โรงพยาบาลฝุ่นตลบ ! เฟ้นบริการเสริมแก้โจทย์โควิด-19

ต้องออกแรงกันตั้งแต่ต้นปีกันเลยทีเดียว สำหรับโรงพยาบาลเอกชนที่ต้องนำแผนสำรองเดิมที่เคยสู้กับไวรัสร้ายกลับมาทำการตลาดใหม่อีกวาระหนึ่ง หลังจากที่โควิด-19 ระลอกใหม่ โจมตีตั้งแต่ช่วงกลางเดือนธันวาคมที่ผ่านมา เพื่อสู้กับความตื่นกังวลของคนไข้ พร้อมยกระดับมาตรการด้านความปลอดภัย ด้วยการนำมาตรการการควบคุมการแพร่ระบาดมาใช้อย่างเข้มงวด

แน่นอนว่าโควิดระลอกใหม่นี้ยิ่งทำให้โรงพยาบาลที่เน้นการพึ่งพาคนไข้ต่างประเทศเป็นหลักต้องออกแรงมากขึ้นเป็นพิเศษ เนื่องจากกลุ่มลูกค้าเป้าหมายยังไม่สามารถเดินทางเข้ามารักษาตัวในเมืองไทยได้ และมีจำนวนไม่น้อยที่อาจจะต้องเลื่อนยาว

แหล่งข่าวระดับสูงจากโรงพยาบาลเอกชนรายใหญ่ยอมรับกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า การเกิดโควิด-19 ระลอกใหม่ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนธันวาคมปีที่ผ่านมา และจนถึงขณะนี้ (11 มกราคม) ส่งผลให้คนไข้นอกและคนไข้ในของโรงพยาบาลหลาย ๆ แห่งมีจำนวนที่ลดลง เนื่องจากคนส่วนใหญ่มีความกังวลในเรื่องของการแพร่ระบาดของโควิด และจะเน้นการป้องกันตัวเองด้วยการลดความเสี่ยงหรือเลี่ยงการไปโรงพยาบาล แต่ตัวเลขของจำนวนผู้เข้าใช้บริการที่ลดลงครั้งนี้อาจจะเป็นสัดส่วนที่ไม่มากนัก เมื่อเทียบกับการเกิดโควิด-19 ครั้งแรกเมื่อช่วงเดือนมีนาคม-เมษายน 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งประชาชนตื่นกังวลค่อนข้างมาก

“ตอนนี้โรงพยาบาลทุกแห่งยังเปิดให้บริการตามปกติ ยกเว้นบางแผนกหรือบางศูนย์ที่ต้องปิดตามประกาศของผู้ว่าราชการจังหวัด ในฐานะประธานคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด เช่น โรงพยาบาลในเขตจังหวัดนนทบุรี ที่ต้องปิดศูนย์ทันตกรรมชั่วคราว ตามประกาศของจังหวัด เป็นต้น”

แหล่งข่าวรายนี้ย้ำว่า อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการชดเชยการเข้าใช้บริการที่ลดลง ขณะนี้โรงพยาบาลหลาย ๆ แห่งก็ได้มีการทำการตลาดเชิงรุกเพื่อสร้างรายได้ทดแทน ด้วยการนำโมเดลการให้บริการที่เคยใช้เมื่อช่วงที่โควิดระบาดรอบแรกกลับมาให้บริการ เช่น การโปรโมตให้บริการปรึกษาแพทย์ การให้บริการฉีดวัคซีน-การส่งยาให้ถึงที่บ้าน รวมถึงการให้บริการตรวจโควิด-19 เพื่อรองรับกลุ่มผู้ที่ต้องการจะตรวจทั้งในรูปของไดรฟ์ทรู และบริการตรวจที่โรงพยาบาล

อีกสิ่งหนึ่งที่โรงพยาบาลหลายแห่งทำและทำต่อเนื่องก็คือ การเข้าร่วมเป็นสถานกักกันทางเลือกทั้ง alternative state quarantine และรวมถึงการเข้าร่วมโครงการเป็นสถานกักกันในโรงพยาบาลทางเลือก (alternative hospital quarantine) ที่เปิดให้คนไข้ชาวต่างประเทศลงทะเบียน เพื่อจะเดินทางเข้ามารักษาตัวในประเทศ ซึ่งก็ช่วยสร้างรายได้ให้กับโรงพยาบาลอีกทางหนึ่ง

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ล่าสุดจากการสำรวจพบว่าขณะนี้ โรงพยาบาลหลาย ๆ แห่งต่างเริ่มมีความเคลื่อนไหวในการจัดกิจกรรมทางการตลาดออกมาเพื่อชดเชยรายได้จากจำนวนคนไข้ที่ลดลง

เริ่มจากโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ที่ลอนช์โปรแกรม Bumrungrat @Home Service Center เพื่อรองรับจากผลกระทบการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่เกิดขึ้น โดยเสริมบริการ Allergy free at Home ดูแลผู้ป่วยถึงที่บ้าน ทั้งการเจาะเลือด ฉีดวัคซีน รับคำปรึกษาจากแพทย์โดยตรงผ่านทางออนไลน์ เพื่อตอบโจทย์คนไข้หรือลูกค้าที่ไม่สะดวกจะเข้ามารับบริการในโรงพยาบาล และยิงยาวบริการดังกล่าวไปถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2564

นอกจากนี้ บำรุงราษฎร์ก็ยังได้กลับมาโปรโมต บริการรับยาและฉีดวัคซีน ภายใน 60 วินาที (60 second service) อีกครั้งหนึ่ง หลังจากเปิดบริการนี้ไปเมื่อช่วงกลางปี 2563 ที่ผ่านมา พร้อมประกาศตรึงราคาค่ารักษาพยาบาลและค่าธรรมเนียมแพทย์ทั้งหมด ไปจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2564

ขณะที่โรงพยาบาลกรุงเทพ นำบริการตรวจหาเชื้อโควิด-19 (RT-PCR) ด้วยวิธีการป้ายจมูกและคอ กลับมาอีกครั้ง เน้นทราบผลภายใน 24 ชม. อีกทั้งยังมอบโปรโมชั่นส่วนลด 50% ค่าห้องพักผู้ป่วยใน หออภิบาลผู้ป่วยกึ่งวิกฤต หออภิบาลผู้ป่วยวิกฤต ผ่านแคมเปญ “ไทยช่วยไทย ราคาประหยัด”

เช่นเดียวกับ โรงพยาบาลปิยะเวท ที่นอกจากจะนำบริการตรวจ COVID-19 Drive Thru กลับมาใช้อีกครั้งแล้ว ยังเปิดให้บริการ onsite service บริการตรวจโควิด-19 ถึงสำนักงาน เพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อตามสถานที่ต่าง ๆ ทราบผลได้ทันทีทางโทรศัพท์ อีเมล์ หรือ SMS ภายใน 24 ชม.

ขณะที่ โรงพยาบาลสมิติเวช ผุดบริการ SMIT@HOME จัดส่งยา เจาะเลือด กายภาพ ฟื้นฟูหลังผ่าตัด และทำแผลผู้ป่วยถึงบ้าน พร้อมบริการปรึกษาแพทย์ออนไลน์ผ่าน virtual hospital และตรวจร่างกายเรียลไทม์ผ่านเทคโนโลยี tytocare นอกจากนี้ มีบริการตรวจหาเชื้อ COVID-19 รู้ผลไวภายใน 24 ชม.

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าสังเกตว่าสำหรับโรงพยาบาลอื่น ๆ ที่ไม่ได้เน้นเรื่องบริการเกี่ยวกับโควิด แต่ก็ได้นำแพ็กเกจตรวจสุขภาพมาโปรโมต เช่น โรงพยาบาลพญาไท มีโปรโมชั่นแพ็กเกจตรวจสุขภาพ เช่น โปรแกรมตรวจสุขภาพหัวใจ, แพ็กเกจตรวจคัดกรองความเสี่ยงโรคมะเร็งในผู้หญิง, ตรวจคัดกรองความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งปอด ถึง 31 มีนาคม 2564 เช่นเดียวกับโรงพยาบาลเปาโล ที่มีแพ็กเกจตรวจสุขภาพตามราศี และโปรโมชั่นตรวจร่างกายราคาเหมาจ่าย รับฟรีแพ็กเกจสุขภาพ และชุด HBO antiaging

ขณะที่โรงพยาบาลนนทเวช ผุดบริการวัคซีนเสริมภูมิต้านทาน เช่น ไข้หวัดใหญ่ 4 สายพันธุ์ ในเด็กและผู้ใหญ่ แพ็กเกจวัคซีนป้องกันโรคปอดอักเสบ ยาวไปจนถึง 30 มิถุนายน 2564 นอกจากนี้ ยังมีลดราคาโปรแกรมต่าง ๆ ลงอีก 10% จากราคาปกติ

นี่เป็นเพียงความเคลื่อนไหวเพียงบางส่วนที่โรงพยาบาลงัดมาสู้กับโควิด-19 รอบใหม่