“อิออน” สู้ศึกอีคอมเมิร์ซ ปั้นเอ็นเตอร์เทนเมนต์ดึงนักช็อป

คอลัมน์ Market Move

อินโดนีเซียเป็นอีก 1 ประเทศที่ภาคค้าปลีกเริ่มได้รับผลกระทบจากเทรนด์อีคอมเมิร์ซ เห็นได้จากตัวเลขของธนาคารกลางอินโดนีเซียที่ระบุว่า ปีนี้ยอดค้าปลีกออฟไลน์เติบโตลดลงมากเฉลี่ยไม่ถึง 10% ต่อเดือน โดยเดือน ส.ค. โตเพียง 5.3% ในขณะที่ปีที่แล้วตลาดเติบโตระดับเลข 2 หลักหรือดับเบิลดิจิตทุกเดือน ในขณะที่ยอดขายของอีคอมเมิร์ซทั้งลาซาด้า, โทโคพีเดีย (Tokopedia) และอื่น ๆ เติบโตขึ้นตามอัตราครอบครองสมาร์ทโฟนที่ทะลุ 50% แล้ว

กระแสนี้บีบให้ผู้ประกอบการค้าปลีกต้องเร่งปรับตัว โดย “อิออน” ยักษ์ค้าปลีกจากญี่ปุ่นซึ่งเข้ามาปักธงสร้างห้างสรรพสินค้าในอินโดฯ ตั้งแต่ปี 2558 ได้ปรับกลยุทธ์ของอิออนมอลล์แห่งที่ 2 เพื่อรับมือกระแสอีคอมเมิร์ซ เช่นเดียวกับผู้เล่นท้องถิ่นรายอื่น ๆ

สำนักข่าว “นิกเคอิ” รายงานว่า ห้างสรรพสินค้าอิออนมอลล์ สาขา 2 ซึ่งตั้งอยู่ที่จาการ์ตา การ์เด้น ซิตี้ (Jakarta Garden City) ทางตะวันออกของกรุงจาการ์ตานั้น เป็นโมเดลที่แตกต่างจากสาขาแรก และห้างสรรพสินค้าอื่น ๆ อีกกว่า 100 แห่งอย่างสิ้นเชิง ด้วยการเป็น “เอ็นเตอร์เทนเมนต์มอลล์” ใหญ่ที่สุดในประเทศ เน้นความบันเทิงและการกิน-ดื่มเป็นหลัก ส่วนช็อปปิ้งเป็นเรื่องรอง ถึงขนาดตัดร้านค้ายอดนิยมอย่าง”ยูนิโคล่” และ “เอชแอนด์เอ็ม” ออกไปจากผัง เพื่อมุ่งตอบโจทย์ผู้บริโภคระดับกลางถึงบนในเขตเมืองที่ต้องการพื้นที่คลายเครียดจากการทำงาน และวิถีชีวิตเร่งรีบอย่างเต็มที่

โดยบนพื้นที่ขนาด 1.65 แสน ตร.ม.นั้น เป็นร้านอาหารและเครื่องดื่มมากกว่าครึ่ง เช่นเดียวกับสัดส่วนผู้เช่า ซึ่ง 52% จาก 227 ราย เป็นธุรกิจเกี่ยวกับอาหาร-เครื่องดื่ม นับว่ามากกว่าสาขาแรกถึง 10% รองลงมาเป็นความบันเทิงและกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ โรงภาพยนตร์และ “แฟนเพกกา” (Fanpekka) ศูนย์เรียนรู้สำหรับเด็กรวมถึง 2 ไฮไลต์สำคัญอย่างชิงช้าสวรรค์ขนาดใหญ่ที่สุด และลานสเกตมาตรฐานโลกแห่งแรก เพื่อเป็นจุดดึงดูดและสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง

“ยุคที่คนมาเดินห้างเพื่อซื้อสินค้าได้ผ่านไปแล้ว ปัจจุบันสิ่งที่ผู้บริโภคยังมาซื้อที่ห้างมีแค่สินค้าจำเป็น ของชำ และอาหารเท่านั้น เพราะสินค้าอื่นทั้งเครื่องใช้ไฟฟ้าและเสื้อผ้า สามารถหาซื้อได้ทุกที่ทั้งออนไลน์และออฟไลน์” โทโยฟูมิ คาชิ ประธานของอิออน อินโดนีเซีย กล่าว

ในขณะเดียวกันห้างสรรพสินค้าท้องถิ่นเองก็เร่งปรับตัวเช่นกัน โดย “ซีที คอร์ปอเรชั่น” (CT Corp.) เครือธุรกิจยักษ์ใหญ่ของอินโดนีเซียผู้ถือสิทธิห้างค้าปลีก “คาร์ฟูร์” ในอินโดฯ ได้หันเน้นด้านความบันเทิงเช่นกัน โดยเพิ่มโรงภาพยนตร์และสวนสนุกในร่มเข้าไปในสาขาปัจจุบัน และเตรียมลงทุน 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อขยายสาขาในโมเดลนี้อีกกว่า 100 สาขา เช่นเดียวกับ “ลิปโป กรุ๊ป” เครือธุรกิจใหญ่อีกรายซึ่งได้ทดลองเปิด “แมกซ์ บอกซ์ ลิปโป วิลเลจ” (Maxx Box Lippo Village) ห้างสรรพสินค้าโมเดลใหม่เน้นร้านอาหารและโรงภาพยนตร์เป็นหลัก หวังเจาะย่านชานเมืองของกรุงจาการ์ตา

ด้าน “มิตรา อดิเพอร์คาซา” (Mitra Adiperkasa) ผู้บริการพื้นที่ค้าปลีกอีกราย กำลังพิจารณาลดขนาดธุรกิจห้างสรรพสินค้าของตนลง หลังผู้เช่าในเซ็กเมนต์แฟชั่นหลายรายทยอยปิดกิจการอย่างต่อเนื่อง

นอกจากนี้อิออนเองเริ่มปรับสาขาในประเทศบ้านเกิดเช่นกัน ด้วยการตั้งแผนกเฉพาะกิจขึ้นเมื่อปี 2559 สำหรับสอดส่องหาธุรกิจโดยเฉพาะด้านอาหาร-เครื่องดื่มในอาเซียนที่มีศักยภาพ เพื่อนำกลับไปเปิดกิจการในห้างอิออนสาขาญี่ปุ่น หวังเป็นจุดดึงดูดลูกค้ารวมถึงศึกษาโนว์ฮาวด้านสตรีตฟู้ดและอาหารสไตล์อาเซียน