โอลิมปิก ได้ไปต่อ สปอนเซอร์อัดฉีด (อีก) แสนล้าน

MARKET MOVE

แม้สถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ในญี่ปุ่นจะยังสาหัส และเริ่มมีเสียงเรียกร้องจากชาวญี่ปุ่นให้ยกเลิกการจัดงานโตเกียวโอลิมปิกที่เลื่อนไปเป็นปี 2564 แต่ทางคณะกรรมการโอลิมปิกและทีมงานยังคงมุ่งมั่นกับการหาทางเรียกความเชื่อมั่น และจัดมหกรรมกีฬานี้ให้สำเร็จ ซึ่งหนึ่งในอุปสรรคสำคัญคือ ค่าใช้จ่ายที่บานปลายจากการต้องจ้างเจ้าหน้าที่ และดูแลรักษาสนามแข่งต่าง ๆ ในช่วงเวลาที่เพิ่มขึ้นมา 1 ปีนี้ ในขณะที่สัญญาสปอนเซอร์จะหมดอายุในวันที่ 31 ธันวาคม 2563 นี้แล้ว

ล่าสุดสำนักข่าว “นิกเคอิ เอเชีย” รายงานว่า คณะกรรมการจัดงานกีฬาโอลิมปิกและพาราลิมปิกของโตเกียว บรรลุข้อตกลงขั้นต้นในการขอเงินสนับสนุนเพิ่มเติมจากผู้สนับสนุนที่เป็นธุรกิจสัญชาติญี่ปุ่นทั้ง 68 ราย และจะมีการเซ็นสัญญาต่ออายุสปอนเซอร์ไปจนถึงสิ้นปี 2564 อย่างเป็นทางการอีกครั้งในเร็ว ๆ นี้ หลังจากเจรจากันมาตั้งแต่ช่วงเดือนกรกฎาคม

โดยคณะกรรมการคาดว่า ตามข้อตกลงใหม่นี้จะได้รับการสนับสนุนเป็นตัวเงินและอุปกรณ์จำเป็นต่าง ๆ เป็นมูลค่าไม่น้อยกว่า 2.2 พันล้านเยน หรือประมาณ 6.38 พันล้านบาท

การออกเงินสนับสนุนเพิ่มเติมนี้ จะทำให้สปอนเซอร์ของการแข่งขันโตเกียวโอลิมปิกต้องลงทุนรวมกันคิดเป็นมูลค่าไม่น้อยกว่า 3.7 แสนล้านเยน หรือประมาณ 1.07 แสนล้านบาท มากกว่าการสนับสนุนของสปอนเซอร์ในการจัดงานโอลิมปิกครั้งก่อน ๆ อย่างลอนดอนโอลิมปิก (3.46 หมื่นล้านบาท) และปักกิ่งโอลิมปิก (3.67 หมื่นล้านบาท) ถึง 3 เท่า และคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 50% ของรายได้คณะกรรมการที่อยู่ 7.21 แสนล้านเยน

“โยชิโระ โมริ” หัวหน้าคณะกรรมการกล่าวว่า รู้สึกซาบซึ้งในการตัดสินใจขั้นต้นของสปอนเซอร์แต่ละรายมาก แม้ว่าหลังจากนี้ทุกรายน่าจะต้องเผชิญกับการถกเถียงกันอย่างดุเดือดเป็นการภายในถึงข้อตกลงนี้ แต่เชื่อว่าแต่ละรายจะยังคงให้การสนับสนุนโตเกียวโอลิมปิกแน่นอน

ทั้งนี้ สัญญาสปอนเซอร์ท้องถิ่นของการแข่งขันโตเกียวโอลิมปิกแบ่งออกเป็น 3 ระดับ มีระดับสูงสุด คือ กลุ่มโกลด์ ที่ประกอบด้วยธุรกิจสัญชาติญี่ปุ่นรายใหญ่ อาทิ เมจิ โฮลดิ้ง ยักษ์วงการธุรกิจอาหาร-สุขภาพ และอาซาฮี บริวเวอรี่ ยักษ์วงการเครื่องดื่ม

ADVERTISMENT

โดยหลังการบรรลุข้อตกลงนี้สปอนเซอร์แต่ละรายมีแผนใช้ช่วงเวลาสัญญาที่เพิ่มขึ้นแตกต่างกันออกไป อาทิ ตัวแทนของบริษัท อาซาฮี บริวเวอรี่ ให้สัมภาษณ์กับสื่อญี่ปุ่นว่า บริษัทกำลังพิจารณาการกลับมาทำแคมเปญโฆษณาที่ใช้สัญลักษณ์โอลิมปิก เช่น โฆษณาทีวี และการผลิตสินค้าพรีเมี่ยมอีกครั้ง หลังจากต้องหยุดไประยะหนึ่ง ส่วนเมจิ โฮลดิ้งระบุว่า อยู่ระหว่างศึกษาแผนเปิดแพ็กเกจทัวร์สถานที่จัดการแข่งขันโตเกียวโอลิมปิกระยะเวลา 3 วัน 2 คืนสำหรับกลุ่มครอบครัวที่มีเด็ก เพื่อใช้โอกาสหายากนี้ให้เป็นประโยชน์

ในขณะที่บริษัทสื่อสารเอ็นทีทีกล่าวว่า ตัดสินใจต่อสัญญาเพราะเชื่อว่าการแข่งขันโอลิมปิกและพาราลิมปิกจะเป็นแม่เหล็กดึงดูดให้ผู้คนทั่วโลกสนใจประเทศญี่ปุ่นมากขึ้น

ADVERTISMENT

ความเคลื่อนไหวนี้นับเป็นอีกหนึ่งความพยายามของคณะกรรมการ หลังจากก่อนหน้านี้ “โทมัส บาค” ประธานคณะกรรมการโอลิมปิกสากล พยายามสร้างความเชื่อมั่นด้วยการระบุว่า คณะกรรมการโอลิมปิกสากลอาจช่วยรับผิดชอบออกค่าวัคซีนโควิด-19 สำหรับผู้ชมชาวต่างชาติที่เดินทางมายังประเทศญี่ปุ่น

เช่นเดียวกับการทดลองหาโมเดลการจัดงานอย่างปลอดภัย ด้วยการให้ชาวญี่ปุ่นเข้าชมการแข่งขันกีฬาบางชนิด เช่น เบสบอล ซึ่งมีผู้ชมถึง 27,850 คน รวมถึงจัดการแข่งขันยิมนาสติกที่มีนักกีฬาจากสหรัฐอเมริกา รัสเซีย จีน รวมถึงญี่ปุ่นไปก่อนหน้านี้