ธุรกิจญี่ปุ่น หันลุยอีคอมเมิร์ซ ทุ่มผุดโกดังอัตโนมัติเพิ่มสปีดส่งสินค้า

“ฟาสต์รีเทลลิ่ง” บริษัทแม่ของยักษ์ฟาสต์แฟชั่น “ยูนิโคล่” เคยเป็นหนึ่งในธุรกิจใหญ่สัญชาติญี่ปุ่นที่มองว่ากระแสอีคอมเมิร์ซเป็นภาระของธุรกิจ

“ทาดาชิ ยานาอิ” ประธาน และประธานกรรมการของฟาสต์รีเทลลิ่ง เคยกล่าวว่า การขายสินค้าผ่านอีคอมเมิร์ซนั้นสร้างภาระให้กับการกระจาย และจัดส่งสินค้าอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม ด้วยสปีดการเติบโตของผู้ใช้อินเทอร์เน็ตในภูมิภาคเอเชียซึ่งสูงกว่าในญี่ปุ่นมาก ทำให้อีคอมเมิร์ซกลายเป็นช่องทางสำคัญในการเข้าถึงเม็ดเงินของผู้บริโภคในประเทศต่าง ๆ นอกญี่ปุ่นได้มากขึ้น จนฟาสต์รีเทลลิ่งและอีกหลายธุรกิจในแดนปลาดิบต้องหันมาทุ่มลงทุนอัพเกรดตัวเอง สร้างความได้เปรียบบนสนามการค้าออนไลน์ด้วย

สำนักข่าว “นิกเคอิ เอเชียน รีวิว” รายงานว่า ฟาสต์รีเทลลิ่งวางแผนทุ่มเม็ดเงิน 1 แสนล้านเยน (ประมาณ 2.97 หมื่นล้านบาท) ลงทุนอัพเกรดศักยภาพด้านอีคอมเมิร์ซ และการขนส่งสินค้าของบริษัท ด้วยการสร้างโกดังสินค้าอัตโนมัติในตลาดหลัก ๆ ทั่วโลกทั้งจีน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สหรัฐอเมริกา รวมถึงญี่ปุ่นเองด้วย

หนึ่งในนั้นเป็นโกดังอัตโนมัติในจังหวัดโอซากามูลค่าการลงทุนระดับหมื่นล้านเยน สำหรับรองรับออร์เดอร์จากช่องทางออนไลน์โดยเฉพาะ ซึ่งเป็นโกดังอัตโนมัติแห่งที่ 2 ของฟาสต์รีเทลลิ่งในญี่ปุ่น และจะเป็นฐานสำคัญของการขนส่งสินค้าในภาคตะวันตกของญี่ปุ่น ช่วยลดระยะเวลาจัดส่งสินค้าจาก 5 วัน เหลือ 3 วัน

ด้วยทัพนวัตกรรมต่าง ๆ ที่จะนำมาใช้อย่างเต็มที่ไม่ว่าจะเป็นระบบป้ายอิเล็กทรอนิกส์สำหรับติดตามสินค้า ระบบเซ็นเซอร์ หุ่นยนต์และอื่น ๆ จนโกดังแห่งนี้สามารถทำงานแบบอัตโนมัติเกือบ 100% ตั้งแต่รับสินค้าเข้ามาตรวจสอบ คัดแยก และจัดเก็บแยกตามหมวดหมู่ต่าง ๆ คาดว่าจะเริ่มใช้งานได้ในเดือนตุลาคมนี้

หลังจากเมื่อปี 2561 ฟาสต์รีเทลลิ่งได้เริ่มใช้งานโกดังอัตโนมัติแห่งแรกในย่านอาริอาเคะ ของกรุงโตเกียวเพื่อเป็นฐานสำหรับกระจายสินค้าจากจีนและประเทศอื่น ๆ ไปทั่วญี่ปุ่นมาก่อนแล้ว

ไม่เพียงเดินสายสร้างโกดังสินค้าเท่านั้น แต่ยักษ์แฟชั่นยังมุ่งโปรโมตบริการ “คลิกแอนด์คอลเลกต์” (click and collect) หรือการซื้อสินค้าบนออนไลน์แล้วมารับที่หน้าร้าน ซึ่งเริ่มแพร่หลายในจีนแผ่นดินใหญ่ ด้วยข้อได้เปรียบด้านความเร็วที่บางครั้งเหนือกว่าการส่งปกติ และการไม่ต้องใช้เวลาในร้านจึงตอบโจทย์นิวนอร์มอลได้

ความเคลื่อนไหวของฟาสต์รีเทลลิ่งในครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของคลื่นความเปลี่ยนแปลงของวงการธุรกิจญี่ปุ่นในปีนี้ที่แบรนด์ใหญ่หลายรายหันมาให้ความสำคัญกับอีคอมเมิร์ซมากขึ้น หลังการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปในทางที่เอื้อประโยชน์กับอีคอมเมิร์ซมากขึ้น

นอกจากนี้ เชนซูเปอร์มาร์เก็ตหลายแห่งในญี่ปุ่นหันมาสร้างโกดังอัตโนมัติเพื่อรองรับอีคอมเมิร์ซเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็น “อิออน” ที่จะเริ่มบริการดีลิเวอรี่อาหาร และสินค้าอื่น ๆ ในปี 2566 ด้วยการสร้างโกดังอัตโนมัติที่จังหวัดชิบะ, เขตชั้นในของโตเกียว และอีกหลายแห่งในภาคตะวันตกของประเทศ เช่นเดียวกับเชนซูเปอร์มาร์เก็ตเซยู ที่จับมือ “ราคูเท็น” อีคอมเมิร์ซสัญชาติญี่ปุ่น สร้างโกดังอัตโนมัติของตัวเองที่โยโกฮามามีกำหนดเปิดทำการในปี 2564

ด้าน “เซเว่นอีเลฟเว่น” เตรียมเปิดบริการดีลิเวอรี่ในลักษณะเดียวกับประเทศไทย ที่เป็นการส่งสินค้าจากสาขาไปยังลูกค้าในพื้นที่ใกล้เคียง โดยยักษ์สะดวกซื้อวางแผนขยายบริการนี้ให้ครอบคลุม 1 พันสาขา ภายในปีงบฯ 2564 (เม.ย. 64-มี.ค. 65) พร้อมจุดขายด้านความรวดเร็วไม่เกิน 30 นาที หวังแข่งกับอเมซอน เจแปน

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาธุรกิจเสื้อผ้าและซูเปอร์มาร์เก็ตของญี่ปุ่นถือว่าล้าหลังกว่าธุรกิจอื่น ๆ ในด้านการค้าขายออนไลน์ เนื่องจากที่ผ่านมาชาวญี่ปุ่นยังต้องการลองหรือเช็กความสดของสินค้าก่อนตัดสินใจซื้อ สอดคล้องกับข้อมูลของกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม ที่ระบุว่า กลุ่มสินค้าแฟชั่น มีการขายบนออนไลน์เพียง 14% ส่วนอาหารและเครื่องดื่มยิ่งน้อยด้วยสัดส่วน 3% เทียบกับหนังสือและสื่อบันเทิงที่มีถึง 34% และเครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้านมีสัดส่วน 33%

อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจความเห็นของชาวญี่ปุ่นหลังรัฐบาลยกเลิกสถานการณ์ฉุกเฉิน โดยบริษัท บอสตัน คอนซัลติ้ง กรุ๊ป พบว่า 46% จะซื้อสินค้าแฟชั่นผ่านออนไลน์มากขึ้น ส่วนกลุ่มที่จะซื้ออาหารทางออนไลน์มากขึ้นมี 14%

นอกจากตลาดในญี่ปุ่นแล้วปีนี้แบรนด์แฟชั่นในโลกตะวันตกหลายรายต่างเพิ่มความเข้มข้นของอีคอมเมิร์ซมากขึ้นเช่นกัน อาทิ อินดิเท็กซ์ เจ้าของแบรนด์ซาร่า ที่วางเป้าเพิ่มรายได้จากอีคอมเมิร์ซขึ้นจาก 19% เป็น 25% ของยอดขายรวมภายในปี 2565

จากความเคลื่อนไหวเหล่านี้ทำให้ในช่วง 1-2 ปีนับจากนี้ไปน่าจะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในวงการค้าปลีกของญี่ปุ่น