น้ำเมาญี่ปุ่นรุกเฮลตี้ดริงก์ ชดเชยโควิด-19 ทุบยอดขายร่วง

ขณะที่วงการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของไทย “เหล้า-เบียร์” กำลังวุ่นวายกับผลกระทบจากกฎหมายห้ามโฆษณาและห้ามขายผ่านออนไลน์อยู่นี้ แต่วงการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของญี่ปุ่นก็กำลังประสบปัญหายอดขายลดลงอย่างหนัก หลังการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้บรรดาร้านอาหาร และผับบาร์ที่เป็นช่องทางจำหน่ายและสร้างการรับรู้สำคัญมีลูกค้าลดลง หรือต้องปิดชั่วคราว

สถานการณ์นี้บังคับให้เหล่าผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งคิริน อาซาฮีซันโทรี่ และซัปโปโระ ต้องเร่งหาทางรับมือ โดยบางรายหันจับกระแสสุขภาพที่กำลังมาแรงในช่วงนี้ ด้วยการเร่งพัฒนาและทำการตลาดเครื่องดื่มแนวสุขภาพแทน หวังสร้างเม็ดเงินชดเชยกับยอดขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ขณะที่อีกกลุ่มผนึกกำลังกับพันธมิตรร้านอาหารร่วมกันทำการตลาดเพื่อกระตุ้นยอด

สำนักข่าว “นิกเคอิ เอเชียน รีวิว” รายงานถึงความเคลื่อนไหวในวงการเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของญี่ปุ่นในขณะนี้ว่า ผู้ผลิตต่างปรับลดคาดการณ์รายได้-กำไรของปีนี้ลง ไม่ว่าจะเป็น “คิริน โฮลดิ้ง” ที่ประกาศปรับคาดการณ์กำไรปีนี้ลงจาก 1.9 แสนล้านเยน เหลือ 1.4 แสนล้านเยน หลังช่วงเมษายน-มิถุนายนกำไรจากการดำเนินงานลดลงไป23.1% เหลือ 6.9 หมื่นล้านเยน

ไปในทิศทางเดียวกับ “อาซาฮี” ที่ในช่วงเดียวกันนั้น กำไรจากการดำเนินงานลดลงถึง 40.4% เป็น 5.3 หมื่นล้านเยนและคาดว่าทั้งปีจะลดลงในอัตรา 30.4% เมื่อเทียบกับปี 2562

ส่วน “ซัปโปโระ โฮลดิ้ง” คาดว่ากำไรจากการดำเนินงานในปีงบฯนี้จะลดลงจากปีก่อนถึง 91.5% เหลือแค่ 1 พันล้านเยน

“โทโมมิ ฟูจิคาวะ” นักวิเคราะห์ของบริษัทวิจัยยูโรมอนิเตอร์อธิบายว่า เดิมร้านอาหารและผับบาร์นอกจากเป็นช่องทางจำหน่ายโดยตรงแล้ว ยังเป็นสถานที่ที่ผู้ผลิตนำสินค้าใหม่มาสร้างการรับรู้กับผู้บริโภค นำไปสู่การซื้อเพื่อบริโภคที่บ้าน ดังนั้นการลดเวลาเปิดบริการหรือปิดชั่วคราวจึงกระทบทั้งยอดขายในและนอกร้าน

โดยบริษัทวิจัยยูโรมอนิเตอร์คาดว่าปีนี้ยอดขายเบียร์ในญี่ปุ่นทั้งในร้านค้าปลีก และร้านอาหาร อาจต่ำกว่าปี 2562 ถึง 20% เหลือมูลค่าประมาณ 2.94 ล้านล้านเยน เพื่อรับมือสถานการณ์ “คิริน โฮลดิ้ง”ได้หันไปโฟกัสการขายสินค้าแนวสุขภาพแทน อาทิ สินค้าแบรนด์ “ไอมิว”(iMUSE) ที่ประกอบด้วยเครื่องดื่มโยเกิร์ต ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร หลังช่วงเดือนเมษายน-มิถุนายนมียอดขายเพิ่มขึ้น 2 เท่า จากช่วงเดียวกันของปีก่อน นอกจากนี้ยังเตรียมเปิดตัวเบียร์ไร้น้ำตาลเป็นรายแรกของญี่ปุ่น และชูไฮ หรือเหล้าหวานแบบไร้แอลกอฮอล์ ในช่วงเดือนตุลาคมนี้ เพื่อรับกับพฤติกรรมของผู้บริโภคซึ่งสนใจสุขภาพมากขึ้น

ไปในทิศทางเดียวกับ “อาซาฮี” ที่ช่วงโค้งท้ายนี้จะเพิ่มความเข้มข้นของการทำตลาดเครื่องดื่มแนวสุขภาพ ทั้งเบียร์ไร้แอลกอฮอล์ และเบียร์มอลต์ต่ำ โดยเฉพาะในช่องทางโซเชียลมีเดีย

ขณะที่ “ซัปโปโระ โฮลดิ้ง” มุ่งหนุนร้านอาหารที่เป็นคู่ค้า ด้วยการเปิดตัวแพลตฟอร์มขายอาหารออนไลน์สำหรับให้ผู้บริโภคสั่งอาหารจากร้านอาหารที่ขายเบียร์ซัปโปโระได้ เมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ปัจจุบันมีร้านอาหารเข้าร่วม80 ราย โดยซัปโปโระเชื่อว่าจะมีผู้เข้าร่วมเพิ่มอีกจนแตะ 100 ราย

ส่วน “ซันโทรี่ โฮลดิ้ง” ผู้ผลิตวิสกี้รายใหญ่ เลือกการหนุนร้านอาหารเช่นกัน โดยเปิดแคมเปญขายโวเชอร์ (voucher) ร้านอาหาร เพื่อเรียกกระแสเงินสดให้กับร้านที่เข้าร่วม ซึ่งขณะนี้มีผู้เข้าร่วมแล้วมากกว่า 1.1 หมื่นแห่ง และมียอดขายโวเชอร์ถึง 143 ล้านเยน

ทั้งนี้ แม้จะอยู่คนละเซ็กเมนต์กับรายอื่น ๆ แต่ผลยอดขายและกำไรในธุรกิจวิสกี้ของซันโทรี่ ช่วงมกราคม-มิถุนายนลดลง 10.2% และ 19.7% เช่นกันเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของความเคลื่อนไหวในแวดวงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของญี่ปุ่นที่ถูกกระทบหนักจากการระบาดของโควิด-19