อีเลิร์นนิ่งญี่ปุ่นบูม “ทำอาหาร-ดนตรี” โกย 2.4 แสนล้าน

เรียนทำอาหารออนไลน์
Market Move

การเรียนออนไลน์หรืออีเลิร์นนิ่งกำลังกลายเป็นธุรกิจมาแรงในประเทศญี่ปุ่น หลังการเผชิญกับการระบาดของโรคโควิด-19 ถึง 3 ระลอกจนนายกรัฐมนตรี “โยชิฮิเดะ ซูกะ” ต้องยอมประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในกรุงโตเกียวและจังหวัดใกล้เคียงตั้งแต่ 8 ม.ค.-7 ก.พ. 2564 ขอให้ประชาชนเลี่ยงการออกจากบ้านหลัง 2 ทุ่ม และขอให้ร้านค้า-ร้านอาหารปิดภายใน 2 ทุ่ม และอื่น ๆ

สถานการณ์เหล่านี้ทำให้ชาวญี่ปุ่นหลายคนเลือกใช้เวลาที่เพิ่มขึ้นนี้ในการเรียนทักษะต่าง ๆ ทางออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นดนตรี ทำอาหาร ฯลฯ ในขณะที่บริษัทอีเลิร์นนิ่งได้คิดนวัตกรรมออกมาตอบโจทย์ เช่น เครื่องดนตรีแบบพิเศษที่ผู้เรียนซ้อมได้โดยไม่รบกวนเพื่อนบ้าน หรือจับมือกับธุรกิจอาหารดึงตัวพ่อครัว-แม่ครัวมาเป็นครูสอนทำอาหาร

ขณะเดียวกัน แต่ละรายยังเร่งวางยุทธศาสตร์สำหรับอนาคตหลังการระบาดยุติลง เพราะมีแนวโน้มว่าทัศนคติของผู้คนที่เคยมองว่า การเรียนออนไลน์นั้นด้อยกว่าการเรียนแบบพบหน้ากันจะลดลง

สำนักข่าว “นิกเคอิ เอเชีย” รายงานว่า ธุรกิจอีเลิร์นนิ่งในญี่ปุ่นกำลังเติบโตต่อเนื่อง โดยสถาบันวิจัยยาโนะประเมินว่า ปี 2563 ที่ผ่านมาธุรกิจนี้มีมูลค่า 2.46 แสนล้านเยน หรือประมาณ 7.13 หมื่นล้านบาท เติบโต 5% จากปีก่อน และหากเทียบกับปี 2559 เท่ากับเติบโตถึง 39%

สอดคล้องกับ “สมอลบริดจ์” ผู้ให้บริการอีเลิร์นนิ่ง “คาเฟ่ทอล์ค” ซึ่งเปิดดำเนินการมานาน 10 ปีระบุว่า ช่วงโรคโควิด-19 ระบาดนี้จำนวนคลาสที่มีผู้เข้าเรียนเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด โดยช่วงตุลาคม-พฤศจิกายน 2563 คลาสดนตรีเพิ่มขึ้น 307% คลาสโยคะและเต้นเพิ่มขึ้น 270% ส่วนคลาสศิลปะเพิ่มขึ้น 400%

โฆษกของบริษัทกล่าวว่า ความท้าทายหลังจากนี้คือการรักษาฐานลูกค้าที่ได้ในช่วงการระบาดมาเอาไว้ โดยบริษัทใช้การจัดประกวดดนตรีออนไลน์เพื่อให้นักเรียนได้โชว์ความสามารถและผลลัพธ์ของการเรียน ซึ่งก็เชื่อว่าจะช่วยให้หลายรายตัดสินใจเป็นลูกค้าต่อไป

ด้านบริษัทเพลทผู้ให้บริการแพลตฟอร์มอีเลิร์นนิ่งด้านทำอาหาร “เทเลคุ้ก” (telecook) ได้ผนึกกำลังกับธุรกิจร้านอาหารซึ่งได้รับผลกระทบหนักจากการระบาดเพื่อสร้างกลยุทธ์แบบวินวินขึ้น ด้วยการเปิดคลาสสอนทำอาหารโดยเชฟจากร้านระดับดาวมิชลินในราคา 1-6 พันเยนต่อเมนู รวมถึงมีบริการส่งวัตถุดิบที่คัดเลือกโดยเชฟให้ผู้เรียนถึงบ้านอีกด้วย

“เคนทาโร โจกิ” ประธานของบริษัทเพลทอธิบายว่า นับตั้งแต่เปิดบริการนี้เมื่อเดือนเมษายนมีผู้ใช้งานรวม 1,000 คนแล้ว และจากนี้เตรียมขยายฐานไปยังกลุ่มลูกค้าองค์กร เนื่องจากที่ผ่านมามีหลายบริษัทใช้คลาสทำอาหารเป็นกิจกรรมยกระดับความสัมพันธ์ของพนักงานในองค์กรระหว่างช่วงการทำงานที่บ้าน

ส่วน “ฮิโรโตะ ชิชิโดะ” ผู้ก่อตั้งและผู้บริหารของบริษัทโฟนิม ผู้ให้บริการคอร์สเรียนดนตรีออนไลน์ กล่าวว่า การสอนดนตรีนั้นเหมาะกับอีเลิร์นนิ่ง เพราะหนึ่งในต้นทุนใหญ่คือ ค่าเช่าห้องเก็บเสียงสำหรับเป็นสถานที่เรียนซึ่งแพงมาก และทำให้ค่าเรียนต้องแพงตามไปด้วย แต่การเรียนออนไลน์สามารถคิดค่าเรียนเริ่มต้นเพียง 1,980 เยนต่อเดือนเท่านั้น

โดยบริษัทจะมีเครื่องดนตรีพิเศษซึ่งสามารถซ้อมเล่นได้โดยไม่มีเสียงให้นักเรียนเช่า นอกจากนี้ คลาสที่จัดจะเน้นเรียบง่ายและสั้นประมาณ 6 นาที เพื่อให้นักเรียนที่ส่วนใหญ่เป็นวัยทำงานสามารถเรียนได้ง่าย

“เชื่อว่าแม้การระบาดจะจบลง แต่ธุรกิจอีเลิร์นนิ่งน่าจะสามารถไปต่อได้ เพราะชาวญี่ปุ่นเริ่มเปิดรับและเข้าใจว่าการเรียนออนไลน์นั้นมีประสิทธิภาพไม่แพ้การเรียนในสถานที่จริง”