“ยูนิชาร์ม” ต่อยอดธุรกิจหน้ากากผ้า เล็งรุกไทย-เอเชียรับดีมานด์โต

หน้ากากอนามัยทางการแพทย์และหน้ากากผ้า กลายเป็นสินค้ายอดฮิตในปี 2563 นี้ โดยยูนิชาร์ม (Unicharm) ผู้ผลิตสินค้าอุปโภครายใหญ่ของญี่ปุ่น เจ้าของแบรนด์ อาทิ ผ้าอ้อมมามี่โพโค และผ้าอนามัยโซฟี เป็นหนึ่งในบริษัทที่หันมาจริงจังกับการผลิตหน้ากากเพื่อรับดีมานด์จากทั้งในและนอกญี่ปุ่น ด้วยการเดินเครื่องโรงงาน 24 ชั่วโมง จนปัจจุบันมีกำลังผลิตถึง 120 ล้านชิ้นต่อเดือน เพิ่มขึ้น 3 เท่าจากช่วงก่อนการระบาด

ล่าสุด สำนักข่าว “นิกเคอิ เอเชีย” รายงานว่า “ยูนิชาร์ม” เตรียมต่อยอดโนว์ฮาวและกำลังผลิตที่เพิ่มขึ้นนี้ เพื่อรุกธุรกิจหน้ากากป้องกันฝุ่น หวังเข้ารับดีมานด์ในหลายประเทศของเอเชียที่กำลังเผชิญปัญหาฝุ่นควัน อาทิ ไทย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย อินเดีย และอื่น ๆ

“ทาคาฮิสะ ทาคาฮาระ” ซีอีโอของยูนิชาร์ม อธิบายว่า แม้การระบาดของโรคโควิด-19 จะจบลง แต่เชื่อว่าดีมานด์หน้ากากคุณภาพสูงจะยังคงอยู่ โดยเฉพาะในย่านเอเชียที่หลายประเทศต้องเผชิญปัญหาฝุ่นควันเป็นประจำทุกปี ซึ่งประสบการณ์และกำลังผลิตหน้ากากของบริษัทที่เพิ่มขึ้นในช่วงโควิด-19 น่าจะช่วยสร้างความได้เปรียบในการรุกเข้าไปตอบโจทย์ในประเทศนี้ได้ หลังจากช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา ความต้องการหน้ากากแบรนด์ยูนิชาร์มในเอเชียสูงขึ้น

โดยต้นปี 2564 บริษัทมีแผนส่งสินค้าไปขายในไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย อินเดีย หลังจากก่อนหน้านี้ทดลองขายในจีน ไต้หวัน และเวียดนาม มาระยะหนึ่งแล้ว พร้อมเป้าส่งออกหน้ากาก 20 ล้านชิ้นต่อเดือน อย่างไรก็ตาม ยักษ์สินค้าอุปโภคระบุว่า ตัวเลขนี้อาจเปลี่ยนแปลงได้ ขึ้นอยู่กับดีมานด์ในญี่ปุ่นที่เป็นตลาดหลัก

ทั้งนี้ บริษัทวิจัยหลายแห่งต่างประเมินกันว่า ตลาดหน้ากากทั่วโลกมีมูลค่าประมาณ 1.52 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีแนวโน้มเติบโตเป็น 2.45 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2570 แต่การระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้เพียงครึ่งแรกของปีนี้ มูลค่าตลาดถีบตัวขึ้นไปเป็น 7.49 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐแล้ว

โดยมี “บีวายดี” บริษัทสัญชาติจีนที่เดิมผลิตแบตเตอรี่สำหรับสมาร์ทโฟน ก่อนจะหันมาผลิตหน้ากากในปีนี้ เป็นหนึ่งในผู้เล่นรายใหญ่ด้วยกำลังผลิตประมาณ 1.5 พันล้านชิ้นต่อเดือน ซึ่งเชื่อว่าในอนาคตอันใกล้กำลังผลิตนี้จะถูกใช้เพื่อส่งออกหน้ากากไปยังตลาดโลก หลังการระบาดในจีนจบลง และจะถือเป็นหนึ่งในความท้าทายของยูนิชาร์ม ในการขยายตลาดต่างประเทศ ซึ่งต้องรอดูว่าเมื่อถึงตอนนั้นจะมีกลยุทธ์รับมืออย่างไร

แต่ในเบื้องต้นด้านนักวิเคราะห์มองว่า ยุทธ์ศาสตร์การรุกธุรกิจหน้ากากกันฝุ่นในเอเชียของยูนิชาร์ม จะอาศัยเดิมพันกับโพซิชั่นสินค้าเมดอินเจแปน และการเป็นแบรนด์ญี่ปุ่น ว่ายังคงความขลัง และช่วยให้สามารถแข่งขันในตลาดที่มีคู่แข่งจำนวนมากได้หรือไม่

นอกจากนี้ ผู้บริหารยูนิชาร์มกล่าวเสริมว่า นอกจากโอกาสรับดีมานด์หน้ากากกันฝุ่นแล้ว แผนการขยายตลาดนี้จะช่วยทดแทนการหดตัวของตลาดญี่ปุ่นที่เกิดจากจำนวนประชากรลดลง หลังจำนวนเด็กเกิดใหม่น้อยกว่าที่คาดไว้มาก สอดคล้องกับข้อมูลของบริษัทวิจัยยูโรมอร์นิเตอร์ที่พบว่า ปี 2562 ตลาดผ้าอ้อมในญี่ปุ่นหดตัวลงถึง 13% จากปีก่อนหน้า ในขณะที่ตลาดระดับโลกยังมีศักยภาพที่จะเติบโตในระยะยาว

ก่อนหน้านี้ ยูนิชาร์มได้เริ่มรุกตลาดผ้าอ้อมเด็กในเอเชียไปแล้ว เนื่องจากเป็นตลาดที่มีแนวโน้มเติบโตสูง โดยปี 2562 มีมูลค่า 1.7 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโต 4.1% จากปีก่อนหน้า และคาดว่าปี 2567 จะมีมูลค่าเพิ่มเป็น 2.25 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ

นอกจากนี้ยังเป็นตลาดที่มีสัดส่วนถึง 37% ของดีมานด์ทั่วโลก ด้วยการนำบริษัทย่อยเข้าไปซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ของอินโดนีเซีย รวมถึงเดินสายซื้อกิจการในหลายประเทศทั้งไทย เวียดนาม และเมียนมา พร้อมกับการเน้นเจาะกลุ่มพรีเมี่ยม

รวมถึงเปิดไลน์สินค้าสำหรับสัตว์เลี้ยงซึ่งเป็นเซ็กเมนต์ที่มีดีมานด์สูงในปีนี้ หลังมาตรการกักตัวอยู่บ้านในหลายประเทศทำให้ผู้คนหันมาเลี้ยงสัตว์กันมากขึ้นโดยเฉพาะในจีน หลังจากส่งผ้าอ้อมผู้ใหญ่ไปรุกตลาดจีนไปก่อนหน้าแล้ว

“แม้โรคโควิด-19 จะกระทบเศรษฐกิจ-กำลังซื้อทั่วโลก แต่เชื่อว่าผู้บริโภคที่เคยเปลี่ยนมาใช้สินค้าพรีเมี่ยมแล้ว จะเกิดความเคยชินกับความสะดวกและคุณภาพ ทำให้พยายามใช้สินค้าระดับนี้ต่อไปแม้รายได้จะลดลง”