“วอริกซ์” พลิกโควิดเป็นโอกาส สลัดภาพแบรนด์ชุดกีฬาสู่ค้าปลีกสุขภาพ

“วอริกซ์” พลิกวิกฤตโควิด-19 เป็นโอกาส ลุยแตกไลน์ธุรกิจไลฟ์สไตล์สุขภาพ ทั้งคลินิกกายภาพ, สินค้า-อาหาร หลังโรคระบาดปลุกดีมานด์สุขภาพพุ่ง พร้อมหันโฟกัสช่องทางออนไลน์ขยายตลาดใน-นอกประเทศ เตรียมปูพรมตู้คีออสก์ช็อปออนไลน์ 100 จุดทั่วประเทศในไตรมาส 4 ก่อนเปิดร้านบน Amazon.co.jp ปีหน้า หวังเพิ่มกำไร-ขยายฐานลูกค้า มั่นใจปีนี้กำไรโต 5 เท่า แม้ปรับเป้ารายได้ลงเป็น 700 ล้านบาท

นายวิศัลย์ วนะศักดิ์ศรีสกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท วอริกซ์ สปอร์ต จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายเสื้อผ้าและอุปกรณ์กีฬา ภายใต้แบรนด์ “วอริกซ์” เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ผ่านมาว่า ส่งผลกระทบกับตลาดสินค้ากีฬา เช่นเดียวกับธุรกิจอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นจำนวนลูกค้าที่ลดลง ทั้งในห้างสรรพสินค้าและร้านค้าภายนอกห้าง เช่นเดียวกับกำลังซื้อซึ่งปัจจุบันยังไม่มีทีท่าจะกลับสู่ภาวะปกติทั้งในไทยและต่างประเทศ ส่งผลให้การขายท้าทายยิ่งขึ้น ในขณะที่การแข่งขันราคาดุเดือดขึ้น โดยเฉพาะในช่องทางโมเดิร์นเทรด ที่บรรดาร้านค้าและแบรนด์พยายามระดมโปรโมชั่นเพื่อระบายสต๊อกสินค้าให้เร็วที่สุด พร้อม ๆ กับการที่หลายรายได้ชะลอการออกสินค้าใหม่ และการขยายสาขาลง

“เชื่อว่าปีนี้ผู้เล่นทุกรายทั้งแบรนด์ไทยและอินเตอร์แบรนด์ต่างได้รับผลกระทบไปตาม ๆ กัน และหลังจากนี้อาจมีบางแบรนด์ที่อาจจะต้องล้มหายไป อย่างไรก็ตาม สำหรับวอริกซ์เอง ช่วงเดือนเมษายน ยอดขายจากโมเดิร์นเทรดหายไปถึง 2 ใน 3 ของช่วงปกติ และกระทบยาวถึงเดือนพฤษภาคม ก่อนจะเริ่มฟื้นตัวในเดือนมิถุนายน”

พลิกวิกฤตเป็นโอกาส

กรรมการผู้จัดการ บริษัท วอริกซ์ เปิดเผยว่า การระบาดของโควิด-19 นอกจากความท้าทายดังกล่าวแล้ว อีกด้านหนึ่งก็ยังถือเป็นโอกาสด้วย ไม่ว่าจะเป็นการสร้างความตื่นตัวเรื่องสุขภาพในระดับที่ไม่เคยมีมาก่อน จนอาจเรียกได้ว่า ปัจจุบันผู้บริโภคมองว่า “สุขภาพ คือ ความมั่งคั่งอย่างหนึ่ง” หรือ Health is new wealth. ช่วยให้สินค้ากีฬา ทั้งเสื้อผ้าและอุปกรณ์ออกกำลัง ไปจนถึงบริการเกี่ยวกับสุขภาพและการออกกำลังมีดีมานด์สูงขึ้น ขณะเดียวกันกำลังซื้อที่ลดลง และการทำงานที่บ้านทำให้ผู้บริโภคเน้นความคุ้มค่าของสินค้า เช่น การใช้งานได้หลายโอกาส ทั้งออกกำลังกายและลำลอง เช่นเดียวกับการหันไปช็อปออนไลน์แทนโมเดิร์นเทรด เพราะไม่ต้องการไปในสถานที่ที่ผู้คนพลุกพล่าน ต่างเป็นจุดที่สามารถนำมาใช้เป็นโอกาสทางธุรกิจได้ โดยเฉพาะการชิงส่วนแบ่งตลาดจากคู่แข่ง

ทั้งนี้ บริษัทปรับตัวและพยายามพลิกวิกฤตเป็นโอกาส โดยได้มีการปรับกลยุทธ์และหันพึ่งพาตัวเองมากขึ้น เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มกำไร โดยเฉพาะในช่องทางจำหน่ายที่ลงทุนอัพเกรดเว็บไซต์ให้รองรับลูกค้าได้กว่า 1 แสนคนพร้อม ๆ กัน เพื่อรับกระแสช็อปออนไลน์ ช่วยให้ยอดออนไลน์เดือนมีนาคมสูงที่สุดนับตั้งแต่เปิดช่องทางนี้มา และ 9 เดือนรายได้จากออนไลน์เติบโต 80.5% มีสัดส่วน 30% ของยอดขายรวม เพิ่มจากก่อนโควิดที่มีสัดส่วนไม่ถึง 25%

กลยุทธ์นี้นอกจากช่วยลดต้นทุนลงเพราะไม่ต้องเสียค่ากำไรขั้นต้นหรือจีพีให้กับแพลตฟอร์ม-โมเดิร์นเทรดแล้ว ยังทำให้บริษัทมีเม็ดเงินเหลือมาลงทุนด้านการตลาดมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโปรโมชั่นที่จัดได้ถี่และแรงขึ้น ช่วยเปลี่ยนสต๊อกสินค้าเป็นเม็ดเงินมาสร้างสภาพคล่อง หรือการใช้อินฟลูเอนเซอร์-พรีเซ็นเตอร์ ซึ่งปีนี้จะมีเพิ่มอีก 2 คน คือ “น้ำตาล-วิลาสินี รัตนนัย” นักฮอกกี้น้ำแข็งทีมชาติที่เด่นด้านวิทยาศาสตร์การกีฬา และ “โปรโต๋เต๋-ฐิติพรรษ์ ช่วยประคอง” นักกอล์ฟที่มีผลงานเด่นในญี่ปุ่น หลังจากก่อนหน้านี้ดึงตัว “อุ้ม-ธีราทร บุญมาทัน” และ “ตอง-กวินทร์ ธรรมสัจจานันท์” 2 นักเตะทีมชาติไทย เพื่อสร้างการรับรู้ทั้งในไทยและต่างประเทศ

“การปรับตัวดังกล่าวช่วยให้ไตรมาส 3 ที่ผ่านมา บริษัทสามารถกลับมามีกำไรได้แล้ว หลังจากนี้จึงจะเดินหน้าต่อเพื่อรักษาเพิ่มสัดส่วนกำไรให้มากขึ้น”

ก้าวข้ามสินค้ากีฬา-บุกธุรกิจใหม่

นายวิศัลย์กล่าวว่า นอกจากนี้ วอริกซ์ยังเดินหน้าขยายช่องทางออนไลน์ต่อเนื่อง เพื่อเป็นหัวหอกรุกต่างประเทศ โดยเตรียมจับมือพันธมิตรบริษัทญี่ปุ่นเปิดหน้าร้านบนแพลตฟอร์มอเมซอนเจแปน (Amazon.co.jp) ภายในช่วงครึ่งหลังปี 2564 หลังจากช่วงปลายปีนี้จะเพิ่มหน้าเพจภาษาอื่น ๆ บนเว็บไซต์ ทั้งญี่ปุ่น, มลายู, อินโดนีเซีย, จีน ฯลฯ เพื่อรองรับลูกค้าต่างชาติ นอกจากนี้ยังเดินหน้าปูพรมจุดจำหน่ายแบบคีออสก์ (kiosk) ซึ่งจะมีหน้าจอให้ลูกค้าค้นหาและสั่งซื้อสินค้าผ่านออนไลน์อีก 100 จุดทั่วประเทศ แบ่งเป็นในร้านค้า 40 แห่ง และทำเลอื่น ๆ อย่างสถานีรถไฟฟ้าอีก 60 จุด พร้อมกับขยายสาขาที่สเตเดียมวัน จากเดิม 9 คูหา เป็น 17 คูหา รวมถึงเตรียมเปิดสาขาใหม่ที่บาเยิร์น มิวนิก สปอร์ต คอมเพล็กซ์ ใกล้อาร์ซีเอ เพื่อรองรับหมวดหมู่สินค้า-บริการที่เพิ่มเข้ามาใหม่

พร้อมอาศัยจังหวะนี้ ปรับยุทธศาสตร์ใหม่ นำแผนที่วางไว้ในอนาคตอีก 3-5 ปี ที่จะเน้นธุรกิจ “ไลฟ์สไตล์” ที่เป็น 1 ใน 3 เสาหลักของวอริกซ์ ซึ่งประกอบด้วยธุรกิจสปอร์ต, ไลฟ์สไตล์ และไลเซนซิ่ง มาเริ่มดำเนินการในปีนี้ทันที ด้วยการเพิ่มธุรกิจด้านสุขภาพใหม่อีก 3 ด้าน คือ ธุรกิจบริการสุขภาพ “วอริกซ์ เฮลท์” ธุรกิจสินค้าสุขภาพ “วอริกซ์ คอนซูเมอร์” และธุรกิจอาหารสุขภาพ “วอริกซ์ ฟู้ด”

“แนวคิดหลักคือ เราไม่ได้ขายเสื้อผ้า แต่ขายสุขภาพและความแข็งแรง ผ่านช่องทางจัดจำหน่ายของบริษัทเอง” นายวิศัลย์กล่าวและว่า

โดย “วอริกซ์ เฮลท์” เป็นสิ่งที่บริษัทโฟกัสตลอด 9 เดือนที่ผ่านมา และ 1-2 ปีหลังจากนี้ มี Warrix Physiotherapy & Performance Studio คลินิกด้านเวชศาสตร์การกีฬา ซึ่งมีบริการตั้งแต่เสริมสร้างศักยภาพนักกีฬา ไปจนถึงรักษาออฟฟิศซินโดรม ด้วยทีมนักกายภาพบำบัด และอุปกรณ์รุ่นล่าสุด ค่ารักษาเริ่มต้น 1.2 พันบาทเป็นหัวหอก เปิดสาขาแรกที่โครงการสเตเดียมวันเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา พร้อมทำตลาดผ่านเพจเฟซบุ๊ก Warrix Health รวมถึงโปรโมชั่น อาทิ รักษาเหมาจ่ายทุกอุปกรณ์ 3 พันบาท จากปกติ 3.5 พันบาท และตรวจวินิจฉัยฟรี เป็นต้น

ทั้งนี้เตรียมขยายพื้นที่สาขาแรกเพิ่มอีก 400-500 ตร.ม. และเปิดสาขา 2 ที่บาเยิร์นมิวนิก สปอร์ต คอมเพล็กซ์ในปีหน้า และหลังเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯภายในกลางปี 2564 มีแผนขยายอีก 8-12 สาขาทั่วประเทศ รวมถึงนำอินฟลูเอนเซอร์ที่ไม่ใช่นักกีฬามาช่วยทำการตลาด และจะนำสินค้าสุขภาพแบบเทลเลอร์เมดหรือสั่งตัด เช่น ที่นอนและหมอนเข้ามาจำหน่ายอีกด้วย

ด้าน “วอริกซ์ คอนซูเมอร์” จับมือกับ “ซี.พี. คอนซูเมอร์ โพรดักส์” รวมถึงพันธมิตรอื่น ๆ อาทิ ตัวแทนจำหน่ายสินค้าไอที “ท็อปแวลู” (Topvalue) แบรนด์สมาร์ทวอตช์ “ทิกวอตช์” (Ticwatch) คัดเลือกสินค้าสุขภาพ เช่น เวย์โปรตีน, นม, สเปย์ดับกลิ่นกาย, ถุงยาง, สมาร์ทวอตช์ ฯลฯ มาวางจำหน่ายทั้งทางออนไลน์และออฟไลน์ สำหรับ “วอริกซ์ ฟู้ด”

จะจำหน่ายอาหารสุขภาพ อย่างนม, สมูทตี้, ขนมปังผัก โดยมีกำหนดเปิดร้านอาหารสุขภาพในโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน ซึ่งบริษัทมีร้านขายสินค้ากีฬาอยู่แล้วช่วง 3-6 เดือนหลังจากนี้ เน้นเมนูอาหารสุขภาพ ในราคาจับต้องได้สำหรับนักเรียนและครู

รัดเข็มขัดหนุนกำไรเพิ่ม

ส่วนธุรกิจสินค้ากีฬา “วอริกซ์ สปอร์ต” นายวิศัลย์กล่าวว่า จะเพิ่มความหลากหลายของแบรนด์และหมวดสินค้าให้ครบวงจร โดยเฉพาะเซ็กเมนต์ระดับท็อป กลุ่มแก็ดเจต รวมถึงกีฬาอย่างวิ่งหรือเทรนนิ่ง ซึ่งเป็นจุดที่ยังขาดและบริษัทไม่ชำนาญ ด้วยการรับสินค้าจากแบรนด์อื่น ๆ มาวางขายแทนการพัฒนาสินค้าเอง ไม่ว่าจะเป็นอาดิดาสที่จะนำมาขายในปี 2564 หลังจากก่อนหน้านี้รับสินค้าสมาร์ทวอตช์ของการ์มิน อุปกรณ์มวยแบรนด์ทวินมาวางจำหน่ายแล้ว รวมถึงสร้างความแตกต่างและจูงใจด้วยบริการเทลเลอร์เมด เช่น บริการวอริกซ์ธีมแวร์ (Warriz theme ware) ที่เปิดให้สั่งเสื้อแบบคัสตอมเมด เริ่มตั้งแต่ 1 ตัว ใช้เวลา 14 วัน เชื่อว่าจะช่วยเสริมการรุกตลาดญี่ปุ่นได้ดี คาดว่าธุรกิจใหม่ทั้ง 3 ตัวนี้ น่าจะสามารถสร้างรายได้อย่างเป็นรูปธรรมในอีก 3-5 ปีจากนี้

ส่วนของการประมูลสิทธิผลิตเสื้อทีมกีฬาและตลาดต่างประเทศ บริษัทจะยังเดินหน้าต่อเนื่อง เพราะแม้ปัจจุบันรายได้จากส่วนนี้จะไม่ถึง 20% ของรายได้รวม แต่เป็นธุรกิจศักยภาพสูง เนื่องจากทีม-แฟนกีฬามีจำนวนมากในทุกประเทศ ในขณะที่ผู้ผลิตท้องถิ่นยังไม่แข็งแกร่งนัก โดยปัจจุบันบริษัทโฮลดิ้งที่สิงคโปร์ก่อตั้งเสร็จสิ้นแล้ว ส่วนบริษัทย่อยในประเทศญี่ปุ่นและอินโดนีเซีย ต้องรอให้สามารถเดินทางได้ก่อน

“อย่างไรก็ตาม ปีนี้บริษัทได้ปรับเป้ารายได้จาก 1,000 ล้านบาท เป็น 700 ล้านบาท หรือเท่ากับปี 2562 ที่ผ่านมา เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ แต่สัดส่วนกำไรจะสูงขึ้นถึง 5 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2562 เป็นผลจากการปรับกลยุทธ์หันพึ่งตนเองและรัดเข็มขัดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ”