้รับความนิยมนั้น เพลง เป็นคอนเทนต์ยอดนิยมทั้งเพลงลูกทุ่ง เพลงไทย และเพลงสากล ส่วนข่าวได้รับความนิยมมากขึ้นเช่นกัน
จับตาเม็ดเงินโค้งท้าย
สำหรับเม็ดเงินโฆษณานั้นเริ่มมีแนวโน้มฟื้นตัวในทุกสื่อตั้งแต่คลายล็อกดาวน์ และช่วงไตรมาส 4 อาจมีเม็ดเงินไหลเข้ามาในปริมาณมาก เพราะการทำแคมเปญกระตุ้นยอดช่วงหน้าขาย แต่อย่างไรก็ตามคาดว่าจะยังต้องใช้เวลาอีกประมาณ 1 ปี เม็ดเงินจึงจะกลับสู่ระดับปกติ เนื่องจากได้รับผลกระทบหลัก โดยเดือน เม.ย.เม็ดเงินลดลงถึง 30% จากช่วงเดียวกันของปี 2562 และแบรนด์-เอเยนซี่ยังคงระมัดระวังในการใช้งบฯ
ทั้งนี้ไปในทิศทางเดียวกับช่วงวิกฤติครั้งก่อนๆ ทั้งความไม่สงบทางการเมือง น้ำท่วมและอื่นๆ ที่ใช้เวลาฟื้นตัวประมาณ 1 ปีเช่นกัน
ด้านภาคธุรกิจที่ยังใช้เม็ดเงินโฆษณาเพิ่มขึ้น จะเป็นธุรกิจที่ได้อานิสงส์จากการระบาด เช่น ยา ของใช้ในบ้าน สินค้าเกษตร การศึกษา และบันเทิง ในขณะที่ธุรกิจอย่าง อาหาร ความงาม สื่อ รถยนต์ และสื่อสาร ใช้เม็ดเงินโฆษณาน้อยลง