ไทยเบฟเข้มรัดเข็มขัดสู้โควิด ปิดบัญชีโกยกำไร 2.8 หมื่นล้าน

“ไทยเบฟ” ติดใจแผนรัดเข็มขัดหลังช่วยดันกำไรปี’63 โต 10.1% เดินหน้าต่อเนื่องปี’64 ทั้งคุมเข้มงบฯโฆษณา-โปรโมชั่น เพิ่มศักยภาพโลจิสติกส์-ซัพพลายเชน โฟกัสร้านไดรฟ์ทรู พร้อมส่งสินค้าใหม่ชิงส่วนแบ่งตลาดเบียร์เวียดนาม ด้านเบียร์ไทยซุ่มเตรียมแผนรับมือคู่แข่ง

รายงานข่าวจากบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา คณะผู้บริหารได้กล่าวถึงภาพรวมธุรกิจในปีงบประมาณ 2563 (ต.ค. 62-ก.ย. 63) และทิศทางปีหน้าในการคอนเฟอเรนซ์คอลกับสถาบันการเงินว่า ขณะนี้บริษัทพยายามต่อยอดกลยุทธ์รัดเข็มขัดที่นำมาใช้รับมือกับการระบาดของโรคโควิด-19 ตลอดช่วงปีงบฯที่ผ่านมา และประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี และช่วยให้ผลกำไรเติบโตถึง 10.1% เป็น 28,725 ล้านบาท แม้รายได้รวมจะลดลง 5.2% เหลือ 253,481 ล้านบาทก็ตาม

โดยผลประกอบการปีงบประมาณ 2563 บริษัทมียอดขายทั้งหมด 253,481 ล้านบาท ลดลง 5.2% จากปีก่อนที่มียอดขายรวม 267,357 ล้านบาท เนื่องจากการระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบกับธุรกิจต่าง ๆ ในเครือจนยอดขายลดลง โดยเฉพาะเบียร์ซึ่งเป็นสินค้าหลักมีสัดส่วน 42.2% หดตัวถึง 11.3% จากการปิดสถานบันเทิงในช่วงล็อกดาวน์ และกฎหมายควบคุมการดื่มฉบับใหม่ของเวียดนามที่มีบทลงโทษรุนแรงกระทบยอดขายในเวียดนามอย่างหนัก และไปในทิศทางเดียวกับยอดขายเครื่องดื่มน็อนแอลกอฮอล์ลดลง 3.1% และอาหารลดลง 15.4%

ส่วนเหล้าซึ่งมีสัดส่วนรายได้ 46.3% เติบโต 2.2% เชื่อว่าเป็นผลจากการมีไลน์อัพสินค้าครบทุกเซ็กเมนต์ และความนิยมดื่มในครัวเรือนมากกว่าตามสถานบันเทิง

รายงานข่าวยังระบุด้วยว่า อย่างไรก็ตาม การรัดเข็มขัดการคุมค่าใช้จ่ายโดยเฉพาะด้านโฆษณาและโปรโมชั่นที่ลดลงกว่าปกติมาก และการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานในแต่ละธุรกิจช่วยให้ยังสามารถมีกำไรได้ โดยในธุรกิจเบียร์นั้นลดงบฯด้านโฆษณาและโปรโมชั่นลง และควบคุมค่าใช้จ่ายทุก ๆ ด้านจนกำไรสุทธิเติบโต 7.3% เป็น 3,519 ล้านบาท เช่นเดียวกับธุรกิจเครื่องดื่มน็อนแอลกอฮอล์ที่สามารถพลิกจากสภาพขาดทุนในปี 2562 มามีกำไร 656 ล้านบาท

ด้านธุรกิจเหล้าการลดค่าใช้จ่ายในการกระจายสินค้าลงช่วยให้มีกำไรเพิ่มขึ้น 14.7% เป็น 22,271 ล้านบาท

ส่วนธุรกิจอาหารซึ่งเป็นหนึ่งในเซ็กเมนต์ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดหนักที่สุดนั้น บริษัทต้องการพยายามลดค่าใช้จ่ายด้วยโครงการต่าง ๆ อาทิ เจรจาลดค่าเช่าพื้นที่ เพิ่มประสิทธิภาพซัพพลายเชนและพนักงาน รวมไปถึงลดค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ ยังไม่สามารถชดเชยยอดขายของโออิชิ ฟู้ดได้ ทำให้ยังขาดทุน 101 ล้านบาท

ทั้งนี้ คณะผู้บริหารระบุว่า ในปีงบประมาณ 2564 (ต.ค. 63-ก.ย. 64) จะพยายามรักษาระดับการใช้งบฯด้านการตลาดและโปรโมชั่นไว้เท่ากับปีนี้ เนื่องจากบางธุรกิจ เช่น เบียร์นั้นไม่อาจคุม-ลดค่าใช้จ่ายลงไปได้มากกว่าปัจจุบันแล้ว เช่นเดียวกับทิศทางของการใช้งบฯการตลาดที่จะเน้นสื่อออนไลน์ต่อไป พร้อมจับตาช่องทางออนเทรดอย่างโรงแรม บาร์ ร้านอาหาร และออฟเทรด อาทิ ซูเปอร์มาร์เก็ต อย่างใกล้ชิดเพื่อหาโอกาสสร้างการรับรู้

“เรามองหาโอกาสจัดกิจกรรมอยู่เสมอ แต่ด้วยสถานการณ์ปัจจุบันที่ไม่เอื้ออำนวยสำหรับการจัดอีเวนต์ต่าง ๆ ทำให้เดือน พ.ย.มีโอกาสใช้งบฯเพียงไม่ถึง 50% ของช่วงปกติ ส่วนปีหน้าต้องจับตาการใช้งบฯของคู่แข่งด้วย เพราะวงการนี้หากมีรายใดทุ่มงบฯมากก็จะต้องตอบโต้ในระดับเดียวกัน ซึ่งหวังว่าปีหน้าแต่ละรายจะใช้งบฯอย่างพอเหมาะพอควร”

นอกจากนี้ ในธุรกิจเหล้าจะเดินหน้าเพิ่มอัตราการใช้ขวดซ้ำให้มากขึ้นตามเป้าที่วางไว้ในระดับ 50-60% จากปัจจุบันอยู่ที่ 30-40% เพื่อเสริมประสิทธิภาพของกลยุทธ์การปรับรูปแบบขวดเป็นการปั๊มตราบนเนื้อแก้วแทนการติดฉลากซึ่งทำให้ต้นทุนลดลง

ด้านธุรกิจอาหารเน้นขยายสาขาในทำเลนอกห้าง เช่น เคเอฟซี ไดรฟ์ทรู เนื่องจากมีศักยภาพเติบโตสูง พร้อมปรับการตลาดเน้นลูกค้าในพื้นที่มากขึ้น ส่วนธุรกิจเครื่องดื่มน็อนแอลกอฮอล์เน้นเพิ่มศักยภาพของระบบขนส่งสินค้าและซัพพลายเชน เพื่อชดเชยกับราคาของขวดพีอีทีที่อาจปรับตัวสูงขึ้นในปีหน้า หลังจากช่วงที่ผ่านมาราคาลดลงตามราคาน้ำมันดิบที่เป็นวัตถุดิบหลัก

รายงานข่าวยังระบุด้วยว่า นอกจากแผนรัดเข็มขัดต่อเนื่องแล้ว ไทยเบฟยังมีแผนเพิ่มรายได้ในตลาดเบียร์เวียดนามด้วย การเจาะเซ็กเมนต์ซับพรีเมี่ยมซึ่งเดิมเป็นเซ็กเมนต์ที่ถูกสร้างโดยคู่แข่งอย่างไฮเนเก้น และไทเกอร์ โดยคณะผู้บริหารอธิบายว่า ช่วงเดือน ต.ค.ที่ผ่านมาได้เปิดตัวเบียร์ “ไซ่ง่อน ชิล” (Saigon Chill) เพื่อเป็นหัวหอกรุกจับผู้บริโภครุ่นใหม่ในเซ็กเมนต์ซับพรีเมี่ยม ทั้งด้วยรสชาติ ดีไซน์ขวด-กระป๋อง และการใช้นักร้องเพลงแรปชื่อดังของเวียดนามเป็นแบรนด์แอมบาสซาเดอร์ พร้อมวางขายในทุกช่องทางที่เบียร์ไซ่ง่อนวางขายอยู่แล้ว

ด้านเซ็กเมนต์เมนสตรีมที่เป็นเซ็กเมนต์ใหญ่สุดของวงการและแข่งขันกันดุเดือดนั้น จะรับมือด้วยการใช้ไลน์อัพสินค้าที่มีให้เป็นประโยชน์ โดยเน้นจัดโปรโมชั่นกับแบรนด์ย่อยต่าง ๆ เพื่อให้สามารถรักษาส่วนแบ่งตลาดไว้ได้โดยไม่กระทบกับราคาของแบรนด์หลักที่เป็นตัวทำตลาดอย่าง ไซ่ง่อน ลาเกอร์ และไซ่ง่อน เอ็กซ์ปอร์ต

“ทุกคนอยากเข้ามาในเซ็กเมนต์เมนสตรีมที่เป็นตลาดใหญ่สุดทั้งนั้น แต่ก็มีความเสี่ยงสูงเพราะอัตรากำไรต่ำมาก ส่วนเรามีแบรนด์หลากหลายพร้อมรับมือได้ทุกรูปแบบ”

ส่วนตลาดเบียร์ในไทยรายงานข่าวระบุว่า แม้หลังการเปิดตัวช้างโคลด์บรูว์ในปีที่แล้ว จะทำให้มีคู่แข่งเพิ่มขึ้นจำนวนมาก แต่ถือเป็นปัจจัยบวกที่ช่วยสร้างการรับรู้-ความสนใจให้ตลาด ขณะเดียวกัน มั่นใจว่าจะสามารถรักษาส่วนแบ่งตลาดไว้ได้ โดยจับตาความเคลื่อนไหวของคู่แข่งอย่างใกล้ชิดและเตรียมแผนรับมือไว้แล้ว