“เมดพาร์ค” เจาะคนไข้ไฮเอนด์ ชูโมเดลดึงหมอถือหุ้น-รักษาโรคซับซ้อน

“ทีพีพี เฮลท์แคร์ฯ” รุกธุรกิจโรงพยาบาล ทุ่มงบฯก้อนโต ปั้น “เมดพาร์ค” รพ.ไซซ์ใหญ่ ขนาด 550 เตียง เปิดโมเดลดึงคุณหมอลงขันสร้างความเป็นเจ้าของร่วมกัน ชูจุดขายเน้นรักษาโรคยาก-โรคซับซ้อน มุ่งเจาะลูกค้าตลาดบน เริ่มเปิดให้บริการเฟสแรก 205 เตียง พร้อมระดมแพทย์-พยาบาลมากประสบการณ์ลุยเต็มพิกัด พร้อมเพิ่มสัดส่วนห้องไอซียูเป็น 30% รองรับคนไข้วิกฤต เผยล่าสุด 4 ศูนย์ “หัวใจ-มะเร็ง-ไต-แล็บ” ได้สิทธิบีโอไอยกเว้นภาษีนำเข้าเครื่องจักรและภาษีจากกำไร 8 ปี

ที่ผ่านมาแม้ว่าในภาพรวมของธุรกิจโรงพยาบาลเอกชนจะได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่ปลายไตรมาสแรกและต่อเนื่องมาจนถึงขณะนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของการเข้าใช้บริการที่ลดลงทั้งคนไข้นอกและคนไข้ใน ทำให้หลาย ๆ แห่งต้องเร่งปรับตัวและชะลอการลงทุนใหม่ ๆ เพื่อรอให้สถานการณ์คลี่คลาย แต่ล่าสุดมีโรงพยาบาลขนาดใหญ่แห่งใหม่เกิดขึ้น ในชื่อของ “เมดพาร์ค” ได้เปิดให้บริการในใจกลางย่านธุรกิจแห่งใหม่บนถนนพระรามที่ 4

รพ.เมดพาร์ค เจาะตลาดบน

นายแพทย์พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ทีพีพี เฮลท์แคร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ในฐานะกรรมการผู้จัดการโรงพยาบาลเมดพาร์ค (Med Park) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ขณะนี้โรงพยาบาลเมดพาร์คได้เริ่มเปิดให้บริการรักษาพยาบาลในเฟสแรกแล้วบางส่วน โดยเริ่มมีการผ่าตัด มีการสวนหัวใจ ฯลฯ ให้กับคนไข้ไปแล้วจำนวนหนึ่ง เพียงแต่ไม่ได้มีการประกาศอย่างเป็นทางการว่าเปิดให้บริการแล้ว ทั้งนี้ รพ.เมดพาร์คถูกวางตำแหน่งให้เป็นโรงพยาบาลที่มุ่งเน้นการรักษาโรคที่รักษายากและโรคที่มีความซับซ้อนเป็นหลัก เน้นจับกลุ่มเป้าหมายที่เป็นกลุ่มระดับบน เนื่องจากเมดพาร์คเป็นโรงพยาบาลที่เป็นศูนย์รวมของทรัพยากรทางด้านการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ พยาบาล เครื่องมืออุปกรณ์ที่ทันสมัย จึงเน้นย้ำโรคที่ยังหาวินิจฉัยไม่ได้หรือรักษาไม่หายตามแนวทาง destination medicine ของ Mayoclinic ที่ Rochester Minnesota ประเทศสหรัฐอเมริกา

ทั้งนี้ เมดพาร์คเป็น รพ.ที่ดำเนินการโดยบริษัท ทีพีพี เฮลท์แคร์ อินเตอร์เนชั่นแนล ด้วยทุนจดทะเบียน 2,500 ล้านบาท มีบริษัท โรงพยาบาลมหาชัย จำกัด (มหาชน) เป็นจุดเริ่มต้น และถือหุ้นในสัดส่วน 42% หรือ 1,050 ล้านบาท และได้ร่วมกับศาสตราจารย์นายแพทย์สิน อนุราษฎร์ อดีตอาจารย์โรงเรียนแพทย์ประจำ University of Iowa และ Texas Tech University และอดีตผู้บริหารโรงพยาบาลเอกชนระดับนานาชาติ ในการก่อตั้งเมดพาร์ค และส่วนที่เหลือเป็นการรวมถือหุ้นของแพทย์ท่านอื่น ๆ อีกหลายท่าน

“นโยบายสำคัญของเมคพาร์ค อย่างหนึ่งก็คือ การให้หมอหรือแพทย์ทุกท่านเข้ามามีส่วนร่วมในการเป็นเจ้าของธุรกิจด้วยกัน โดยเปิดโอกาสให้คุณหมอทุกท่านที่สนใจเข้ามาร่วมลงทุน เข้ามาถือหุ้นและเป็นเจ้าของเมดพาร์คร่วมกัน อย่างไรก็ตาม เบื้องต้นอาจจะกล่าวได้ว่า เมดพาร์คที่เพิ่งเปิดให้บริการนี้ก็คือ โรงพยาบาลลูกของ รพ.มหาชน เพียงแต่ว่าเมดพาร์คนั้นเป็นลูกที่เกิดมาแล้วตัวโตกว่าแม่”

ทุ่ม 7 พันล้านปั้นโปรเจ็กต์ยักษ์

นายแพทย์พงษ์พัฒน์ให้ข้อมูลว่า เมดพาร์คเป็นโรงพยาบาล ขนาด 550 เตียง ประกอบด้วย อาคาร 25 ชั้น พื้นที่ประมาณ 90,000 ตารางเมตร มีแพทย์เฉพาะทางกว่า 30 สาขา เมื่อเปิดให้บริการเต็มที่จะสามารถให้บริการด้วยห้องตรวจผู้ป่วยนอกถึง 300 ห้อง สามารถรองรับผู้ป่วยค้างคืนได้ 550 เตียง โดยมีจำนวนเตียงผู้ป่วยวิกฤต 130 เตียง รวมทั้งได้มีการจัดหาอุปกรณ์และเครื่องมือที่ก้าวหน้าอย่างครบครัน อาทิ PET-CT, MRI 3 Tesla, SPECT-CT, Nuclear Medicine, Radiation Therapy (เครื่อง LINAC), Bonne Marrow Tranplantation Unit และ Hybrid Operating Theater เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีศูนย์รักษาโรคต่าง ๆ อย่างครบครัน อาทิ ศูนย์หัวใจ ศูนย์ตรวจสุขภาพ คลินิกทันตกรรม คลินิกโรคผิวหนัง แผนกฉุกเฉิน คลินิกต่อมไร้ท่อ และเมตาบอลิซึม คลินิกโสต ศอ นาสิก คลินิกจักษุ คลินิกรักษาผู้มีบุตรยาก ศูนย์ทางเดินอาหารและตับ คลินิกอายุรกรรม คลินิกผู้สูงวัย คลินิกเส้นผม ศูนย์ไตเทียมแบบห้องส่วนตัว คลินิกโรคไตแบบบูรณาการ คลินิกประสาทวิทยา คลินิกศัลยกรรมประสาท คลินิกสูตินรีเวช เป็นต้น

ที่สำคัญโครงการนี้ได้สิทธิและประโยชน์ทางด้านภาษีอากรจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) 4 ส่วน คือ ศูนย์หัวใจ ศูนย์มะเร็ง ศูนย์ไต และศูนย์วินิจฉัยแล็บ และอีกส่วนหนึ่งที่ได้ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ คือ ศูนย์จำลองสถานการณ์ (Simulation Center) โดยสิทธิประโยชน์หลัก ๆ จะเป็นในเรื่องของการได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าเครื่องจักร และภาษีกำไรจากการประกอบธุรกิจ 8 ปี

“มูลค่าการลงทุนของโครงสร้างนี้รวมประมาณ 7,000 ล้านบาท แบ่งเป็นตัวอาคาร งานระบบ ตกแต่งภายใน ทั้งหมดน่าจะประมาณใกล้ ๆ 4,000 ล้านบาท เครื่องมือแพทย์ราว ๆ 1,500-1,600 ล้านบาท ค่าเช่าที่ดินประมาณ 1,000 ล้านบาท (จ่ายครั้งเดียว) ยังไม่นับรวมค่าพนักงาน-บุคลากร”

เพิ่มสัดส่วนไอซียูรับคนไข้วิกฤต

นายแพทย์พงษ์พัฒน์กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม สำหรับในเฟสแรกนี้เบื้องต้นจะเปิดเพียง 205 เตียง เพราะตอนนี้สถานการณ์ยังไม่ปกติ นอกจากการให้บริการกลุ่มคนไทยหรือชาวต่างประเทศที่พักในประเทศไทยแล้ว อนาคตต่อไปหลังจากสถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติก็จะมีชาวต่างประเทศด้วย โดยขณะนี้เมดพาร์คมีแพทย์ที่ทำงานแบบฟูลไทม์ประมาณ 80-100 คน และมีพยาบาลพนักงานอีกจำนวนหนึ่ง ที่สำคัญคือ ทีมแพทย์ของเมดพาร์คหลัก ๆ จะเป็นแพทย์ที่ผ่านระบบการฝึกอบรมในต่างประเทศ 60% ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ที่จบอเมริกันบอร์ด ผ่านการเทรนนิ่งในอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น ไต้หวัน เป็นต้น

ขณะที่ในส่วนของทีมพยาบาลที่จะรองรับทีมแพทย์ก็เป็นพยาบาลผ่านการฝึกอบรมเฉพาะทาง ในสัดส่วนที่มากกว่าค่าเฉลี่ยของโรงพยาบาลทั่ว ๆ ไป เนื่องจาก รพ.ได้เตรียมไว้สำหรับการรักษาโรคยาก โรคซับซ้อน คนไข้ที่วิกฤตโดยเฉพาะ นอกจากนี้ เมดพาร์คยังจะมีความพิเศษมากกว่าโรงพยาบาลอื่น ๆ คือ การมีสัดส่วนที่เป็นห้องวิกฤตหรือไอซียูมากถึง 30% เพื่อรองรับการรักษาโรคยาก ขณะที่โรงพยาบาลทั่ว ๆ ไปสัดส่วนของห้องไอซียูจะอยู่ที่ประมาณ 10% เท่านั้น ซึ่งในเฟสแรกที่เปิด 205 เตียง เมดพาร์คก็จะมีไอซียู 65 เตียง นอกจากนี้ ยังได้เตรียมห้องตรวจไว้ทั้งหมด 300 ห้อง เพื่อรองรับทีมแพทย์ที่จะทยอยเข้ามาเพิ่มในอนาคต

นอกจากนี้ รพ.เมดพาร์คยังส่งเสริมการศึกษาและงานวิจัยเพื่อสนับสนุนให้เพิ่มพูนองค์ความรู้ของบุคลากรให้ก้าวหน้าอยู่เสมอ เพื่อให้เกิดประโยชน์ในการรักษาพยาบาลและดูแลผู้ป่วย มีการวางแผนในการดูแลผู้ป่วยวิกฤต มีความพร้อมในการรักษาโรคยากและมีความซับซ้อน หรือเป็นหลายโรคพร้อม ๆ กัน หรือจตุตถภูมิ (quaternary care) และเป็นศูนย์กลางทางการแพทย์ของภูมิภาคเอเชียอาคเนย์

ผนึกกำลังแข่งสิงคโปร์

ผู้บริหารเมดพาร์คย้ำในตอนท้ายว่า การเกิดขึ้นของเมดพาร์คไม่ต้องการแข่งขันกับโรงพยาบาลเอกชนในประเทศด้วยกันเอง แต่เป้าหมายที่คิดในใจก็คือ ผู้ประกอบการโรงพยาบาลต้องร่วมมือกันแข่งกับสิงคโปร์ให้ได้ เพราะจะว่าไปแล้วขีดความสามารถด้านการรักษาของสิงคโปร์ ไม่ได้ชนะหรือเก่งกว่าไทยเลย ทรัพยากรเขาก็น้อยกว่าเรา ทั้งเกาะมีโรงพยาบาลเพียง 14-15 แห่ง มีจำนวนเตียงรวม 1 หมื่นเตียง ขณะที่ประชากรมีเพียง 4 ล้านคน และขณะที่ประเทศไทยนั้นได้ชื่อว่าเป็นเมดิคอลฮับ แต่ละปีมีคนไข้ชาวต่างประเทศเดินทางเข้ามารับการรักษา 3 ล้านกว่าคน แต่ในแง่ของรายได้กลับมีเพียงเท่ากับสิงคโปร์ที่มีคนไข้ต่างประเทศปีละ 8 แสนคน สิงคโปร์มีคนไข้ต่างประเทศน้อยกว่าไทยหลายเท่า แต่กลับมีรายได้มากกว่าไทย

“เมดพาร์คพร้อมจะร่วมกับ รพ.เอกชนอื่น ๆ ที่ทำอยู่แล้ว และเดินไปข้างหน้าด้วยกัน เป้าหมายสำคัญคือ การแซงหน้าสิงคโปร์ให้ได้ และหากจะแซงได้ก็ต้องเป็นในช่วงนิวนอร์มอลนี่แหละ และการที่จะเอาชนะได้ รพ.เอกชนจะต้องจับมือกัน รวมกัน อย่ามองว่าเป็นคู่แข่ง เป็นศัตรูกัน ไม่ใช่ ต้องจับมือกัน ต้องผนึกกำลังกันให้แน่น เราไม่ได้ต้องการแข่งกับใคร ไม่ต้องการจะแข่งกับพวกเรากันเอง อยากชวนโรงพยาบาลเอกชนมาแข่งกับสิงคโปร์ให้ได้” นายแพทย์พงษ์พัฒน์กล่าว