แห่เปิดร้านอาหารหนุนตู้แช่โต ยอดขายกระฉูด/ตลาดรวมแตะ 7 พันล้าน

ตู้แช่กระแสแรง อานิสงส์โควิด-19 ช่วยดันตลาดโต เผยตัวเลขพุ่ง 30-40% สวนกระแสเศรษฐกิจ ผลพวงคนทยอยเปิดร้านขายอาหาร-เครื่องดื่ม สร้างรายได้ คาดสิ้นปีมูลค่าตลาดรวมทะลุ 7 พันล้าน “เฟรชเชอร์” จัดชิงโชคใหญ่แจกบิ๊กอัพ-มอเตอร์ไซค์-ทองแท่ง มุ่งโกยยอด 3 เดือนสุดท้าย ควบคู่เจาะกลุ่มครัวเรือนกำลังซื้อสูง ด้าน “ซิงเกอร์” ราชาเงินผ่อน ไม่น้อยหน้าเปิดเกมรุก ส่งทีมขายปูพรมบุกตลาดสด-ชุมชนทั่วสารทิศ รับดีมานด์ทะลัก

นายสุพจน์ วิรัตน์โยสินทร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เฟรชเชอร์ จำกัด ผู้จำหน่ายตู้แช่เพื่อการค้า ยี่ห้อ “เฟรชเชอร์” เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ที่ผ่านมาภาพรวมของตลาดตู้แช่เครื่องดื่ม-อาหารมีการเติบโตที่ดีมาก คาดว่าตลาดรวมน่าจะเติบโตไม่ต่ำกว่า 30-40% จากปกติที่ตลาดนี้เติบโตเฉลี่ยปีละ 10-15% ต่อเนื่องทุกปี สาเหตุมาจากหลายปัจจัย อาทิ ความตื่นกังวลจากสถานการณ์ช่วงที่โควิด-19 ระบาดในช่วงแรก ๆ ทำให้ลูกค้าที่เป็นกลุ่มครัวเรือนหันมาให้ความสนใจและซื้อตู้แช่เพื่อกักตุนอาหารมากขึ้น หรือจากปัญหาการว่างงาน-ตกงาน จากการทยอยปิดโรงงานที่เกิดขึ้น และมีผู้ที่ถูกเลิกจ้างงานจำนวนหนึ่งหันมาเปิดร้านขายอาหารตามสั่ง-เครื่องดื่ม และมีการลงทุนซื้อตู้แช่อาหาร ตู้แช่เครื่องดื่ม รวมถึงกรณีของร้านอาหารต่าง ๆ ที่ช่วงแรกอาจจะได้รับผลกระทบโควิดต้องหยุดให้บริการชั่วคราว แต่หลังจากที่ทางการคลายล็อกก็เริ่มกลับมาเปิดให้บริการได้และมีการซื้อตู้แช่เข้ามาเพิ่ม นอกจากนี้ ตลาดตู้แช่ยังมีดีมานด์จากร้านกาแฟ-เบเกอรี่ที่มีเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก

“เนื่องจากตู้แช่เป็นเครื่องมือในการประกอบอาชีพที่มีราคาไม่สูง โดยราคาเริ่มต้นจะอยู่ที่ประมาณ 3,000-5,000 บาท หรือหากเป็นไซซ์ที่ใหญ่ก็จะมีตั้งแต่ระดับ 10,000-25,000 บาท รวมทั้งมีระบบเงินผ่อนเข้ามาช่วยให้ร้านค้าต่าง ๆ ตัดสินใจ และเป็นเจ้าของได้ง่ายขึ้น”

“เฟรชเชอร์” จัดชิงโชค

นายสุพจน์ยังระบุด้วยว่า สำหรับยอดขายของเฟรชเชอร์เองก็เป็นไปในทิศทางเดียวกับตลาด ตัวเลขการเติบโตอยู่ในระดับ 25-30% นอกจากปัจจัยดังที่กล่าวข้างต้นแล้ว เฟรชเชอร์ยังมียอดขายที่เพิ่มมาจากการเป็นเอเย่นต์หรือดีลเลอร์ที่เพิ่มขึ้นจำนวนหนึ่ง และจากนี้ไปบริษัทยังจะให้ความสำคัญกับการขยายฐานกลุ่มลูกค้าเป้าหมายไปยังกลุ่มครัวเรือนระดับกลาง-บน จากเดิมที่มีกลุ่มลูกค้าหลักเป็นผู้ประกอบการร้านค้า-ร้านอาหาร เนื่องจากตลาดนี้มีคู่แข่งไม่มากและมีโอกาสจะยังเติบโตได้อีกมาก หรือในส่วนของกลุ่มลูกค้าพาณิชย์ บริษัทจะผลักดันไลน์อัพใหม่ ๆ เข้ามาทำตลาดเพิ่ม อย่างตู้แช่ไวน์, เครื่องทำน้ำหวานเกล็ดหิมะ และเครื่องจ่ายน้ำหวาน

“สิ่งที่ขาดไม่ได้ของตลาดนี้ก็คือ เรื่องของระยะเวลารับประกันสินค้า โดยเฉพาะคอมเพรสเซอร์รับประกัน 5-10 ปี ขึ้นอยู่กับชนิดหรือประเภทของตู้แช่ ซึ่งในตลาดส่วนใหญ่จะรับประกันสูงสุด 5 ปี เช่นเดียวกับบริการหลังการขายที่เน้นเรื่องความรวดเร็วภายใน 48 ชั่วโมง โดยเปิดช่องทางติดต่อผ่านแอปพลิเคชั่นไลน์ เพื่อรับแจ้งปัญหาและให้บริการซ่อมแซมเบื้องต้น”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ล่าสุดเฟรชเชอร์ได้เร่งทำตลาดในช่วงไตรมาสสุดท้าย โดยได้ทุ่มงบฯในการจัดกิจกรรมชิงโชคตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม-31 ธันวาคมนี้ ด้วยการแจกคูปองลุ้นรางวัลสำหรับลูกค้าที่ซื้อตู้แช่ต่าง ๆ จะได้รับคูปองสำหรับลุ้นรางวัลตามเงื่อนไขที่กำหนด โดยมีรางวัลใหญ่เป็นรถกระบะฟอร์ด เรนเจอร์ 1 รางวัล มอเตอร์ไซค์ฮอนด้า สกู๊ปปี้ ไอ 4 รางวัล ทองคำแท่ง 1 บาท 5 รางวัล เป็นต้น

“ซิงเกอร์” บุกทั่วสารทิศ

นายกิตติพงศ์ กนกวิไลรัตน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ซิงเกอร์ ประเทศไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ไปในทิศทางเดียวกันว่า ปีนี้ตลาดตู้แช่รูปแบบต่าง ๆ ทั้ง 1, 2, 3 และ 4 ประตู ตู้ทึบ ตู้แช่เบียร์วุ้น ไปจนถึงเครื่องทำเครื่องดื่มเกล็ดหิมะ มีดีมานด์ที่สูงกว่าปีที่ผ่าน ๆ มาอย่างเห็นได้ชัด

โดยยอดขายตู้แช่ประเภทต่าง ๆ ของซิงเกอร์ ตั้งแต่ต้นปีจนถึงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เติบโตเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 30% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีที่ผ่านมา และยังมีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างต่อเนื่อง ดีมานด์ที่เกิดขึ้นหลัก ๆ มาจากผู้ประกอบการรายย่อยในชุมชนทั่วประเทศ ทั้งร้านชำ ร้านอาหาร รวมไปถึงร้านขายของสดในตลาด ที่ต้องการอัพเกรดอุปกรณ์เพื่อลดค่าใช้จ่ายด้านต่าง ๆ เช่น ค่าไฟฟ้า และค่าน้ำแข็งสำหรับแช่ของสด รวมถึงการเปิดขายสินค้ารูปแบบอื่น ๆ เพิ่มเพื่อสร้างรายได้เสริมอีกทาง อย่างเครื่องดื่มเกล็ดหิมะ เป็นต้น

“ตอนนี้เศรษฐกิจชุมชนยังคงมีเม็ดเงินหมุนเวียน เนื่องจากผู้คนจำนวนมากกลับมาอาศัย-ประกอบอาชีพในบ้านเกิดตั้งแต่ช่วงล็อกดาวน์เมื่อต้นปี และตู้แช่เป็นสินค้าที่สามารถสร้างรายได้ได้ การตัดสินใจซื้อจึงง่ายกว่าเครื่องใช้ไฟฟ้าอื่น ๆ สะท้อนจากผลประกอบการไตรมาส 2 ซึ่งตู้แช่เป็นหนึ่งในกลุ่มสินค้าขายดี มียอดขายเพิ่มขึ้น 31 ล้านบาท เติบโตดีกว่าตู้เย็นที่มียอดขายเพิ่มขึ้น 23 ล้านบาท และเป็นรองเพียงเครื่องปรับอากาศที่ยอดขายเพิ่มขึ้น 150 ล้านบาท” นายกิตติพงศ์กล่าวและว่า

นอกจากนี้ยังมีดีมานด์จากธุรกิจขายอาหารรายใหม่ ๆ ที่เพิ่มจำนวนขึ้น หลังจากพนักงานออฟฟิศ แรงงานจากภาคธุรกิจท่องเที่ยว หันมาทำอาหาร-ขนมหวาน-เบเกอรี่เป็นอาชีพเสริม เช่นเดียวกับดีมานด์จากกลุ่มลูกค้าที่เป็นครัวเรือนขนาดใหญ่ที่เริ่มสนใจซื้อตู้แช่ไปใช้แบ่งเก็บอาหาร เนื่องจากตู้แช่เป็นสินค้าที่มีราคาไม่สูงนัก เมื่อเทียบกับตู้เย็นที่มีระดับราคาหลายหมื่นไปจนถึงระดับแสนบาท

นายกิตติพงศ์กล่าวว่า เพื่อรองรับดีมานด์ที่เพิ่มขึ้นดังกล่าว ซิงเกอร์ได้ส่งพนักงานลงพื้นที่ทั่วประเทศทั้งย่านชุมชน ตลาดสด เพื่อนำเสนอสินค้าเน้นจุดขายที่ตอบโจทย์ผู้ประกอบการ เช่น การประหยัดไฟ ความสะอาดของสินค้าที่แช่เมื่อเทียบกับถังน้ำแข็ง และยังมีต้นทุนถูกกว่าในระยะยาว การรับประกันคอมเพรสเซอร์ 5 ปี เป็นต้น รวมถึงจุดเด่นของซิงเกอร์ที่ให้บริการเงินผ่อน เพื่อช่วยให้ลูกค้าตัดสินใจได้ง่ายขึ้น ซึ่งสินค้าตู้แช่ใช้ระยะเวลาผ่อนประมาณ 2 ปี ตกเดือนละ 1,000-2,000 บาท จากแนวโน้มดังกล่าว มั่นใจว่าปีนี้ ยอดขายกลุ่มตู้แช่ของซิงเกอร์จะเติบโตอย่างน้อย 30%

ส่งออก-โออีเอ็มเดี้ยง

แหล่งข่าวระดับสูงจากบริษัทผู้ผลิตตู้แช่รายหนึ่งเปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปีนี้ตลาดตู้แช่มีการเติบโตที่ดีกว่าทุก ๆ ปี โดยแบรนด์หลัก ๆ ในตลาดมีการเติบโตแทบทุกค่าย ไม่ว่าจะเป็น ซิงเกอร์, เฟรชเชอร์, ลักกี้ สตาร์, ซันเดน อินเตอร์คูล, เดอะ คูล, โตชิบา, ไฮเออร์ ฯลฯ และคาดการณ์กันว่า ปีนี้ภาพรวมของตลาดน่าจะมีอัตราการเติบโตไม่ต่ำกว่า 30-40% หรือมูลค่าตลาดรวมน่าจะใกล้ ๆ จะทะลุ 7,000 ล้านบาท จากเมื่อช่วงปี 2560 ที่ตลาดรวมมีมูลค่าตลาดประมาณ 4,000 ล้านบาท และเป็นตลาดที่มีการเติบโตต่อเนื่องทุกปี เฉลี่ยปีละประมาณ 15% จากแนวโน้มการเติบโตที่มีมาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ขณะนี้มีเครื่องใช้ไฟฟ้าแบรนด์ใหญ่หลาย ๆ รายที่ยังไม่มีสินค้ากลุ่มนี้พยายามจะกระโดดเข้ามาในตลาดด้วย

“ตลาดตู้แช่เป็นตลาดที่มีการแข่งขันไม่ซับซ้อน นอกจากการรับประกันสินค้า-คอมเพรสเซอร์ บริการหลังการขาย หลัก ๆ ที่เป็นเรื่องของ 0% นาน 6-10 เดือน หรือมีการจัดโปรโมชั่นลดราคา หรือบางครั้งก็จะเห็นแคมเปญเก่าแลกใหม่ หรือเทรดอินเป็นช่วง ๆ”


แหล่งข่าวกล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตาม แม้ว่าตลาดในประเทศจะมีการเติบโตชนิดสวนกระแส แต่ผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิดที่เกิดขึ้น ทำให้ในแง่ของการส่งออก และโรงงานที่รับจ้างผลิต หรือโออีเอ็ม ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก เนื่องจากไม่สามารถส่งออกได้