สำนักพิมพ์แดนมังกร พึ่งเอไอ ตัวช่วย…แปลนิยายออนไลน์ตีตลาดโลก

วรรณกรรมออนไลน์ หรือหนังสือที่เผยแพร่บนอินเทอร์เน็ต เป็นสื่อที่กำลังได้รับความนิยมและเติบโตแบบก้าวกระโดดในประเทศจีนสะท้อนจากข้อมูลของสถาบันสังคม

ศาสตร์จีนที่ระบุว่า ผู้ใช้อินเทอร์เน็ตชาวจีนมากกว่า 50% หรือประมาณ 455 ล้านคน ต่างอ่านหนังสือบนออนไลน์ ในขณะที่ชาวจีนมากกว่า 17 ล้านคน เผยแพร่งานเขียนของตนบนอินเทอร์เน็ต โดยแนวที่ได้รับความนิยมสูงคือ โรแมนติก, ประวัติศาสตร์, ไซไฟ และแฟนตาซี

ในระดับโลกเองวรรณกรรมออนไลน์ของจีน โดยเฉพาะกลุ่มนิยายออนไลน์ หรือเว็บโนเวล (web novel) แนวกำลังภายใน และกำลังภายในสไตล์แฟนตาซียังได้รับความนิยมจากนักอ่านในหลายประเทศจนมีกลุ่มแฟนคลับเหนียวแน่น โดยบริษัทวิจัยไอรีเสิร์ช ประเมินว่า เฉพาะปี 2562 ที่ผ่านมา มีชาวต่างชาติอ่านนิยายออนไลน์ของจีนไม่น้อยกว่า 31 ล้านคน

ด้วยดีมานด์ที่ล้นหลามนี้ ผลักดันให้สำนักพิมพ์และแพลตฟอร์มวรรณกรรมออนไลน์ในแดนมังกร ต้องนำเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือเอไอ มาช่วยแปลนิยายแทนนักแปลที่เป็นมนุษย์ หวังเพิ่มความรวดเร็วในการเผยแพร่ผลงานให้กับผู้อ่านชาวต่างชาติและสร้างรายได้แบบเป็นกอบเป็นกำกลับมา

สำนักข่าว “เซาท์ ไชน่า มอร์นิ่ง โพสต์” รายงานถึงปรากฏการณ์นี้ว่า ปัจจุบันในจีนการใช้เอไอแปลวรรณกรรมรูปแบบต่าง ๆ แทนมนุษย์กำลังเป็นเทรนด์มาแรง โดยมีทั้งสตาร์ตอัพ และบริษัทไอทียักษ์ใหญ่โดดเข้ามาพัฒนาเอไอแปลภาษา รวมถึงรับหน้าที่เผยแพร่นิยายในต่างประเทศ

หนึ่งในนั้นคือ “เทนเซ็นต์” ยักษ์ไอทีสัญชาติจีน และยังเป็นผู้เล่นรายใหญ่ในตลาดวรรณกรรมออนไลน์ มีเอไอแปลภาษาไว้ให้บริการแปลนิยายภาษาจีนเป็นอังกฤษ พร้อมมีแพลตฟอร์ม “เว็บโนเวล” ไว้ให้เผยแพร่

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มสตาร์ตอัพเข้ามารับดีมานด์จากกระแสนี้ด้วย เช่น ฟันสตอรี่ดอตเอไอ (Funstory.ai) ซึ่งจับมือกับแพลตฟอร์มเว็บโนเวลสัญชาติจีนกว่า 60 แห่ง เพื่อรับนิยายมาแปลเป็นภาษาอังกฤษ พร้อมเผยแพร่ในช่องทางต่าง ๆ อาทิ อเมซอน คินเดิล และแอปเปิล บุ๊ก อีกด้วย

“ถง เย่” ซีอีโอของฟันสตอรี่ดอตเอไอ อธิบายว่า ปกติความเร็วของนักแปลมืออาชีพจะอยู่ที่ประมาณ 1 พันคำต่อชั่วโมง แต่เอไอจะใช้เวลาแปลเนื้อหาความยาวเท่ากันนี้เพียง 1 วินาที ทำให้เมื่อนำเอไอมาช่วย ในกรณีที่เร็วที่สุดเราสามารถแปล และเผยแพร่เว็บโนเวลให้กับผู้อ่านต่างชาติได้ภายในเวลาเพียง 48 ชั่วโมงเท่านั้น

แม้จะได้เปรียบได้ความเร็ว แต่การใช้เอไอช่วยแปลนิยายนั้นยังต้องเผชิญความท้าทายทั้งจากปัจจัยภายใน อย่างคุณภาพงานแปล ไม่ว่าจะความถูกต้อง หรือความสละสลวยของสำนวน และปัจจัยภายนอก ซึ่งก็คือ ผู้อ่านที่จำนวนไม่น้อยยังมองว่าการแปลของเอไอนั้นไม่สามารถเทียบเท่ากับนักแปลที่เป็นมนุษย์ได้

หนึ่งในผู้อ่านกลุ่มนี้คือ เหล่าแฟนนิยายกำลังภายใน ซึ่งหลายคนต่อยอดความชอบพัฒนาตนเองเป็นนักแปลด้วย “เจเรมี ไบ” หนึ่งในนักแปลอิสระ ซึ่งลงผลงานในเว็บไซต์รวมนิยายจีนกำลังภายใน “อู๋เซียเวิลด์” (Wuxiaworld) มาตั้งแต่ปี 2558 กล่าวว่า ในอนาคตมีความเป็นไปได้ที่เอไอจะสามารถแปลวรรณกรรมได้ทัดเทียมกับมนุษย์ แต่ปัจจุบันผลงานของมนุษย์ยังคงดีกว่าในระดับที่ผู้อ่านทั่วไปสามารถสังเกตได้ โดยเฉพาะการเลือกใช้ถ้อยคำ และจัดรูปประโยค ที่ผู้ที่พูดภาษาจีนเป็นภาษาหลักจะไม่เลือกใช้ ทั้งตัวประโยคยังยาวเกินความจำเป็น คล้ายกับประโยคที่เขียนโดยชาวต่างชาติ

นอกจากนี้ การแปลของมนุษย์ยังได้เปรียบในด้านการนำบริบทต่าง ๆ มาประกอบการแปลคำพ้องเสียง-รูป, คำที่ความหมายเปลี่ยนไปตามยุคสมัย หรือคำที่ไม่สามารถแปลเป็นภาษาอังกฤษได้โดยตรง

“แน่นอนว่าการอัพเดต และเพิ่มคำศัพท์ในฐานข้อมูลของเอไอจะช่วยแก้โจทย์นี้ได้ แต่ต้องใช้ทั้งเวลา และแรงงานคนมาคอยใส่ข้อมูล”

ด้านผู้พัฒนาเอไอ พยายามแก้โจทย์นี้เช่นกัน “ถง เย่” อธิบายว่า บริษัทรับมือเรื่องนี้ด้วยการนำมนุษย์เข้ามาในกระบวนการ ด้วยการจัดเตรียมข้อมูล รวมถึงใส่บริบทที่เกี่ยวข้องเข้าไปประกอบ เช่น จัดหมวดชื่อวรยุทธ์ สำนักต่าง ๆ ตัดประโยคที่ยาวหรือซับซ้อนเป็นส่วนย่อย ก่อนเริ่มการแปล เพื่อให้เอไอสามารถเข้าใจวรรณกรรมนั้น ๆ ได้ดีขึ้น

ด้วยวิธีนี้ทำให้มีเพียงประมาณ 10% ของงานแปลจากเอไอของฟันสตอรี่ดอตเอไอ ที่ต้องผ่านการตรวจทานโดยมนุษย์อีกครั้ง

นอกจากนี้ ซีอีโอของฟันสตอรี่ดอตเอไอยังกล่าวว่า ตามปกติแล้ว ผู้ที่อ่านนิยายออนไลน์นั้นจะให้ความสำคัญกับพลอตเรื่องมากกว่าสำนวนการแปล ทำให้การแปลของเอไอในปัจจุบันอยู่ในระดับที่ยอมรับได้

ไปในทิศทางเดียวกับความเห็นของ “โจ ลัสบี” ซีอีโอของพิกซีบี บริษัทที่ปรึกษาธุรกิจด้านบันเทิงและสื่อ ที่ระบุว่า สำหรับนิยายออนไลน์ พลอตสำคัญกว่าสไตล์การเขียน เพราะผู้อ่านจะใช้เวลาน้อยกว่าการอ่านแบบเป็นเล่ม จึงนิยมใช้สำนวนการเขียนที่เรียบง่าย และรวดเร็ว เพื่อให้อ่านได้ง่ายและรวดเร็ว

หากจีนสามารถพัฒนาเอไอให้สามารถแปลวรรณกรรมได้สมบูรณ์ ความฝันของวงการวรรณกรรมจีนที่จะสร้างมาร์เวลแห่งแดนมังกรขึ้นมาแข่งกับมาร์เวลของดิสนีย์ อาจจะใกล้ความจริงเข้าไปอีกขั้น