Passion…ที่ ไม่ต้องสร้าง เรียนรู้ทุกอย่างจากความผิดพลาด

โปรปะกันดา (Propaganda) แบรนด์ที่มาพร้อมกับแคแร็กเตอร์กวน ๆ ของ มิสเตอร์พี (MR.P) สร้างชื่อให้งานดีไซน์ฝีมือคนไทย ประสบความสำเร็จในตลาดโลก

แต่กว่าที่โปรปะกันดาจะเป็นแบรนด์ที่มีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับในต่างประเทศ ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย

ทุกเส้นทาง ทุกก้าวเดิน ต้องเผชิญกับความล้มเหลวมาแล้วแบบนับครั้งไม่ถ้วน

“สาธิต กาลวันตวานิช” ผู้ก่อตั้งโปรปะกันดา (Propaganda) ถ่ายทอดเรื่องราวแรงบันดาลใจในการสร้างแบรนด์โปรปะกันดาผ่านงานสัมมนา “Passion to Profit : พลิกมุมคิด ธุรกิจติดลม” สัมมนาประชาชาติธุรกิจ ร่วมกับ SCB ธนาคารไทยพาณิชย์ ว่า เส้นทางธุรกิจของโปรปะกันดา อาจจะเป็นเส้นทางที่มืด ๆ คล้ำ ๆ มองอะไรแบบกว้าง ๆ แต่ก็ไม่ได้มอง หรือทำอะไรแบบระยะยาว ไม่ได้กำหนดหรือตั้งเป้าหมายว่า อยากจะเป็นอะไร

แต่ตั้งใจว่าจะทำสินค้าชิ้นนี้ ตรงนี้ ให้ดีที่สุด

แม้จะเจ็บตัวบ้าง ล้มเหลวบ้าง ผลิตแล้วขายสินค้าไม่ได้ก็ยังเดินต่อ ซึ่งเรื่องที่ล้มเหลวมักจะไม่ค่อยถูกเล่า ขณะที่ความจริงแล้วเรื่องที่ล้มเหลว น่าสนใจกว่าเรื่องที่ประสบความสำเร็จ แต่คนมักไม่อยากฟัง

“สาธิต” เล่าย้อนกลับไปว่า ประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมา เติบโตมาจากงานครีเอทีฟ เคยทำงานในบริษัทเอเยนซี่ชื่อดัง แต่ด้วยความกดดันจากการทำงาน จนมาถึงจุดหนึ่งก็ตัดสินใจลาออกมาเปิดบริษัท สามหน่อ จำกัด ร่วมกับเพื่อน ซึ่งทำงานด้านออกแบบกราฟิกดีไซน์ โดยยุคนั้น งานกราฟิกดีไซน์ถือว่าเป็นงานที่กระจอกที่สุดในวงการโฆษณา ไม่หรูหรา ไม่ฟู่ฟ่า ซึ่งแตกต่างจากยุคนี้ที่งานกราฟิกดีไซน์ ดูเก๋ ดูเท่ และได้รับความนิยม

“ยุคนั้นหลายคนมองว่า งานกราฟิก เป็นงานที่มืดมน แต่สำหรับผม คือ เส้นทางที่สว่าง เพราะต้องการทำงานศิลปะ อยากนำงานศิลปะเข้าไปอยู่ในงานเชิงพาณิชย์มากขึ้น เรียกว่า ได้งานมาจ้าง หนึ่งร้อย ทำ หนึ่งพัน ใส่ทุกอย่างเข้าไปเต็มที่ แม้อาจจะถูกมองว่างานที่ทำไม่ตอบโจทย์การตลาดใด ๆ ทั้งสิ้นก็ตาม ท้ายที่สุด สิ่งที่ทุ่มเททำงานเต็มที่ ก็ประสบความสำเร็จ ก็ออกดอกออกผล ซึ่งผลพวงจากวันนั้น เสมือนเป็นการเริ่มเขียนอนาคตให้กับตัวเองมากขึ้น โดยที่ไม่รู้ตัว”

เพราะฉะนั้น อยากให้ทุกคนมองสิ่งที่ทำตรงหน้าว่า คือ อนาคต และกำลังสร้างพื้นที่สร้างที่ยืนให้แก่ตัวเอง

“สาธิต” บอกว่า แต่พอทำงานกราฟิกดีไซน์สักพัก ก็เจออุปสรรคอีก สุดท้ายก็ออกมาตั้งบริษัทโฆษณา ภายใต้ชื่อ บริษัท ฟีโนมีนา จำกัด อีกครั้ง แต่อุปสรรค ก็ยังไม่จบลงเท่านั้น แต่เพิ่มจำนวนมากขึ้น อยู่ที่ว่า จะเอาชนะอุปสรรคได้อย่างไร

“สาธิต” กล่าวว่า หลังจากตั้งฟีโนมีนาไม่นาน ก็สร้างอยากทำงานดีไซน์ จึงแตกออกมาทำโปรปะกันดา และด้วยประสบการณ์ส่วนตัวที่เติบโตมาจากสายครีเอทีฟ ก็เดินหน้าออกแบบผลงานเก๋ ๆ เท่ ๆ อย่างเดียว มุ่งมั่นที่จะทำงานดีไซน์ ทำโปรปะกันดาให้เป็นงานดีไซน์สไตล์อิตาลี ซึ่งเราทำงานบนข้อจำกัด เพราะทำแบบคนไม่รู้อะไรเลย

กลยุทธ์หลัก คือ ชอบอะไรก็ทำ มีอะไรก็ทำ ณ จุดนั้นมันคือความสด ความใหม่ แต่ความคิดแบบนี้ ยืนอยู่บนตลาดโลกไม่ได้ ซึ่งตอนนี้ เราดีไซน์งานออกมาเรื่อย ๆ จนสต๊อกบาน มีโกดัง 3 โกดัง ก็เต็ม เรียกว่าทุกโกดังมีชิ้นงานวางกองจนเกือบถึงหลังคาโกดัง เพราะสินค้าขายไม่ได้ แต่เพราะไม่รู้จักอะไรเลยทั้งการบริหารจัดการสินค้าคงคลัง การทำตลาด

นี่เป็น passion ล้วน ๆ เมื่อทำแล้ว และเจ็บตัว ก็ยังเดินหน้าต่อ

“สาธิต” บอกว่า สินค้าลอตแรกทำผิด ต้นทุนสูงทำให้สินค้ามีราคาแพง ขายก็ไม่ได้ ทุกอย่างควรจะจบด้วยการปิดบริษัท แต่ผมโง่ ผมเดินต่อ เพราะเมื่อโง่ปุ๊บก็จะเจอความฉลาด แต่เจอความฉลาดแค่แป๊บเดียว เหมือนเวลาเดินเหยียบตะปู เมื่อเหยียบตะปูตัวแรกก็อาจจะเจ็บ บางคนอาจจะร้องโวยวาย แต่เราเหยียบตะปูโดยไม่ได้ร้องโวยวาย แต่ค่อย ๆ ชักเท้าออกแล้วเดินต่อ พร้อมก้าวต่อไปเรื่อย ๆ ทำต่อไปเรื่อย ๆ ด้วยความไม่รู้

“เรียกว่าไม่รู้อะไรเลยก็ได้ แต่ด้วยความโง่ โง่ เพราะไม่รู้ว่าข้างหน้าจะเป็นอย่างไร โง่เพราะมันไม่มีทางเลือก ช่วงนั้นมีอะไรก็ต้องทำไป จึงต้องตัดสินใจเดินต่อไปเรื่อย ๆ พอทำไปสักพักก็มีญี่ปุ่นมาเชิญให้ไปเป็นกรรมการตัดสินงานดีไซน์ และถูกเชิญไปตัดสินอีกหลายที่ ทำให้เริ่มตระหนักว่า ถ้าจะออกแบบงานให้เป็นสไตล์อิตาลีเหมือนที่ตั้งใจ ก็คงจะสู้เขาไม่ได้และคงไม่มีที่ยืนในตลาด ดังนั้นจึงกลับมาคิดใหม่ สรุปสุดท้ายก็ตัดสินใจถ่ายทอดเรื่องราวโปรปะกันดา ด้วยแคแร็กเตอร์ของ มิสเตอร์พี (MR.P)”

สำหรับแคแร็กเตอร์มิสเตอร์พี คือ ปิดตัว ขี้อาย เก็บกดและมีด้านมืด สะท้อนความเป็นมนุษย์ แต่ก็มีความตลก ทะลึ่ง ทะเล้นสไตล์คนไทย จนได้ออกมาเป็น โคมไฟมิสเตอร์พี โคมไฟที่ไม่เคยมีในโลก เพราะความพิเศษของโคมไฟนี้อยู่ที่สวิตช์เปิดปิด เป็นรูปอวัยวะเพศชาย

สิ่งที่เกิดขึ้น คือ โคมไฟมิสเตอร์พี ได้รับความนิยมอย่างมาก จนมีห้างสรรพสินค้าชื่อดังในยุโรป อย่าง แกลเลอรี่ ลาฟาแยต (Galleries Lafayette) รวมถึงพิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ ที่อเมริกาเริ่มนำสินค้าของเราเข้าไปจำหน่าย ทำให้เราหลงตัวเองอยู่แป๊บหนึ่ง แต่วันรุ่งขึ้นก็เจอกับปัญหาอีก แล้วก็เหยียบตะปูใหม่ ๆ แบบนี้ไปเรื่อย ๆ

แต่เมื่อเหยียบบ่อย ๆ ก็คุ้นชิน ว่าต้องเจอแบบนี้ เมื่อเริ่มจับทางถูก ก็พัฒนาสินค้ามาเรื่อย ๆ ทั้งกล่องทิสชูมิสเตอร์พีแลบลิ้น รวมถึงเพิ่มลูกเล่น ดีไซน์เก๋ ๆ อยู่สม่ำเสมอ

“สาธิต” ย้ำว่า มิสเตอร์พี กลายเป็นบิ๊กไอเดีย ที่ผสานระหว่างงานดีไซน์ ศาสตร์และศิลป์หลาย ๆ อย่างที่ผสมกันอย่างลงตัว กลายเป็นว่า โปรปะกันดากำลังขายความสุขให้คนทั่วโลก

ถ้าเราหยุดตั้งแต่วันที่เหยียบตะปูตัวแรกวันที่ล้มตั้งแต่เริ่มต้น แล้วไม่ยอมลุกขึ้นเดินต่อ เพราะทนกับความเจ็บไม่ได้ เราก็ไม่ได้เดินต่อ และไม่มีโปรปะกันดา ในวันนี้ ซึ่งทุกวันนี้โปรปะกันดาก็ยังเหยียบตะปูอยู่ แต่เมื่อเหยียบแล้วความอดทนก็เพิ่มขึ้น

“การทำอะไรหากรอแรงดลใจ ก็คงลำบาก เพราะโลกใบใหม่นี้ คำตอบที่ผิดหรือคำตอบที่ถูก อาจจะไม่สำคัญ ไม่น่าสนใจ แต่ที่น่าสนใจกว่า คำตอบที่ผิดและถูก ทำให้เราได้เรียนรู้อะไรจากคำตอบนั้นมากกว่า”

“สาธิต” ย้ำว่า ถ้ามัวแต่รอแรงดลใจ รอแรงบันดาลใจ มัวแต่เดินตามหาแรงดลใจ ก็คงไม่เสถียร ไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่ถ้าเราทำด้วยความมุ่งมั่น ทำไปเรื่อย ๆ ฝึกเรื่อย ๆ ทำบ่อย ๆ เราก็เริ่มมีเทคนิค มีประสบการณ์ เท่ากับว่า เราก็จะเริ่มชนะเล็ก ๆ และเก็บไปเรื่อย ๆ ทำไปเรื่อย ๆ พอชนะเล็ก ๆ ซ้ำ ๆ บ่อย ๆ ก็สอนให้เราแข็งแกร่งขึ้น ดีกว่าที่จะมุ่งมั่นที่จะวิ่งหาแต่แรงดลใจ