ตลาดอุปกรณ์ฟิตเนสมาแรง จอห์นสันฯเจาะโรงพยาบาล-คลินิก

จอห์นสัน เฮลธ์ เทค มั่นใจตลาดเครื่องออกกำลังปี’64 ดีมานด์โรงพยาบาล-คลินิกมาแรงแซงฟิตเนส-อสังหาฯ เร่งปรับกลยุทธ์สินค้า-การตลาด เน้นชูจุดขายสุขภาพ-บันเทิง ไม่หวั่นสินค้าอิมพอร์ตจากจีน พร้อมปล่อยซอฟต์โลนเสริมสภาพคล่องลูกค้าเพิ่มความคล่องตัว-ชิงดีมานด์

แดเนียล ไลน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท จอห์นสัน เฮลธ์ เทค (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายอุปกรณ์ฟิตเนส อาทิ เมทริกซ์ (matrix) และฮอริซอน (horizon) เปิดเผยถึงทิศทางของตลาดและบริษัทในปี 2564 กับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ปีหน้าตลาดอุปกรณ์ฟิตเนสยังคงมีโอกาสเติบโต เพราะการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ผู้บริโภคและองค์กรรัฐ-เอกชนที่หันมาสนใจสุขภาพมากขึ้น แม้จะมีความท้าทายสูงขึ้นเพราะเกิดความเปลี่ยนแปลงหลายด้านด้วยก็ตาม

โดยกลุ่มธุรกิจสุขภาพ อาทิ โรงพยาบาล และคลินิกกายภาพ จะเป็นกลุ่มลูกค้าที่มีศักยภาพโดดเด่นขึ้นมาแทนกลุ่มโรงแรมและอสังหาฯต่อเนื่องจากปี 2563 ซึ่งโรงพยาบาลเอกชนที่เน้นผู้ป่วยชาวไทยหลายแห่งหันมาเสริมบริการด้านกายภาพบำบัด และการฟื้นฟูสมรรถภาพหลังการรักษา รวมถึงยังมีคลินิกด้านกายภาพเกิดขึ้น เช่น วอริกซ์ คลินิกกายภาพบำบัด (Warrix Physiotherapy) ของแบรนด์สินค้ากีฬารายใหญ่

ขณะเดียวกัน ยังมีดีมานด์จากบริษัทเอกชนและหน่วยงานรัฐซึ่งต้องการสร้างยิม-ศูนย์ออกกำลังกายให้กับพนักงานของตนอีกด้วย ส่วนกลุ่มอสังหาฯนั้นคาดว่าน่าจะกลับมาลงทุนกับฟิตเนสเต็มที่อีกครั้ง เพื่อใช้เป็นจุดขายของโครงการ เนื่องจากผู้บริโภคจะต้องการความคุ้มค่าจากการลงทุนซื้อโครงการอสังหาฯมากขึ้น ซึ่งฟิตเนสเป็นหนึ่งในบริการที่โครงการอสังหาฯนิยมนำมาเป็นจุดขาย หลังจากปี 2563 บางรายลดการลงทุนด้านอุปกรณ์ฟิตเนสด้วยการหันไปหาสินค้าราคาจับต้องง่ายเพื่อคุมต้นทุน

กรรมการผู้จัดการ บริษัท จอห์นสัน เฮลธ์ เทคกล่าวว่า สำหรับด้านลูกค้าทั่วไปหรือบีทูซี ความตื่นตัวเรื่องสุขภาพและการออกกำลังกายช่วยให้มีดีมานด์ต่อเนื่อง สะท้อนจากยอดจำหน่ายอุปกรณ์การออกกำลังกายเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2563 นี้ ทั้งในกลุ่มลูกค้าเดิมและลูกค้าใหม่

ในส่วนของการแข่งขันปัจจัยหลักจะยังเป็นเรื่องฟังก์ชั่นของสินค้า บริการหลังการขาย และราคา โดยในช่วงที่ผ่านมาแม้ว่าจะมีผู้นำสินค้าจากจีนเข้ามาทำตลาดมากขึ้นด้วยจุดขายด้านราคา แต่เชื่อว่าไม่กระทบกับการดำเนินงานของบริษัทมากนัก เนื่องจากปัจจุบันผู้บริโภคจะให้ความมั่นใจกับแบรนด์ของอุปกรณ์ที่ฟิตเนส-สถานออกกำลังกายต่าง ๆ ใช้มากกว่าเรื่องราคา ทำให้การนำแบรนด์ที่ไม่เป็นที่รู้จักมาใช้อาจกระทบต่อความเชื่อมั่น

อย่างไรก็ตาม บริษัทจะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ โดยหันไปโฟกัสกลุ่มลูกค้าผู้ประกอบการในกลุ่มธุรกิจสุขภาพทั้งโรงพยาบาลเอกชนที่เน้นผู้ป่วยชาวไทย คลินิกกายภาพบำบัด และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ รวมไปถึงศึกษาโอกาสความร่วมมือกับสโมสรกีฬาต่าง ๆ เพื่อนำเสนอสินค้าซึ่งจะเพิ่มไลน์อัพอุปกรณ์ด้านกายภาพบำบัด และรักษาอาการบาดเจ็บให้หลากหลายขึ้น โดยอาจมีการจับมือกับสโมสรฟุตบอลร่วมเปิดศูนย์ฝึก และเข้ามาเป็นสปอนเซอร์โฆษณาในสนามแข่งอีกด้วย

โดยสินค้าใหม่ที่จะนำมาวางจำหน่ายในปี 2564 นั้นจะเน้นจุดขายด้านเทคโนโลยีสุขภาพ ความบันเทิง และความทนทาน เช่น performance series สำหรับกลุ่มโครงการอสังหาริมทรัพย์ หน่วยงานราชการ และโรงแรมขนาดใหญ่ จะเน้นความทนทานและการถนอมหัวเข่าขณะวิ่ง รวมถึงหน้าจอแอลอีดีระบบสัมผัสขนาด 16-22 นิ้ว รองรับโซเชียลมีเดียและแอปบันเทิง อาทิ YouTube, Netflix, Facebook และ Instagram เป็นต้น

พร้อมกับทำการตลาดนอกจากเน้นย้ำจุดแข็งเรื่องการบริการหลังการขายและรับประกันสินค้า อาทิ มอเตอร์ 5 ปี และตัวเครื่อง 10 ปีแล้ว นอกจากนี้ ยังศึกษาการให้สินเชื่อซอฟต์โลนหรือโมเดลการเช่าซื้อ ให้เช่า หรือผ่อนชำระกับลูกค้าจากเดิมที่มีเพียงเครดิตเทอม 30-60 วัน โดยอาจเริ่มนำมาใช้ช่วงต้นปีหน้าเพื่อเพิ่มสภาพคล่องให้ลูกค้า

นอกจากนี้ ยังเตรียมเปิดตัวพรีเซ็นเตอร์คนใหม่เพื่อสื่อสารกับกลุ่มคนรุ่นใหม่ และรีโนเวตโชว์รูมที่บางนาและภูเก็ตรองรับสินค้าใหม่ที่จะนำเข้ามาจำหน่าย เสริมกับการเพิ่มคอร์สฝึกอบรมการดูแลรักษาเครื่องเพื่อยืดอายุการใช้งาน และบริการจัดคลาสออกกำลังกายตอบโจทย์ลูกค้าที่ต้องการเพิ่มบริการในฟิตเนสของตน เช่น กลุ่มอสังหาฯ และโรงพยาบาล ที่ทำในปี 2563 นี้


“แนวทางดังกล่าวเป็นการปรับกลยุทธ์ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ ซึ่งปี 2563 รายได้จากลูกค้าในธุรกิจโรงพยาบาลเพิ่มขึ้นถึง 20% ในขณะที่กลุ่มโรงแรมลดลงเพราะผลกระทบของโควิด-19 ส่วนกลุ่มอสังหาฯทรงตัวทำให้ยอดขายรวมของบริษัทเติบโตประมาณ 10% ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยเดิมที่เติบโตปีละ 15-20%” กรรมการผู้จัดการ บริษัท จอห์นสัน เฮลธ์ เทคกล่าว