เปิดไส้ในควบรวม “ซี.พี.-เทสโก้” มีอำนาจเพิ่ม แต่ไม่ผูกขาด

ทันทีที่คณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน 2563 มีมติ 4 ต่อ 3 เสียง อนุญาต บริษัท ซี.พี. รีเทล ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด รวมธุรกิจกับ บริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ด้วยมูลค่าดีลมหาศาล 10,600 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 338,000 ล้านบาท

ด้วยเหตุผลว่าการรวมธุรกิจทำให้มีอำนาจตลาดเพิ่มแต่ไม่ผูกขาด และจำเป็นต้องควบรวมตามควรทางธุรกิจ ก่อให้เกิดประโยชน์มากขึ้น ทำให้หลายฝ่ายตั้งคำถามถึงหลักการพิจารณาเคสประวัติศาสตร์เคสแรกภายใต้ พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า 2560 ที่นำมาใช้แทน พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้าปี 2542 ว่ามีหลักการอย่างไร

แน่นอนว่าหลักการนี้จะกลายเป็นบรรทัดฐานการควบรวมธุรกิจในอนาคต ที่สำคัญการรวมธุรกิจค้าปลีกขนาดใหญ่ที่มีจำนวนสาขามากที่สุดครั้งนี้ ย่อมส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพการแข่งขันในธุรกิจค้าปลีกสมัยใหม่ โดยเฉพาะกับค้าปลีกขนาดเล็ก เนื่องจากภายหลังการรวมจะทำให้มี “จำนวนผู้เล่น” ลดลง ทั้งยังส่งผลให้ผู้ประกอบการรายดังกล่าวมีอำนาจเหนือตลาดเพิ่มขึ้น อาจนำไปสู่การใช้อำนาจเหนือตลาดอย่างไม่เป็นธรรม

ในการกำหนดหรือรักษาระดับราคาสินค้าหรือบริการ การกำหนดเงื่อนไขต่อผู้ประกอบการอื่น เช่น ซัพพลายเออร์คู่ค้า การระงับ ลด หรือจำกัดปริมาณการขายสินค้าและบริการ และการแทรกแซงการประกอบธุรกิจของผู้อื่น อาจมีโอกาสจะร่วมมือกันขึ้นราคาสินค้าซึ่งจะมีผลต่อผู้บริโภคปลายทาง ทำให้มีทางเลือกซื้อสินค้าน้อยลงและต้องซื้อสินค้าที่แพงขึ้นด้วย

ย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้น บริษัท ซี.พี. รีเทลฯ บริษัทลูกของกลุ่ม ซี.พี. ที่ตั้งขึ้นมาใหม่เมื่อเดือนมิถุนายน 2563 ถือหุ้นด้วย บมจ.ซีพี ออลล์ และ ซี.พี.เมอร์แชนไดซิ่ง ได้ยื่นคำขออนุญาตรวมธุรกิจกับบริษัท เทสโก้ สโตร์ส (ประเทศไทย) จำกัด ต่อ กขค. เมื่อ 31 กรกฎาคม 2563 ซึ่งตามบทบัญญัติมาตรา 51 หากรวมธุรกิจที่อาจจะทำให้เกิดการผูกขาด หรือมีอำนาจเหนือตลาด

ซึ่งหมายถึงว่าหากสินค้าหรือบริการใดมีผู้ประกอบการรายเดียวที่มีส่วนแบ่งตลาด 50% และมียอดขาย 1 พันล้านบาท หรือสินค้าบริการใดที่มีผู้ประกอบการ 3 รายแรกที่มีส่วนแบ่งตลาดเกิน 75% และมียอดขายเกิน 1 พันล้านบาท จะต้องได้รับอนุญาตจาก กขค. ตามมาตรา 51 จึงจะควบรวมธุรกิจได้

ต่อมา กขค.ได้วางแนวทางการทำงาน โดยตั้ง “คณะอนุกรรมการพิจารณาคำขออนุญาตรวมธุรกิจ” รวมถึงที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญของคณะอนุกรรมการพิจารณา เพื่อศึกษาวิเคราะห์ข้อมูล และได้เปิดเผย “คำวินิจฉัย” เมื่อ 16 ธันวาคม 2563 ประเด็นวินิจฉัยมี 2 ข้อ 1) การรวมธุรกิจครั้งนี้เป็นการรวมที่ก่อให้เกิดการผูกขาดหรือการมีอำนาจเหนือตลาดที่จะต้องขออนุญาตตามมาตรา 51 หรือไม่

และ 2) การพิจารณาอนุญาตหรือไม่อนุญาตให้รวมธุรกิจ ความจำเป็นตามสมควรทางธุรกิจ ประโยชน์ต่อการส่งเสริมการประกอบธุรกิจ และต้องไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจอย่างร้ายแรง และไม่กระทบต่อผู้บริโภค ตามบทบัญญัติมาตรา 52 พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า

ประเด็นแรก สรุปว่า ซี.พี. รีเทลฯ ต้องขออนุญาต เพราะถือเป็นธุรกิจที่มีรายได้ในปีที่ผ่านมาเกิน 1 พันล้านบาท นั่นเพราะคณะกรรมการพิจารณา “ความสัมพันธ์ระดับนโยบายและอำนาจสั่งการ” ของผู้ขออนุญาต คือ ซี.พี. รีเทลฯ ว่ามีสถานะเป็น “ธุรกิจหน่วยเดียวกัน” กับ 7 บริษัทในเครือ

ส่วนเรื่อง “อำนาจเหนือตลาด” ที่พิจารณาขอบเขตตลาดสินค้าหรือบริการ “ธุรกิจร้านค้าปลีกค้าส่งสมัยใหม่” 3 กลุ่มย่อย คือ ไฮเปอร์มาร์เก็ต, ซูเปอร์มาร์เก็ต และค้าปลีกขนาดเล็ก ถึงโครงสร้างส่วนแบ่งตลาดและยอดขายก่อนและหลังการรวมธุรกิจ สรุปว่า การควบรวมจะไม่ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงโครงสร้างธุรกิจไฮเปอร์มาร์เก็ต ซึ่งมีผู้มีอำนาจเหนือตลาด 2 ราย คือ เทสโก้ โลตัส เอ็กซ์ตร้า และ บิ๊กซี ซุปเปอร์เซ็นเตอร์/เอ็กซ์ตร้า

ขณะที่ธุรกิจซูเปอร์มาร์เก็ตก่อนและหลังควบรวม ยังคงมีผู้ประกอบการ 3 รายเดิมที่ส่วนแบ่งตลาดรวม 46.88% ต่ำกว่าเกณฑ์อำนาจเหนือตลาดที่กำหนด 75% จึงไม่มีผู้ประกอบการใดที่มีอำนาจเหนือตลาด

มีเพียงกลุ่ม “ค้าปลีกสมัยใหม่ขนาดเล็ก” เท่านั้น ที่มีความทับซ้อนของตลาด เพราะหลังจากรวมธุรกิจแล้ว โครงสร้างส่วนแบ่งการตลาดเปลี่ยนไป โดยร้านเซเว่นอีเลฟเว่น เดิมมีส่วนแบ่งตลาด 73.60% จำนวนสาขา 11,712 ร้าน หลังควบรวมจะมีส่วนแบ่งตลาดของเทสโก้ โลตัส เอ็กซ์เพรส มาเพิ่มอีก 9.45% มีจำนวนสาขา 1,595 สาขา เท่ากับว่า “กลุ่ม ซี.พี. รีเทลฯ จะมีส่วนแบ่งตลาดเป็น 83.05%”

อันดับ 2 คือ กลุ่มเซ็นทรัล (ร้านแฟมิลี่มาร์ท และท็อปส์ เดลี่) ที่มีส่วนแบ่งตลาด 4.79% และมินิ บิ๊กซี ที่มีส่วนแบ่งตลาด 3.24% ซึ่งเข้าเกณฑ์อำนาจเหนือตลาด แต่เหตุที่ไม่ใช่การผูกขาด เพราะ ซี.พี. รีเทลฯ ไม่ได้เป็นผู้ประกอบการรายเดียวในตลาดค้าปลีกสินค้าขนาดเล็กนั่นเอง

ส่วนประเด็นเรื่องที่ 2 ที่ให้ควบรวมตามความจำเป็นตามสมควรทางธุรกิจ ฯ นั้น สามารถอธิบายได้ว่า เดิมการกระจุกตัวของธุรกิจค้าปลีกที่วัดจากค่าดัชนี Herfindahl-Hirschman Inde หรือ HHI ก่อนควบรวมเท่ากับ 5553.19 คือ กระจุกตัวสูงอยู่แล้ว และเมื่อรวมธุรกิจจะขยับขึ้นเป็น 6944.09 คือ กระจุกตัวสูงขึ้นไปอีก ทั้งปัจจุบันไม่มีกฎหมายที่เป็นข้อจำกัดการทำธุรกิจนี้ จึงเท่ากับว่าการรวมธุรกิจไม่เป็นอุปสรรคต่อผู้ประกอบการค้าปลีกรายใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาด

ส่วนผลกระทบต่อผู้ร่วมธุรกิจ (ซัพพลายเออร์) หลังจากการควบรวมธุรกิจนั้น อาจทำให้บริษัทมี “อำนาจต่อรอง” มากขึ้น เพราะเป็นทั้งผู้ที่มีส่วนแบ่งตลาดสูงสุด และยังมีสถานะเป็นบริษัทเดียวกันกับผู้ผลิตสินค้าเกษตรรายใหญ่ อาจมีอำนาจเหนือตลาดตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ เสี่ยงจะใช้อำนาจมิชอบ ไปกำหนดเงื่อนไขกระทบต่อคู่ค้าซัพพลายเออร์ หรือมีต้นทุนเฉลี่ยต่อหน่วยที่ต่ำกว่าคู่แข่งนั้น

คณะกรรมการวินิจฉัยว่า ผลการรวมธุรกิจทำให้มีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 83.05% เป็นสัดส่วนที่ต่างจากคู่แข่งอย่างมีนัยสำคัญแล้ว จึงอาจไม่มีแรงจูงใจในการร่วมมือกับคู่แข่งอื่นที่เป็นรายย่อยในการกำหนดเงื่อนไขดังกล่าว ดังนั้น การรวมธุรกิจนี้จึงไม่น่ากระทบต่อคู่แข่งหรือผู้บริโภค และเพื่อป้องกันปัญหาดังกล่าว ทางกขค.ได้กำหนดเงื่อนไข 7 ข้อในการควบรวม

อาทิ การให้คงสัญญากับซัพพลายเออร์ เพิ่มสัดส่วนสินค้าจากผู้ค้าเอสเอ็มอี 10% เป็นเวลา 5 ปี ต้องจ่ายเงินในเครดิตเทอมไม่เกิน 45 วัน เป็นต้น นอกจากนี้ผู้บริโภคยังพอมีทางเลือกในการซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์ได้อีกทางหนึ่ง

อีกด้านหนึ่ง เป็นที่น่าสังเกตว่า คำวินิจฉัยชี้ว่า การรวมธุรกิจนี้ไม่เพียงไม่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมเศรษฐกิจอย่างร้ายแรง แต่ยังส่งผลดีต่อเศรษฐกิจ ทำให้ไม่หยุดชะงักในช่วงโควิด-19 ด้วย เพราะไม่ว่าจะมีการรวมกับ ซี.พี.หรือไม่ ทางบริษัทแม่ของเทสโก้ก็มีนโยบายจะขายกิจการอยู่แล้ว

การที่ ซี.พี.เป็น 1 ใน 3 ที่เข้าไปร่วมประมูลซื้อ เป็นการสร้างรายได้เข้าประเทศ ช่วยให้ไทยสามารถรักษาช่องทางการจำหน่ายไว้ได้ ไม่ต้องมีการเลิกจ้างแรงงานซึ่งมีมูลค่าคิดเป็นสัดส่วน 50% ของจีดีพี และยังช่วยการจ้างแรงงานอีก 1.1 ล้านคนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ทำให้เกิดการลงทุนใหม่เพิ่ม และช่วยเอสเอ็มอี ให้สามารถขยายการส่งออกสินค้าไปยังต่างประเทศได้โดยอาศัยช่องทางนี้

แม้ว่าผลสรุปจะให้มีการควบรวมได้ แต่ยังมีข้อสังเกตหลายอย่างจากกรรมการเสียงข้างน้อยที่ระบุในผลการวินิจฉัยว่า การควบรวมธุรกิจระยะยาวจะเกิดผลกระทบต่อคู่แข่งจากการมีอำนาจเหนือตลาดตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ มีอำนาจทางเศรษฐกิจสูง ลดทอนการแข่งขัน

และหากพิจารณาการกระจุกตัวของธุรกิจในเชิงพื้นที่จะพบว่า ทันทีที่ควบรวมจะมี 5 จังหวัดที่กลุ่มนี้เข้าไปมีส่วนแบ่งตลาดเกิน 95% และน่าห่วงที่มาตรการเยียวยาผลกระทบเรื่องการ “ตัดขาย” บางธุรกิจเพื่อเยียวยาโครงสร้าง แก้ปัญหาการกระจุกตัว ก็ไม่ได้รับการพิจารณา ซึ่งคงต้องติดตามผลที่เกิดขึ้นต่อธุรกิจค้าปลีกไทยในอนาคตว่าจะมีทิศทางอย่างไร