“เออาร์” ตัวช่วยวงการกีฬา ความหวังสร้างรายได้สู้โควิด-19

ปีนี้ นอกจากมหกรรมกีฬาโอลิมปิกแล้ว การแข่งขันกีฬาทั่วโลกต่างได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคโควิด-19 กันถ้วนทั่วหน้า ต้องเลื่อน ต้องงดการแข่งขัน ตลอดจนแข่งขันกันแบบไม่มีผู้ชมในสนาม

แน่นอนว่า ไม่ว่าจะรูปแบบใดต่างก็ส่งผลกระทบกับรายได้ของผู้จัด ทีมกีฬา รวมไปถึงผู้ถือสิทธิถ่ายทอดการแข่งขันอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

นี่คือ ความท้าทายใหม่ของวงการกีฬา ที่กระตุ้นให้บรรดาผู้เกี่ยวข้องพยายามหาทางรับมือในรูปแบบต่าง ๆ

การนำเทคโนโลยีมาใช้ เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่ได้รับความนิยม โดยเฉพาะเทคโนโลยี “เวอร์ชวลเรียลิตี้” หรือวีอาร์ (VR & vertual reality) ที่หลาย ๆ ฝ่ายคาดว่าน่าจะประสบความสำเร็จ เพราะช่วยให้ผู้ชมได้รับประสบการณ์แบบ 360 องศา เหมือนนั่งชมในสนามจริง ๆ

อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่ากลยุทธ์นี้จะไม่ประสบความสำเร็จอย่างที่หลายฝ่ายหวังไว้ จนต้องเร่งหากลยุทธ์ใหม่กันอีกครั้ง

สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า แม้เทคโนโลยีเวอร์ชวลเรียลิตี้ ซึ่งเป็นหนึ่งในเทรนด์มาแรงจนคาดว่าจะกลายเป็นตลาดที่มีมูลค่าสูงถึง 1.5 ล้านล้านเหรียญสหรัฐในอนาคตนั้น ดูเหมือนจะไม่สามารถตอบโจทย์ของวงการกีฬาในช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 นี้ได้

โดยก่อนหน้านี้ผู้จัดการแข่งขันกีฬาหลายรายในสหรัฐอเมริกา อาทิ บาสเกตบอลเอ็นบีเอ เบสบอลเมเจอร์ลีก และลีกฮอกกี้แห่งชาติ ได้จับมือกับยักษ์เทคโนโลยีด้านวีอาร์ อย่างเฟซบุ๊กและสแนปแชต เพื่อถ่ายทอดการแข่งขันผ่านระบบวีอาร์โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งได้รับผลตอบรับค่อนข้างดีจากบรรดาแฟนกีฬา แต่การสร้างรายได้จากการรับชมผ่านวีอาร์นั้นไม่ง่ายอย่างที่คิด

“นิโคลาส อาวิลา” หัวหน้าเจ้าหน้าที่เทคโนโลยีของโกลแบลท บริษัทด้านไอทีและซอฟต์แวร์ ที่มีธุรกิจทั้งในสหรัฐอเมริกา อเมริกาใต้ และยุโรป กล่าวว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีวีอาร์ยังขาดองค์ประกอบสำคัญที่จะช่วยให้ประสบความสำเร็จอยู่ ไม่ว่าจะเป็นคุณภาพของภาพและเสียง ที่ยังไม่สมจริงตามความคาดหวังของผู้ชมหากต้องเสียค่าเข้าชม และอุปกรณ์ที่ทำได้น่าจะต้องการการเชื่อมต่อผ่าน 5G เพื่อส่งข้อมูลภาพและเสียงที่คมชัดเหมือนอยู่ในสถานที่จริง โดยปัจจุบันอุปกรณ์ที่รองรับสัญญาณ 5G เพิ่งออกสู่ตลาดเพียงไม่กี่ชนิดเท่านั้น

“ปัจจุบันการใช้วีอาร์เพื่อรับชมอีเวนต์ต่าง ๆ แทนการไปด้วยตนเองยังอยู่ในระยะทดลองเท่านั้น”

แม้แต่เฟซบุ๊กที่เปิดตัวอุปกรณ์วีอาร์รุ่นใหม่เมื่อเร็ว ๆ นี้ และอยู่ระหว่างเจรจากับเอ็นบีเอในการเพิ่มจำนวนแมตช์การแข่งขันที่จะถ่ายทอดผ่านระบบวีอาร์ ก็ยังยอมรับว่า หากต้องการให้ผู้ใช้งานได้รับประสบการณ์แบบเดียวกับการมานั่งชมในที่นั่งริมขอบสนาม กล้องถ่ายทอดจะต้องมีเลนส์ที่ดีกว่าในปัจจุบัน

“รอป ชอว์” หัวหน้าฝ่ายคอนเทนต์กีฬาของเฟซบุ๊ก กล่าวว่า บริษัทเองยังไม่พร้อมจะคิดค่าเข้าชมกีฬาผ่านอุปกรณ์วีอาร์เช่นกัน เพราะปัจจุบันการใช้งานรูปแบบนี้ยังอยู่ในขั้นทดลอง และยังต้องใช้เวลาพัฒนาเพื่อให้ผู้ชมรู้สึกเหมือนนั่งอยู่ในที่นั่งแถวหน้าจริง ๆ ขณะเดียวกันยังต้องรอให้ผู้ใช้งานมีจำนวนมากกว่านี้เสียก่อน

อย่างไรก็ตาม ผู้บริหารเฟซบุ๊กเชื่อว่า เมื่อเทคโนโลยีไปถึงจุดดังกล่าวแล้ว การสร้างรายได้อาจไม่ใช่เรื่องยาก เพราะสิ่งนี้จะเป็นช่องทางให้ผู้บริโภคทั่วไปสามารถเข้าถึงประสบการณ์ชมกีฬาแบบพรีเมี่ยมได้ แบรนด์สินค้า-บริการน่าจะต้องการเข้ามาสร้างการรับรู้กับผู้ชม ทำให้มีโอกาสที่จะหารายได้ด้วยการคิดค่าสปอนเซอร์ หรือค่าสมาชิกรายเดือนสำหรับผู้ที่ไม่ต้องการชมโฆษณา

ขณะเดียวกันเทคโนโลยีที่มีลักษณะคล้ายกันอย่างอ็อกเมนเต็ดเรียลิตี้ หรือเออาร์ (AR & augmented reality) ที่ใช้การผสมผสานโลกเสมือนเพิ่มเข้าไปในโลกจริง โดยที่ผ่านมามีการนำมาใช้บ้างแล้ว เช่น ระบบแสดงทิศทางและตำแหน่งลูกเบสบอล เพื่อให้กรรมการสามารถตัดสินได้แม่นยำ หรือการวางป้ายโฆษณาในสนามกีฬาที่ผู้ชมการถ่ายทอดในแต่ละประเทศจะเห็นแบรนด์บนป้ายแตกต่างกัน ฯลฯ เป็นอีกเทคโนโลยีที่กำลังได้รับความสนใจจากวงการกีฬาในการนำมาตอบโจทย์ช่วงการระบาด

หนึ่งในข้อได้เปรียบสำคัญของเทคโนโลยีนี้คือ ผู้บริโภคไม่จำเป็นต้องลงทุนหาซื้ออุปกรณ์เฉพาะด้าน เพียงแค่มีสมาร์ทโฟนก็สามารถใช้งานได้ จึงสามารถเข้าถึงคนจำนวนมากได้ง่ายกว่าเทคโนโลยีวีอาร์ นอกจากนี้บริษัทเทคโนโลยีหลายราย อาทิ ไมโครซอฟท์ สแนปส์ รวมไปถึงแอปเปิ้ล ที่ลงทุนพัฒนาระบบเออาร์มาระยะหนึ่งแล้ว จนเชื่อกันว่าค่ายผลไม้จะเปิดตัวอุปกรณ์เออาร์ในปี 2566

“สจวดต์ บอเดน” วิศวกรซอฟต์แวร์อาวุโสของเนอดี้ บริษัทที่ปรึกษาด้านธุรกิจไอที อธิบายว่า เออาร์นั้นเข้าถึงง่ายกว่าวีอาร์มาก โดยเพียงแค่มีไอโฟนหรือไอแพด ผู้บริโภคก็สามารถใช้งานเทคโนโลยีนี้ในระดับพื้นฐานได้แล้ว ทำให้ธุรกิจมั่นใจที่จะทุ่มงบฯพัฒนาคอนเทนต์ให้กับเทคโนโลยีนี้มากกว่าวีอาร์

นอกจากนี้ความก้าวหน้าของปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ ยังมาช่วยเสริมแกร่งให้กับเทคโนโลยีเออาร์ ด้วยการเพิ่มความเร็วของการประมวลผลข้อมูลต่าง ๆ ที่จะนำมาแสดงให้กับผู้ชม

นักวิเคราะห์คาดว่าลีกกีฬาแรกในสหรัฐที่จะนำเทคโนโลยีเออาร์มาใช้ คือ เบสบอลเมเจอร์ลีก ซึ่งติดตามความคืบหน้าของการพัฒนาเทคโนโลยีเออาร์ของแอปเปิลอย่างใกล้ชิด และเคยนำตัวอย่างการใช้งานมาแสดงในอีเวนต์ของแอปเปิลเมื่อปี 2560 รวมถึงยังมีแผนนำเทคโนโลยีเออาร์มาใช้ร่วมกับ “ฮอว์กอาย” ระบบติดตามทิศทางและความเร็วลูกเบสบอลที่ใช้งานอยู่อีกด้วย

“จอห์นสัน เกรกคี” หัวหน้าฝ่ายเทคโนโลยีของเมเจอร์ลีก กล่าวถึงแผนนี้ว่า มุ่งนำเสนอข้อมูลต่าง ๆ ให้ผู้ชมในสนามดูได้แบบสด ๆ เช่น ข้อมูลผู้เล่น สถิติต่าง ๆ รวมถึงเส้นทางของลูกเบสบอล