ค่ายกล้องดิ้นแก้ยอดร่วง ต่อยอดโนว์ฮาวสร้างรายได้เสริม

วันนี้สถานการณ์ของวงการกล้องดิจิทัลยังคงย่ำแย่จากการแข่งขันกับสมาร์ทโฟน โดย “เทคโนซิสเต็ม” บริษัทวิจัยสัญชาติญี่ปุ่นประเมินว่าในปี 2563 นี้ ยอดขายกล้องดิจิทัลทั่วโลกจะอยู่ที่ 8.4 ล้านเครื่องเท่านั้น หรือลดลงถึง 40% หรือเกือบครึ่งจากปี 2562 ที่ผ่านมา

สถานการณ์นี้บีบให้บรรดาผู้ผลิตกล้องต้องหาทางสร้างรายได้จากธุรกิจอื่น ๆ มาเสริมธุรกิจกล้องดิจิทัลของตน โดยอาศัยความเชี่ยวชาญที่มีมาต่อยอดสร้างจุดขาย

สำนักข่าว “นิกเคอิ เอเชีย” รายงานว่า ขณะนี้บรรดาค่ายกล้องสัญชาติญี่ปุ่นต่างหันต่อยอดเทคโนโลยี และความเชี่ยวชาญในการผลิตกล้องและเลนส์ ไปใช้ในอุตสาหกรรมการอื่น ๆ ที่มีความซับซ้อนและล้ำหน้ามากขึ้น รวมถึงยังมีดีมานด์สูง อาทิ การผลิตเครื่องพิมพ์ 3 มิติ หรือ 3D printer สำหรับการพิมพ์โลหะ, เครื่องโปรเจ็กเตอร์สำหรับพื้นที่ขนาดเล็ก หรือระบบกล้องวงจรปิดสำหรับระบบไอโอทีในโรงงานอัตโนมัติ เป็นต้น

ADVERTISMENT

เริ่มจาก “นิคอน” ที่นำโนว์ฮาวและเทคโนโลยีในการผลิตเลนส์สำหรับกล้องถ่ายภาพมาใช้สร้างเลนส์ชนิดพิเศษ สำหรับเครื่องพิมพ์โลหะ 3 มิติ

โดยนิคอนระบุว่า เลนส์นี้ช่วยให้เครื่องพิมพ์ยิงเลเซอร์ตัด-เชื่อมโลหะด้วยความแม่นยำสูงขึ้น ทำให้สามารถลดขนาดและน้ำหนักของเครื่องพิมพ์ลงเหลือน้ำหนักประมาณ 300 กิโลกรัม และขนาดกว้าง-ยาว 1 เมตร สูง 2 เมตร เปิดโอกาสให้สามารถนำไปใช้ในไซต์งานที่มีพื้นที่จำกัดได้ นอกจากนี้ นิคอนยังนำพัฒนาเทคนิคการเคลือบผิวโลหะแบบใหม่ ซึ่งเป็นการพ่นผงโลหะลงบนพื้นผิวที่ต้องการ จากนั้นใช้เลเซอร์เพื่อหลอมผงโลหะให้ติดกับพื้นผิวนั้น ๆ

“โมโตฟูสะ อิชิคาวะ” เจัาหน้าที่นิคอนและหนึ่งในทีมพัฒนาเทคโนโลยีนี้ อธิบายว่า จุดเด่นของเทคนิคนี้สามารถอยู่ที่สามารถนำไปใช้ซ่อมแซมความเสียหายของวัสดุโลหะ ที่เดิมซ่อมแซมได้ยาก เช่น รอยแตกร้าวภายในท่อโลหะ หรือรอยบิ่นของแบบพิมพ์โลหะ เป็นต้น

ADVERTISMENT

ด้าน “ฟูจิฟิล์ม” ที่นอกจากการนำเทคนิคการผลิตฟิล์ม และเลนส์กล้องถ่ายภาพไปใช้ในการผลิตอุปกรณ์ถ่ายภาพทางการแพทย์ และยาแล้ว ยังขยายตลาดไปด้านอุปกรณ์สำนักงานอีกด้วย โดยนำโนว์ฮาวในการผลิตเลนส์ มาผลิตเครื่องโปรเจ็กเตอร์ที่มีระยะโฟกัสสั้นกว่าปกติ ด้วยการวางแผ่นกระจก 2 แผ่นแบบกล้องปริทรรศน์ทำให้ระยะโฟกัสของเครื่องสั้นลง รวมถึงยังวางเครื่องได้ทั้งแนวตั้งและแนวนอน ช่วยให้สามารถใช้งานในพื้นที่ขนาดเล็กได้

ส่วน “แคนนอน” โฟกัสไปยังลูกค้าที่เป็นโรงงานอุตสาหกรรม ด้วยการพัฒนาระบบประมวลผลภาพเพื่อใช้งานร่วมกับเทคโนโลยีไอโอที และปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ สำหรับโรงงานอัจฉริยะ เพื่อตอบโจทย์ที่เป็นหนึ่งอุปสรรคของการนำระบบอัตโนมัติมาใช้ในโรงงาน อย่างการที่พนักงานผู้ดูแลระบบต้องคอยเดินตรวจตรามาตรวัดต่าง ๆ ทั่วโรงงาน เพื่อความแน่ใจว่าระบบต่าง ๆ ทำงานปกติ

ADVERTISMENT

“คิอิจิ อาไร” ผู้จัดการทั่วไปของธุรกิจโรงงานอัตโนมัติของแคนนอน อธิบายว่า ด้วยเทคโนโลยีการควบคุมกล้องทั้งการซูม แพน หรือเอียง ด้วยการควบคุมระยะไกลช่วยให้บริษัทสามารถสร้างอุปกรณ์ที่จะมาคอยตรวจตรามาตรวัดค่าต่าง ๆ ในโรงงาน จากศูนย์ควบคุมกลางแห่งเดียว ช่วยลดภาระของพนักงานผู้ควบคุมระบบไอโอทีของโรงงานนั้น ๆ ลง

สำหรับ “โอลิมปัส” ที่ประกาศแผนขายธุรกิจกล้องถ่ายภาพไปให้กับกองทุนเจแปนอินดัสเทรียล พาร์ทเนอร์ หรือเจไอพี (Japan Industrial Partners Inc.-JIP) ไปเมื่อช่วงกลางปีนั้น ปลายเดือนกันยายนที่ผ่านมาบริษัทได้เคาะไกด์ไลน์ของดีลนี้ออกมาแล้ว โดยระบุว่า จะมีการตั้งบริษัทใหม่ ชื่อ “โอเอ็ม ดิจิทัล โซลูชั่น คอร์ปอเรชั่น” (OM Digital Solutions Corporation) ในช่วงกลางเดือนตุลาคมนี้ จากนั้นจะเริ่มกระบวนการแยกธุรกิจกล้องถ่ายไปยังบริษัทใหม่ตั้งแต่วันที่ 6 พฤศจิกายน และจะเสร็จสมบูรณ์ในวันที่ 1 มกราคม 2564 พร้อมกับโอนหุ้นของบริษัทใหม่นี้ให้กับเจไอพี ซึ่งจะรับหน้าที่ดูแลธุรกิจกล้องดิจิทัลต่อจากโอลิมปัสแทน

ต้องดูกันว่าแผนปรับตัวเหล่านี้จะช่วยเติมเม็ดเงินให้กับบรรดาค่ายกล้องได้มากน้อยเพียงใด