“สมุนไพรอินโดฯ” โตแรง โควิดทำ “ขิง ข่า ตะไคร้” ขาดตลาด

นอกจากการใส่หน้ากาก เว้นระยะห่าง ออกกำลังกายกินวิตามินแล้ว

สมุนไพรเป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่ผู้คนในประเทศต่าง ๆ หันพึ่งหวังช่วยเสริมแกร่งสุขภาพรับมือกับการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ยังคงระบาดในประเทศต่าง ๆ อย่างต่อเนื่องและไม่มีทีท่าว่าจะจบลงง่าย ๆ

อินโดนีเซียเป็นหนึ่งในประเทศที่ความต้องการยาสมุนไพรเพิ่มสูงขึ้นโดยเฉพาะ “จามู” (jamu) ยาสมุนไพรพื้นบ้านซึ่งมีส่วนผสมหลากหลายทั้งรากพืช, เปลือกไม้, ผลไม้, น้ำผึ้ง, น้ำนม ไข่ไก่ ฯลฯ นั้นได้รับความนิยมจากผู้บริโภคทุกระดับ หลังจำนวนผู้ติดเชื้อสะสมกว่า 2 แสนราย และมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 8 พันราย

สำนักข่าวนิกเคอิ เอเชียน รีวิว รายงานว่า ขณะนี้กระแสความนิยมสมุนไพรในอินโดนีเซียกำลังมาแรงมาก จนช่วยให้บริษัทผู้ผลิตยาสมุนไพรสามารถเติบโตสวนทางกับสภาพเศรษฐกิจตกสะเก็ดของประเทศได้

โดย “อินดุสทรี จามู แดนฟาร์มาซี ซิโด มุนจูล” (Industri Jamu dan Farmasi Sido Muncul) บริษัทผู้ผลิตจามูรายใหญ่สุดของอินโดนีเซีย เปิดเผยว่า ผลประกอบการช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมาเติบโตก้าวกระโดด ด้วยรายได้สุทธิเพิ่มขึ้น 11% เป็น 4.14 แสนล้านรูเปียห์ หรือประมาณ 876 ล้านบาท ทำสถิติสูงที่สุดนับตั้งแต่บริษัทเข้าตลาดหุ้นเมื่อปี 2556 หลังยอดขายเพิ่มขึ้น 4% เป็น 1.46 ล้านล้านรูเปียห์ หรือประมาณ 3 พันล้านบาท

รวมถึงกลุ่มธุรกิจเครื่องดื่มของบริษัท ซึ่งมีไลน์อัพเครื่องดื่มสมุนไพรอยู่ยังได้รับอานิสงส์ยอดขายเติบโตขึ้นไปถึง 16% ด้วยเช่นกัน ช่วยให้ราคาหุ้นของบริษัทเพิ่มขึ้น 10% และแซงหน้าหุ้นของ “กัลแบ ฟาร์มา” (Kalbe Farma) บริษัทยารายใหญ่ที่สุดของอินโดนีเซีย ในขณะที่ภาพรวมตลาดหุ้นหดตัว 14%

ผู้อำนวยการฝ่ายการเงิน บริษัทอินดุสทรี จามู แดน ฟาร์มาซีฯ กล่าวว่า นอกจากจามูแล้ว ยังมีสมุนไพรอื่น ๆ หลายตัวที่ขายดีขึ้นด้วย เช่น กาแฟผสมขิง, นมผสมขิง, วิตามินซี และอื่น ๆ ต่างมีดีมานด์สูงมาก แม้ช่วงไตรมาส 2 บริษัทจะหั่นงบฯโฆษณาลงตามสภาพเศรษฐกิจก็ตาม

โดยเชื่อว่าเป็นผลจากโซเชียลมีเดีย โดยผู้บริโภคจำนวนมากได้รับข้อมูลเกี่ยวกับสมุนไพรผ่านการแชร์บนกลุ่มในแอปแชต “วอตส์แอป” (WhatsApp) รวมถึงรายการข่าวต่าง ๆ ที่พากันเน้นย้ำเรื่องประโยชน์ของสมุนไพร จนช่วยกระตุ้นดีมานด์ในวงกว้าง

สอดคล้องกับทิศทางของ “กัลแบ ฟาร์มา” ที่ระบุว่า ในขณะที่ยอดขายยาแผนปัจจุบันลดลง 4% ในช่วงครึ่งปีแรก แต่ยอดขายของกลุ่มสินค้าสุขภาพ เช่น ยาสมุนไพร และวิตามินรวมกลับเพิ่มขึ้น 7% มีส่วนช่วยให้รายได้รวม 6 เดือนเพิ่มขึ้น 4% เป็น 11.6 ล้านล้านรูเปียห์ หรือ 2.4 หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้ กัลแบ ฟาร์มา ยังต่อยอดกระแสสมุนไพร ด้วยการจับมือกับ “เจเนซีน” (Genexine) บริษัทเทคโนโลยีชีวภาพสัญชาติเกาหลี พัฒนายาสมุนไพรสูตรใหม่ 2 ตัว พร้อมเตรียมจัดการทดลองทางคลินิกเพื่อหาประสิทธิภาพของยาตัวนี้ในผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่มีอาการไม่หนักมาก ในช่วงไตรมาส 4 ของปี 2563 นี้

ทั้งนี้ตามปกติผู้บริโภคชาวอินโดนีเซียจำนวนมากบริโภคสมุนไพรเป็นประจำเพื่อป้องกันอาการเจ็บป่วยเล็ก ๆ น้อย ๆ ทั่วไปอย่างไข้หวัด อาการปวดตามข้อ และอื่น ๆ ด้วยความเชื่อว่าการกินรากสมุนไพรชนิดต่าง ๆ เช่น ขิงและขมิ้น มีส่วนช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน และที่สำคัญ ปีนี้หน่วยงานรัฐ รวมถึงประธานาธิบดี “โจโกวิโดโด” มีความพยายามที่จะเชื่อมโยงสมุนไพรเหล่านี้เข้ากับการป้องกันโรคโควิด-19 แม้ภายหลังคำแนะนำนี้จะถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการให้ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง แต่กระแสความต้องการสมุนไพรยังคงมีอย่างต่อเนื่อง

จนทำให้ช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมาซึ่งเป็นจังหวะที่โควิด-19 เริ่มแพร่ระบาดใหม่ ๆ นั้น ถึงขนาดว่า ขิงและขมิ้น ขาดตลาดกันเลยทีเดียว


“สมุนไพรเป็นตลาดที่น่าสนใจ แม้ที่ผ่านมาชาวอินโดฯต่างใช้สมุนไพรเพื่อรักษาสุขภาพกันอยู่แล้ว แต่การนำยาสมุนไพรเข้าสู่การทดลองทางคลินิกนี้ จะช่วยให้ได้ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ซึ่งจะสามารถนำไปพัฒนาต่อยอด และอาจช่วยยกระดับยาสมุนไพรไปอีกขั้นด้วย” เบอนาดุส คามิน วินาทา ผู้อำนวยการของกัลแบ ฟาร์มา กล่าว