“7-11” ลุย O2O รับเทรนด์ช็อปออนไลน์แรง

เซเว่นอีเลฟเว่นเปิดเกมรุกรอบใหม่ เพิ่มน้ำหนัก O2O ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ พร้อมอำนวยความสะดวกเก็บเงินปลายทาง-เลือกรับสินค้าได้ที่สาขาหลังโควิด-19 กระทบยอดขาย-กำไรไตรมาส 3 ร่วง เดินหน้าปูพรมสาขาตั้งเป้าครบ 13,000 แห่งภายในปี 2564

นางสาวจิราพรรณ ทองตัน ผู้จัดการทั่วไปอาวุโส สำนักลงทุนสัมพันธ์ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ทิศทางการดำเนินงานจากนี้ไป บริษัทจะยังคงเดินหน้าขยายสาขาร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่นอย่างต่อเนื่อง โดยเตรียมงบฯลงทุนประมาณ 11,500-12,000 ล้านบาท แบ่งเป็นการเปิดสาขาใหม่ โดยมีเป้าหมายขยายให้ครบ 13,000 สาขาภายในปี 2564 จากปัจจุบันมีสาขารวม 12,225 แห่ง ทั้งในพื้นที่กรุงเทพฯและต่างจังหวัด ควบคู่กับการเตรียมรีโนเวตสาขาเดิมให้ทันสมัยขึ้น ตลอดจนการมองหาโครงการใหม่ ๆ ในอนาคต

นอกจากนี้ ยังมุ่งปรับกลยุทธ์เพื่อสอดรับกับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป เริ่มจากการหันมาเน้นขายสินค้าแบบออนไลน์ผสมผสานกับออฟไลน์ (online to offline) โดยช่องทางนี้ยังเป็นสัดส่วนที่ยังน้อย หรือมีสัดส่วนประมาณ 5% เท่านั้น ในส่วนของกลุยทธ์ O2O นั้นได้นำมาใช้เร็วกว่าแผนที่วางไว้ เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าด้วยการนำเสนอสินค้าในหลากหลายช่องทาง อาทิ เซเว่นอีเลฟเว่น ดีลิเวอรี่, ALL ONLINE และ 24 Shopping เป็นต้น

รวมถึงการเพิ่มความสะดวกในการสั่งผ่านบริการเก็บเงินปลายทาง หรือรับสินค้าที่ร้านได้ และสิ่งที่ต้องพัฒนาต่อเนื่อง คือ ต้องวางแผนคิดค้นผลิตภัณฑ์และบริการการตลาด และการคัดเลือกสินค้าให้สอดรับกับความต้องการของลูกค้าในแต่ละกลุ่มเป้าหมาย ในแต่ละพื้นที่ ให้แตกต่างกันและทันต่อการเปลี่ยนแปลงของภาพรวมตลาด

“ธุรกิจค้าปลีกยังมีความท้าทายอยู่มาก เนื่องจากผู้บริโภคมีทางเลือกในการจับจ่ายมากขึ้น จากเดิมเจ้าของแบรนด์ขายตรงไปยังผู้บริโภค (D2C : direct to consumer) การค้าออนไลน์ข้ามประเทศ รวมไปถึง ขายโดยตรงระหว่าง ผู้บริโภค (C2C : consumer to consumer) ผู้ค้าปลีกจึงต้องปรับตัวและวางกลยุทธ์เพื่อแย่งชิง share of wallet

ตลอดจนการหันมาเพิ่มน้ำหนักด้านเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อนำมาใช้ในการดําเนินธุรกิจ ช่วยวิเคราะห์ข้อมูลผู้บริโภค และช่วยลดความซับซ้อน ช่วยบริหารจัดการต้นทุน เพิ่มความสะดวกรวดเร็วในการทํางานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น”

นางสาวจิราพรรณกล่าวว่า สำหรับผลประกอบการในไตรมาส 3/2563 บริษัทมีรายได้รวม 135,500 ล้านบาท ลดลง 3.8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ต้องยอมรับว่าบริษัทยังได้รับผลกระทบจากทางเศรษฐกิจและอัตราการบริโภคที่ยังหดตัว ตลอดจนพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป ระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น หรือใช้จ่ายในกลุ่มสินค้าที่จำเป็นเท่านั้น

ตลอดจนจำนวนนักท่องเที่ยวที่หายไป ยังบินกลับเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไม่ได้ แต่ถือว่ายังปรับตัวได้ดีขึ้นหากเทียบกับไตรมาส 2 ที่ผ่านมา ซึ่งเป็นผลจากการยกเลิกมาตรการการควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้พฤติกรรมผู้บริโภคเริ่มกลับมาใช้ชีวิตในรูปแบบปกติ

ไตรมาส 3 ที่ผ่านมาร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่นมียอดขายเฉลี่ยต่อวัน 69,000 บาท และมีอัตราการเติบโตของร้านสาขาเดิมลดลงประมาณ 14% สาเหตุหลักมาจากจำนวนลูกค้าเข้าร้านลดลง หรือมีจำนวนลูกค้าเข้าร้านประมาณ 917 รายต่อวัน แต่ยังมียอดซื้อต่อบิลเพิ่มขึ้นอยู่ที่ประมาณ 75 บาท

และในส่วนของโปรดักต์ในร้านแบ่งออกเป็นกลุ่มอาหาร อาทิ เครื่องดื่ม อาหาร และผักผลไม้พร้อมทาน ขนมปัง ขนมหวานกว่า 71.5% และสินค้าอุปโภค 28.5% ทุกกลุ่มสินค้ามีความสามารถในการทำกำไรดีขึ้น

ขณะเดียวกัน บริษัทก็ได้ชะลอการใช้จ่ายในส่วนที่ยังไม่เร่งด่วน รวมถึงมีการปรับลดค่าใช้จ่ายของส่วนกลางและสำนักงานลง แต่ในทางกลับกันงบฯค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการกระตุ้นยอดขายยังคงใช้ตามความเหมาะสมเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการบริการลูกค้าได้ในระดับที่น่าพอใจ

“ส่งผลให้ภาพรวมของการดำเนินงานในงวด 9 เดือนแรกของปี 2563 (มกราคม-กันยายน) บริษัทมีกำไรสุทธิ 12,530 ล้านบาท ลดลง 22.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน”

นางสาวจิราพรรณให้ข้อมูลด้วยว่า ปัจจุบันภาพรวมธุรกิจแบ่งออก 2 ส่วน ได้แก่ ธุรกิจร้านสะดวกซื้อ และธุรกิจศูนย์จำหน่ายสินค้าแบบชำระเงินสดและบริการตนเอง (cash & carry) ระยะเวลา 9 เดือนที่ผ่านมามีสัดส่วนรายได้เพิ่มขึ้น โดยหลัก ๆ มาจากผลประกอบการสยามแม็คโครที่มีรายได้เติบโตต่อเนื่อง และในส่วนของร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลฟเว่นในไตรมาส 3 ได้มีการขยายสาขาใหม่ประมาณ 136 ร้าน


โดยการเปิดร้านใหม่ในไตรมาสที่ผ่านมายังกระจายอยู่ทั้งพื้นที่กรุงเทพฯและต่างจังหวัด ทั้งในรูปแบบของการบริหารเอง บริหารร่วม หากดูในส่วนของร้านที่เปิดตามปั๊มน้ำมัน ร้านสแตนด์อะโลนมีการปรับตัวเพิ่มขึ้น ปีนี้เปิดร้านไปแล้ว 513 สาขา และร้านค้าที่ได้รับสิทธิช่วงอาณาเขต 65 สาขา