เพิ่มกำลังผลิตเต็มอัตรา ธุรกิจรับมือล็อกดาวน์ รอบ 2

แม้จะมีข่าววัคซีนโรคโควิด-19 ของบริษัทไฟเซอร์ออกมาให้ผู้คนทั่วโลกได้ตื่นเต้น

แต่ขณะเดียวกันหลายประเทศในโลกตะวันตก อาทิ สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เยอรมนี จำเป็นต้องนำมาตรการล็อกดาวน์ทั้งเต็มรูปแบบ และบางส่วนกลับมาใช้อีกครั้งนี้ เพื่อสกัดการแพร่ระบาดในช่วงหน้าหนาวที่กำลังจะมาถึง หลังหลายประเทศเริ่มมีสัญญาณของการระบาดรอบ 2

อย่างไรก็ตาม การล็อกดาวน์ 2.0 ครั้งนี้ ไม่มีภาพความโกลาหลที่ผู้คนพากันแย่งชิงสินค้าอย่างกระดาษชำระ น้ำดื่มบรรจุขวด อาหารแห้ง อาหารกระป๋อง และอื่น ๆ ตามร้านค้าต่าง ๆ ให้เห็น เนื่องจากบรรดาแบรนด์สินค้าต่างยกเครื่องการผลิตและขนส่งสินค้า เพื่อเตรียมสต๊อกสินค้าเอาไว้ล่วงหน้าแล้ว

ด้านผู้บริโภคเองดูเหมือนจะไม่มีกำลังซื้อมากพอ ที่จะกว้านซื้อสินค้าเพื่อกักตุนสินค้า เหมือนเมื่อช่วงต้นปีแล้ว

สำนักข่าว “รอยเตอร์ส” รายงานว่า แบรนด์สินค้า อาทิ “แคมเบลซุป” ผู้ผลิตซุปกระป๋องรายใหญ่ “คราฟไฮน์” แบรนด์อาหารเครื่องดื่มอันดับ 5 ของโลก และ “แมคคอมิคแอนด์โค” ผู้ผลิตเครื่องปรุงรายใหญ่ ต่างนำมาตรการรับมือกับดีมานด์ที่พุ่งสูงในช่วงก่อนล็อกดาวน์ออกมาใช้ ทั้งปรับกระบวนการผลิต เปลี่ยนแพ็กเกจ รวมถึงราคาจำหน่าย จนช่วยให้ผู้ค้าปลีกสามารถรักษาปริมาณสินค้าในร้านค้าของแต่ละประเทศเอาไว้ได้

โดยกลยุทธ์ที่ถูกนำมาใช้มีตั้งแต่ขยายกำลังการผลิต จ้างคนงานเพิ่ม ปรับแผนกระจายสินค้าจากที่จะส่งให้ร้านอาหารเปลี่ยนไปยังร้านค้าปลีกแทน รวมถึงปรับแพ็กเกจจิ้ง เพิ่มสัดส่วนสินค้าแพ็กใหญ่ให้มากขึ้น

ตัวอย่างเช่น “แคมเบล” ซึ่งช่วงการล็อกดาวน์รอบ 2 นี้ หันพึ่งการเอาต์ซอร์ซการผลิตและบรรจุสินค้าบางตัวเพื่อรับมือกับดีมานด์ที่พุ่งสูงในช่วงเวลาสั้น ๆ แทนการปรับกำลังผลิตของโรงงานหลัก โดย “มาร์ก คราวส์” ซีอีโอแคมเบลย้ำว่า สินค้าของบริษัทจะเพียงพอตลอดช่วงหน้าหนาวนี้แน่นอน เพราะบริษัทผนึกกำลังกับร้านค้าเพื่อปรับสัดส่วนการกระจายสินค้าให้สอดรับกับดีมานด์อยู่ตลอด

ไปในทิศทางเดียวกับ “พีแอนด์จี” ผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ ซึ่งเร่งกำลังผลิตกระดาษชำระแบบเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็นจ้างพนักงานเพิ่มและเดินสายการผลิต 24 ชัวโมง เช่นเดียวกับ “แมคคอมิคแอนด์โค” ซึ่งจ้างพนักงานเพิ่มอีก 400 คน และเพิ่มกะในโรงงานให้สามารถผลิตได้แบบ 24 ชั่วโมง 7 วันต่อสัปดาห์

ส่วน “คราฟไฮน์” นอกจากเพิ่มกำลังผลิตของโรงงานขึ้น 20-25% และจ้างผลิตเพิ่มอีก 20% แล้ว ยังปรับเพิ่มสัดส่วนแพ็กเกจใหญ่และจำนวนชิ้นเยอะ เช่น ซอสมะเขือเทศขวดใหญ่ขึ้น และอาหารสำเร็จรูปแพ็ก 12 ชิ้น หลังพบว่าความกังวลเรื่องเศรษฐกิจทำให้ดีมานด์สินค้าแพ็กใหญ่สูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม แม้จะสามารถสกัดไม่ให้เกิดการขาดแคลนสินค้าได้ แต่การเพิ่มกำลังผลิตในช่วงเวลาเช่นนี้ทำให้แต่ละรายบาดเจ็บกันไปไม่น้อย อย่าง “แมคคอมิคแอนด์โค” ที่ต้นทุนพุ่งสูงขึ้นต่อเนื่องตลอด 2 ไตรมาสที่ผ่านมา และคาดว่าจะต่อเนื่องไปจนถึงสิ้นปี เช่นเดียวกับ “แคมเบล” ซึ่งนักวิเคราะห์คาดการณ์ว่า จะมีต้นทุนการดำเนินงานสูงขึ้นในไตรมาส 3 เช่นกัน

และถือเป็นครั้งแรกในรอบ 5 ไตรมาส หลังจากผู้ผลิตซุปกระป๋องตัดสินใจลดการผลิตสินค้าบางตัวลง เพื่อเพิ่มกำลังในสินค้าที่ได้รับความนิยมอย่าง ซุปมะเขือเทศ และซุปไก่ รวมถึงลงทุนด้านการควบคุมความสะอาดในโรงงาน

ส่วนฝั่งผู้บริโภคนั้น นักเศรษฐศาสตร์หลายรายเห็นตรงกันว่า ผู้บริโภคไม่มีกำลังซื้อมากพอจะกักตุนสินค้าเหมือนเมื่อต้นปี “เบนนี่ มาติน” ผู้อำนวยการของศูนย์ศึกษา-วิจัยระบบซัพพลายเชนแห่งลักเซมเบิร์ก ให้ความเห็นว่า แม้จะมีการจัดโปรโมชั่นลด แลก แจก แถม แต่สภาพเศรษฐกิจและความไม่แน่นอนต่าง ๆ บีบให้คนส่วนใหญ่เลือกที่จะรักษาเงินสดเอาไว้มากกว่า

สอดคล้องกับการสำรวจของสำนักข่าวรอยเตอร์สที่พบว่า ยอดช็อปต่อบิลของนักช็อปในยุโรปและสหรัฐอเมริกา ต่างต่ำกว่าช่วงล็อกดาวน์ต้นปีอย่างเห็นได้ชัด