ความทรงจำ

market-think สรกล อดุลยานนท์

 

ปรากฏการณ์ “ม็อบ” คณะราษฎรในวันนี้มีหลายประเด็นที่น่าสนใจมากสำหรับนักการตลาด

ถ้าตัดความรู้สึกส่วนตัวออกว่าชอบหรือไม่ชอบ เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยออกไป

แล้วตั้งคำถามกับปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในวันนี้

เราจะได้ “คำตอบ” ที่เอาไปใช้งานต่อได้

อย่าลืมนะครับ “ม็อบ” ที่ลุกลามใหญ่โตนี้เกิดขึ้นภายในเวลาแค่ 4 เดือน

จำภาพวันแรกที่ม็อบเยาวชนปลดแอกประมาณ 1,000 คน ลงถนนยึดอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยได้ไหมครับ

18 กรกฎาคม 2563

ครั้งนั้น คือ ครั้งที่มีผู้ชุมนุมเยอะที่สุดนับตั้งแต่ คสช.ยึดอำนาจ

จากนั้นปริมาณผู้ร่วมชุมนุมก็ขยายตัวอย่างรวดเร็ว และส่วนใหญ่คือนักเรียนนิสิตนักศึกษา คนรุ่นใหม่

ที่สำคัญ ประเด็นในการชุมนุมได้ “ทะลุเพดาน” ไปไกลกว่าที่ใครจะคาดคิด

ข้อเรียกร้องเรื่องปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ที่ถูกจุดขึ้นมา และกลายเป็นประเด็นที่ทุกฝ่ายกล้าพูดถึงอย่างเปิดเผย

ทั้งที่คนรุ่นผู้ใหญ่แค่คิดก็ขนลุกแล้ว

“ม็อบ” ครั้งนี้ทำให้ความขัดแย้งระหว่าง “วัย” ปะทุขึ้นแทบทุกอณูของสังคมไทย

ตั้งแต่ระดับเพื่อน คนรู้จัก จนถึงในครอบครัว

ทำไมจึงเกิดปรากฏการณ์นี้ขึ้นมา

เรื่องนี้น่าสนใจมากครับ

อาจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์อธิบายด้วยประโยคหนึ่งที่น่าสนใจ

เขาบอกว่า “เด็กรุ่นหลัง” ไม่มีภาพจำและประสบการณ์ในอดีตแบบรุ่นพ่อแม่ จึงไม่ตกอยู่ภายใต้การถูกครอบงำด้วยกระบวนทัศน์แบบเก่า

เด็กจึงคิดและพูดแบบ “ทะลุเพดาน”

“ความทรงจำ” เป็นเรื่องที่สำคัญมาก

คนแต่ละวัยมี “ความทรงจำ” ที่แตกต่างกัน

เพลงที่ไพเราะของแต่ละวัยก็เป็นคนละเพลงกัน

นอกจากนั้น “วิธีคิด” ของคนต่างรุ่นก็ต่างกัน

โลกที่ไร้พรมแดนในวันนี้ทำให้เด็กรุ่นนี้มีความคิดแบบ “สากล” มากกว่าจะจำกัดตัวเองให้คิดแบบไทย ๆ

ไม่มีคำว่า “ประชาธิปไตย” แบบไทย ๆ

มีแต่ “ประชาธิปไตย” แบบสากล

ลองจินตนาการว่าเราเป็นเด็กรุ่นนี้

เราเริ่มรู้เรื่องราวและตั้งคำถามกับสังคมประมาณอายุ 13 ปี

ถ้าตอนนี้เขาอายุ 20 ปี

“ความทรงจำ” ในช่วง 7 ปีของเขาคืออะไร

เริ่มจากปี 2556 จนถึง 2563

“ตัวละคร” สำคัญของเขาในความทรงจำคือใครบ้าง และอยู่ในช่วงไหนของชีวิต

ประสบการณ์ตรงของผู้ใหญ่ เป็นแค่ “เรื่องเล่า” ของเด็กรุ่นนี้

และ “เรื่องเล่า” ที่เพิ่มเติมขึ้นมา คือ “ข้อมูล” จากโลกอินเทอร์เน็ต

สิ่งที่เขาเห็นในวันนี้กับสิ่งที่ผู้ใหญ่เคยเห็นจึงไม่เหมือนกันเลย

“ความทรงจำ” ที่แตกต่างกับ “วิธีคิด” ที่เปลี่ยนไป คือ ปัญหาใหญ่ที่ทำให้เกิดปัญหาการทะลุเพดานขึ้นมา

ดังนั้น ถ้าเราจะคิดสินค้าอะไร หรือจะสื่อสารการตลาดถึง “เด็กรุ่นใหม่”

ปรากฏการณ์ในวันนี้จะทำให้เราต้องคิดใหม่

ใช้ “กรอบประสบการณ์” เดิม ๆ ของเราไปใช้กับวันนี้ไม่ได้แล้ว

“ความทรงจำ” ของแต่ละวัยแตกต่างกัน

จะบังคับให้เขาเชื่อแบบที่เราเชื่อไม่ได้

เด็กรุ่นใหม่กล้าตั้งคำถามมากกว่าที่เราคิด

และ “คำถาม” นั้นมาจาก “กรอบความคิด” ใหม่

โดยเฉพาะเรื่อง “ความเท่าเทียม”

ที่สำคัญปรากฏการณ์ของ “ม็อบ” ในวันนี้บอกให้รู้ว่าเรามิอาจจะทานกระแส “ความเปลี่ยนแปลง” ได้

และ “ความเปลี่ยนแปลง” ในโลกยุคใหม่มันเกิดขึ้นและกระจายออกไปรวดเร็วมาก

เกินกว่าที่เราคาดคิดและตั้งตัวทัน

ที่สำคัญก็คือ เสียงตะโกนของ “เด็กรุ่นใหม่” ที่ดังขึ้นมา

แม้เราจะไม่กล้าพูดต่อ

แต่เสียงนั้นได้เข้าไปอยู่ในใจคุณแล้ว


ยอมรับเถอะครับว่าเมืองไทยวันนี้ไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว