“ฟู้ดทรัก-แคชแวน” คึกคัก “ตัวช่วย” ธุรกิจยุคโควิดครองเมือง

จับกระแสตลาด

ถึงวันนี้ดูเหมือนว่าภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว กำลังซื้อผู้บริโภคที่ลดลง จากผลกระทบของโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการต่างต้องเร่งปรับตัวในทุกมิติ โดยเฉพาะการเพิ่มช่องทางจำหน่ายที่หลากหลาย เพื่อรองรับพฤติกรรมการผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป โดยเฉพาะอีคอมเมิร์ซ ทั้งของผู้ประกอบการแต่ละค่ายและมาร์เก็ตเพลสที่เป็นตลาดซื้อขายสินค้าออนไลน์แล้ว ช่องทางการขายที่เป็น “รถจำหน่ายสินค้าเคลื่อนที่” ก็กลับมาได้รับความนิยมอีกครั้งหนึ่ง

เพิ่มโอกาสการขาย

“ภาคิน เพ็ญภาคกุล” ผู้จัดการทั่วไป บริษัท โกลเด้น โดนัท (ประเทศไทย) จำกัด ผู้บริหารร้านดังกิ้น เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันกระแสฟู้ดทรัก หรือรถจำหน่ายอาหารเคลื่อนที่ กำลังได้รับความนิยม และตอบโจทย์ความต้องการในแง่ของการเข้าถึงได้ง่าย สะดวกรวดเร็ว หากสังเกตจะเห็นว่าปัจจุบันจะเห็นว่าหลาย ๆ ธุรกิจเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับช่องทางนี้มากขึ้น เนื่องจากป็นการลงทุนที่ไม่มากนัก หากเมื่อเทียบกับการเปิดร้านหรือเปิดสาขาในศูนย์การค้า

เช่นเดียวกับเป้าหมายหลักของการเพิ่มช่องทางจำหน่ายด้วย รถจำหน่ายเคลื่อนที่ คือต้องการเพิ่มยอดขายและสามารถนำสินค้าเข้าไปตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้ถึงที่ โดยการเช่าสถานที่จอดรถจำหน่ายเคลื่อนที่ส่วนใหญ่จะมีระยะสัญญา 6 เดือนไปจนถึง 1ปี

และข้อดีคือ สามารถเคลื่อนย้ายได้ง่าย โดยหากทดลองเปิดขายในบางพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งแล้ว แต่ทราฟฟิกหรือจำนวนลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการยังไม่ดีมากนัก ก็สามารถเคลื่อนย้ายหรือปรับเปลี่ยนจุดที่ตั้งหรือทำเลได้

สำหรับ ดังกิ้น โดนัท เองได้หันมาเพิ่มช่องทางจำหน่ายด้วยฟู้ดทรัก เพื่อขายโดนัท เครื่องดื่ม นอกสถานที่ ตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา ตอนนี้มีทั้งหมด 4 คัน ใช้งบฯลงทุนเฉลี่ยคันละ 1 ล้านบาท เน้นเจาะเข้าไปตามชุมชนต่าง ๆ เช่น โรงพยาบาล คอมมิวนิตี้มอลล์ สถาบันการศึกษาต่าง ๆ เป็นต้น

“อาจจะเปิดให้บริการสัก 6 เดือน แล้วก็หมุนเวียนไปที่ใหม่ ซึ่งจะทำให้เข้าถึง
กลุ่มเป้าหมายได้กว้างมากขึ้น และเข้าไปในพื้นที่ที่ดังกิ้น โดนัท ยังไม่มีสาขา ถือเป็นการเพิ่มโอกาสทางการขายที่สำคัญอีกทางด้วย”

ช่วยสร้างการรับรู้แบรนด์

ขณะที่ “ประพัฒน์ เสียงจันทร์” ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท เดอะ ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) เจ้าของแบรนด์ร้านอาหาร เดอะ พิซซ่า คอมปะนี, ซิซซ์เล่อร์, เดอะคอฟฟี่คลับ ฯลฯ กล่าวในเรื่องนี้กับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปัจจุบัน ไมเนอร์ฟู้ด ได้นำร้านอาหารและเครื่องดื่มหลาย ๆ แบรนด์ มาเปิดให้บริการในรูปแบบของฟู้ดทรัก อาทิ แดรี่ ควีน และเดอะคอฟฟี่คลับ ที่เน้นการเข้าไปตั้งในคอมมิวนิตี้มอลล์และงานอีเวนต์ต่าง ๆ เพื่อที่จะเข้าไปหาผู้บริโภคมากขึ้นในทุกพื้นที่

โดยหลัก ๆ จะเป็นกลยุทธ์ในการสร้างแบรนด์ให้เป็นที่รู้จักในกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย โดยเฉพาะกรณีของแบรนด์ เดอะคอฟฟี่คลับ ที่ผู้บริโภคชาวไทยอาจจะยังไม่รู้จักและคุ้นเคยมากนัก บริษัทนำรถฟู้ดทรักเข้าไปในพื้นที่นั้น เพื่อสื่อสารให้ผู้บริโภครู้จักแบรนด์ และเมื่อลูกค้าเริ่มรู้จักและคุ้นเคยกับแบรนด์ก็จะทำให้ลูกค้ากลับไปทานที่หน้าร้านหรือสาขาต่าง ๆ

นอกจากนี้การนำฟู้ดทรักเข้าไปในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งที่บริษัทยังไม่มีสาขาให้บริการ หากทดลองเปิดแล้วมีทราฟฟิกดี ยอดขายดี บริษัทก็อาจจะต่อยอดไปเปิดเป็นสาขาหรือร้านในย่านนั้นได้

“เราเปิดฟู้ดทรักมาตั้งแต่ช่วงกลางปีที่ผ่านมา ปัจจุบันมี 5 คัน ทั้งแดรี่ควีนและเดอะคอฟฟี่คลับ ที่มีทั้งจอดขายตามทำเลต่าง ๆ ควบคู่กับการจัดงานอีเวนต์ เน้นการช่วยให้แบรนด์เข้าถึงผู้บริโภคได้มากขึ้น และเน้นการเข้าไปอยู่ในทุกโอกาสของลูกค้าเป็นสำคัญ”

ค่ายเล็ก-ค่ายใหญ่โดดลุย

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ล่าสุด เมื่อช่วงต้นเดือนพฤศจิกายน บริษัท เอฟเอ็น แฟคตอรี่ เอ๊าท์เลท จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารเอฟเอ็น เอ้าท์เล็ต ได้เปิดช่องทางการขายใหม่ ด้วยการนำ Cash Van ที่เรียกว่า “หน่วยรถทันใจ” มาเป็นช่องทางขายใหม่ เพื่อเสริมเอาต์เล็ตที่มีอยู่ 11 สาขา จากก่อนหน้านี้ที่หันมาเพิ่มน้ำหนักกับการขายสินค้าผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซและมาร์เก็ตเพลซ ซึ่งหน่วยรถทันใจนี้เน้นขายสินค้าที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน โดยตระเวนไปตามย่านชุมชนต่าง ๆ และตั้งเป้าจะเปิดให้ครบ 20 คันภายในสิ้นปีนี้

อย่างไรก็ตาม หากย้อนกลับไปจะพบว่ากระแสรถจำหน่ายสินค้าเคลื่อนที่กลับมาอยู่ในความสนใจของตลาดมากขึ้นอีกครั้ง จากการเปิดตัวฟู้ดทรักของไก่ทอดแบรนด์ดัง เคเอฟซี เมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา ที่เป็นการบริหารโดยบริษัท คิวเอสอาร์ ออฟ เอเชีย จำกัด (บริษัทลูกของไทยเบฟฯ) แฟรนไชซีของเคเอฟซี ที่หน้าอาคารสาทร สแควร์ (หัวมุมแยกสาทร-นราธิวาส)

“แววคนีย์ อัสโสรัตน์กุล” ผู้จัดการทั่วไป บริษัท ยัม เรสเทอรองตส์ อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวในเรื่องนี้ว่า ฟู้ดทรัก ของคิวเอสอาร์ ออฟ เอเชีย อยู่ในช่วงของการทดลองตลาด และเมนูที่นำมาจำหน่ายจะเน้นไปที่เมนูพิเศษที่ได้รับความนิยมจากลูกค้า และในอนาคตจะตระเวนไปให้บริการในย่านที่มีทราฟฟิกสูง หากเปิดแฟรนไชซีรายอื่นสนใจโมเดลนี้ บริษัทก็พร้อมจะเปิดโอกาสให้ อย่างไรก็ตาม นโยบายหลักของเคเอฟซียังคงเน้นการขยายสาขาที่เป็นการเปิดร้านขนาดใหญ่

ในเวลาใกล้เคียงกัน “คริสปี้ ครีม” เป็นอีกค่ายหนึ่งที่กระโดดเข้ามาร่วมกระแส “ฟู้ดทรัก” ประเดิมแห่งแรกที่ ลา วิลล่า อารีย์ จากนั้นก็ตระเวนนำ “คริสปี้ ครีม ทรัค” จัดกิจกรรมตามสถานที่ต่าง ๆ รวมทั้งมีการจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย ซื้อ 1 แถม 1

นี่ยังไม่นับรวมความเคลื่อนไหวของบริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด (ซีอาร์จี) ได้เปิดตัว อานตี้ แอนส์ ฟู้ดทรัคส์ เมื่อปลายปี 2560 ให้เป็นร้านเคลื่อนที่ตระเวนไปตามอาคารสำนักงาน งานอีเวนต์ งานแสดงสินค้า รวมทั้งรับรองการจัดเลี้ยงงานสัมมนา ฯลฯ เพื่อสร้างการรับรู้แบรนด์ ขยายตลาดให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ มากขึ้น