“เครื่องดื่มวิตามิน” สะท้าน! ดิ้นโต้ผลแล็บ หวั่นยอดสะดุด

จับกระแสตลาด

จะเรียกว่าระเบิดลงตูมใหญ่ ! เลยทีเดียวก็คงไม่ผิดนัก

สำหรับเครื่องดื่มผสมวิตามินซี เครื่องดื่มที่ร้อนแรงที่สุดแห่งยุค

หลังจากการออกมาให้ข้อมูลของมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ที่ระบุว่า ผลการทดสอบปริมาณวิตามินซีในเครื่องดื่มผสมวิตามินซีที่วางขายในท้องตลาด 47 ตัวอย่าง พบว่ามีปริมาณวิตามินซีไม่ตรงตามที่แจ้งบนฉลาก และมี 8 ตัวอย่างที่ไม่พบปริมาณวิตามินซี

ถัดจากนั้นไม่กี่วัน ค่ายเครื่องดื่มวิตามินซี ต่างทยอยดาหน้ากันมาโต้ข่าวพร้อมกับชี้แจงและให้ข้อมูลเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กลับมาโดยเร็ว

เริ่มจากค่ายยันฮี ที่ได้ออกหนังสือชี้แจงถึงกรณีดังกล่าว และโพสต์ผ่านเฟซบุ๊ก (16 ธันวาคม) โดยยืนยันว่า เครื่องดื่มยันฮี วิตามินซี วอเตอร์ ในทุกลอต ได้ใส่ส่วนผสมวิตามินซีตามที่ได้ระบุไว้บนฉลากของเครื่องดื่ม แต่ด้วยคุณสมบัติบางประการของวิตามินซีที่มีความเปราะบาง อาจมีโอกาสที่จะสลายได้ง่ายกว่าวิตามินตัวอื่น ๆ โดยเฉพาะการทำปฏิกิริยากับออกซิเจนในอากาศอาจส่งผลให้การสลายตัวเร็วขึ้นกว่าปกติ

พร้อมกับระบุว่า ยันฮี วิตามิน วอเตอร์ มีการรับรองข้อมูลโภชนาการจากห้องทดสอบเอกชนระดับมาตรฐาน ISO 17025 ที่ได้รับรองมาตรฐานจากกรมวิทยาศาสตร์บริการ และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์

“เจษฎา อุดมถิรพันธุ์” ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาด บริษัท ยันฮี วิตามิน วอเตอร์ จำกัด กล่าวในเรื่องนี้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นมองว่าอาจจะกระทบต่อความเชื่อมั่นและภาพรวมของบริษัท จึงย้ำให้ผู้บริโภคมั่นใจ และจากนี้จะต้องบริหารจัดการให้รัดกุมและต้องเข้มเรื่องมาตรฐานมากขึ้น รวมถึงยังต้องพัฒนารสชาติใหม่ ๆ ออกมาตอบโจทย์ความต้องการในตลาดอย่างต่อเนื่อง

ถัดมาอีกเพียงวันเดียว เป็นคิวของบริษัท ดี.อาร์.ดริ้งค์ จำกัด ผู้จัดจำหน่ายเจนไม วิตามิน วอเตอร์ (เครื่องดื่มผสมวิตามินซี วิตามินบี 3 ฯลฯ) ยี่ห้อ ดร.อาร์.ดริ้งค์ ได้ชี้แจงว่า เครื่องดื่มดังกล่าวมีการใส่วิตามินซีตามปริมาณที่ระบุข้างบรรจุภัณฑ์จริง พร้อมกับแนบรายละเอียดผลตรวจ

นอกจากนี้ยังอธิบายด้วยว่า ด้วยคุณสมบัติบางประการของวิตามินซีที่มีโอกาสสลายง่ายกว่าวิตามินตัวอื่น ๆ นั้น อาจทำให้ปริมาณวิตามินซีในสินค้าลดลงไปจากที่ระบุในฉลาก

พร้อมทั้งยืนยันมาตรฐานการผลิตที่ได้รับการรับรองคุณภาพ GMP และ HACCP และขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาสินค้าในส่วนของการพันแรปพลาสติกรอบขวดให้สามารถป้องกันและเก็บวิตามินซีได้มากขึ้น

แหล่งข่าวระดับสูงจากวงการเครื่องดื่มผสมวิตามินรายใหญ่ ยอมรับกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า หลังจากมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคออกมาให้ข้อมูลดังกล่าว ได้ก่อให้เกิดกระแสด้านลบกับเครื่องดื่มผสมวิตามินซีในระดับหนึ่ง แต่เบื้องต้นคงยังไม่สามารถประเมินความสูญเสียที่เกิดขึ้นได้ และอาจจะต้องรอดูสถานการณ์อีกสักระยะหนึ่ง

ขณะที่แหล่งข่าวจากวงการเครื่องดื่มผสมวิตามินอีกรายหนึ่ง แสดงความเห็นในเรื่องนี้ว่า ต้องยอมรับว่า เครื่องดื่มวิตามินซีที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ปัจจัยส่วนหนึ่งมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่กระตุ้นให้ผู้บริโภคหันมาให้ความสำคัญในเรื่องสุขภาพมากขึ้น และมีลูกค้าจำนวนมากที่สวิตช์จากน้ำดื่มและหันมาดื่มเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของวิตามินแทน อย่างไรก็ตาม ขณะนี้อาจจะกล่าวได้ว่าเครื่องดื่มผสมวิตามินเป็นตลาดที่เพิ่งเริ่มต้น และมั่นใจว่าตลาดจะเติบโตได้อีกมาก

แม้ช่วงนี้ตลาดอาจจะสะดุดลงไปบ้าง แต่ผู้ประกอบการต่างคาดการณ์ไปในทิศทางเดียวกันว่า ในอนาคตอันใกล้นี้ ตลาดเครื่องดื่มผสมวิตามิน-วิตามินซีแบบเข้มข้น รวมถึงเครื่องดื่มวิตามินในรูปแบบเจล อาจจะมีมูลค่าตลาดรวมแตะหมื่นล้านบาทได้ภายใน 3 ปี จากปัจจุบันที่ประเมินกันว่าตัวเลขมูลค่าตลาดรวมน่าจะมีราว ๆ 1-2 พันล้านบาท

นอกจากกระแสความตื่นตัวด้านสุขภาพของผู้บริโภคที่มีมากขึ้นแล้ว เครื่องดื่มผสมวิตามินยังเป็นเครื่องดื่มที่สามารถบริโภคได้ในหลากหลายโอกาส สามารถบริโภคได้ทุกเพศทุกวัย

ที่สำคัญ ทุกค่ายยังมีการเร่งทำการตลาดอย่างหนักหน่วง ทั้งการโฆษณาประชาสัมพันธ์ การจัดโปรโมชั่น “ราคา” ที่มีออกมากระตุ้นเป็นระยะ ๆ จะเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ตลาดนี้เติบโตต่อเนื่อง