ชง 5 ข้อวอนรัฐพยุง “ค้าปลีก” โควิด-19 กระทบหนักยอดวูบ 5 แสนล้าน

เครดิตเทอม 30 วัน

โควิด-19 กระทบหนัก ปี’63 ค้าปลีกวูบ 5 แสนล้าน สมาคมผู้ค้าปลีกไทยยื่น 5 ข้อเสนอ รัฐอัดยาแรง ทดลองจ้างงานแบบเป็นรายชั่วโมง เพื่อลดอัตราการว่างงานและเพิ่มอัตราการจ้างงานใหม่ เก็บภาษีกลุ่มธุรกิจ e-Commerce ห้ามขายสินค้าในราคาต่ำกว่าทุน ป้องกันผลกระทบกับเอสเอ็มอี-ระบบค้าปลีกโดยรวม ปล่อยซอฟต์โลนเพิ่มสภาพคล่องเอสเอ็มอี ลดภาษีนำเข้าสินค้าไลฟ์สไตล์แบบขั้นบันได กระตุ้นกำลังซื้อคนระดับกลาง 8 ล้านราย อ้อนขอร้านค้าปลีกสมัยใหม่และซูเปอร์มาร์เก็ตเข้าร่วมโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ อำนวยความสะดวกให้ประชาชนเข้าถึงสินค้าที่หลากหลาย

นายญนน์ โภคทรัพย์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย เปิดเผยว่า จากสถานการณ์โควิดที่เกิดขึ้นทำให้ดัชนีค้าปลีกสมาคมผู้ค้าปลีกไทย ปี 2563 ลดลงจากปี 2562 จาก 2.8% มาเป็นติดลบ 12.0% ซึ่งเป็นครั้งแรกที่ติดลบถึง 2 หลัก หรือทำค้าปลีกไทยสูญไปประมาณ 5 แสนล้านบาท และคาดว่าไตรมาส 1/2564 ดัชนีค้าปลีกยังคงติดลบราว 7-8% โดยผลกระทบที่เกิดขึ้นทำให้เกิดผลเสียหายในวงกว้าง อาทิ การว่างงานที่เพิ่มขึ้น รายได้ลดลง หนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น SMEs ทยอยปิดตัวลง กำลังซื้อลดลง จึงจำเป็นต้องเร่งเยียวยาให้เร็วที่สุด

โดยสมาคมเสนอ 5 มาตรการช่วยฟื้นฟู ประกอบด้วย ภาครัฐทดลองเพิ่มทางเลือกสำหรับอัตราค่าจ้างแบบเป็นรายชั่วโมง เพื่อเป็นการลดอัตราการว่างงาน และเพิ่มการจ้างงานใหม่ในภาคค้าปลีกสินค้าและค้าปลีกบริการ โดยการจ้างงานประจำจะยังคงมีอยู่เหมือนเดิม แต่เพิ่มอัตราการจ้างงานแบบเป็นรายชั่วโมง เพื่อเป็นทางเลือกและสอดรับการให้บริการช่วงพีกของวันในแต่ละช่วงให้เกิดประสิทธิภาพการบริการลูกค้าสูงสุด โดยภาคค้าปลีกสินค้าและค้าปลีกบริการ คาดว่าจะสามารถจ้างงานรายชั่วโมงได้ทันทีไม่น้อยกว่า 52,000 อัตรา และเพิ่มได้ถึง 200,000 อัตราในระยะยาว

ขณะเดียวกัน ภาครัฐควรช่วยเหลือ SMEs โดยให้มีการปล่อยสินเชื่อ (soft loan) ผ่านแพลตฟอร์มค้าปลีก รัฐบาลและธนาคารแห่งประเทศไทยได้ร่วมกันออกมาตรการเพื่อเพิ่มสภาพคล่องแก่ผู้ประกอบการ SMEs และเกษตรกร ทำให้เข้าถึงสินเชื่อที่มีดอกเบี้ยอัตราพิเศษ โดยสมาคมขอเสนอให้ภาครัฐพิจารณาการให้สินเชื่อพิเศษนี้โดยผ่านแพลตฟอร์มค้าปลีก ซึ่งสามารถเข้าถึง SMEs เกษตรกร ผู้ประกอบการรายย่อยกว่า 400,000 ราย ได้โดยตรงและอย่างรวดเร็วและเกิดประสิทธิภาพสูงสุด

นอกจากนี้ ภาครัฐต้องเร่งพิจารณาเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มและภาษีนำเข้ากับสินค้าที่ซื้อขายผ่าน e-Commerce/e-Marketplace ที่นำเข้าจากต่างประเทศ โดยจากข้อมูล ETDA มูลค่า e-Commerce มีมูลค่าราว 300,000 ล้านบาท ซึ่งยังไม่มีมาตรการควบคุมที่ชัดเจน มีการขายสินค้าในราคาที่ต่ำกว่าทุน ไม่มีมาตรการเรื่องการเก็บภาษีนำเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่ม ทำให้ SMEs ไทยไม่สามารถแข่งขันได้ ซึ่งจะสร้างความเสียหายให้กับระบบค้าปลีกไทยในระยะยาว

นายญนน์กล่าวว่า พร้อมกันนี้ ภาครัฐต้องหามาตรการกระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ โดยมุ่งไปยังกลุ่มที่มีกำลังซื้อระดับกลางถึงสูงกว่า 8 ล้านราย เพื่อผันเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจไทย ด้วยมาตรการลดภาษีนำเข้าสินค้าไลฟ์สไตล์ สมาคมเสนอให้กระตุ้นการบริโภคในกลุ่มผู้มีกำลังซื้อสูงนี้ โดยเฉพาะสินค้าไลฟ์สไตล์นำเข้า ซึ่งปัจจุบันอัตราภาษีนำเข้าสินค้าไลฟ์สไตล์ในไทยสูงถึง 30% ซึ่งสูงที่สุดใน 15 ประเทศในแถบเอเชีย

โดยเสนอให้ทดลองปรับลดภาษีนำเข้าชั่วคราวตามประเภทสินค้าเป็นแบบขั้นบันได เช่น ลดจากเดิม 30% เป็น 20% 15% และ 10% เพื่อให้มีส่วนต่างของอัตราภาษี และไม่เกิดผลกระทบกับแบรนด์ไทย ซึ่งจะสามารถสร้างเงินสะพัดได้กว่า 20,000 ล้านบาทต่อไตรมาส


และสุดท้าย ภาครัฐควรพิจารณาอนุญาตให้ร้านค้าปลีกสมัยใหม่และซูเปอร์มาร์เก็ตเข้าร่วมโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งจะช่วยอำนวยความสะดวกให้ประชาชนเข้าถึงสินค้าที่หลากหลาย และราคาต่ำได้มากขึ้น โดยจากงานวิจัยพบว่า สินค้าที่ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐซื้อหาเป็นประจำ ส่วนใหญ่เป็นสินค้าอุปโภคบริโภคไม่กี่ชนิด อาทิ ข้าวสาร น้ำมันพืช น้ำตาล ซึ่งผลิตโดยผู้ผลิตสินค้ารายใหญ่เพียงไม่กี่ราย ทำให้การกระจายรายได้ไปไม่ถึงผู้ผลิตสินค้ารายเล็กอื่น ๆ การเปิดให้ร้านค้าปลีกสมัยใหม่และซูเปอร์มาร์เก็ตเข้าร่วมโครงการ นอกจากจะช่วยเหลือประชาชนผู้ใช้บัตรแล้ว ยังเป็นการกระจายรายได้สู่ผู้ผลิตสินค้าในวงกว้างมากขึ้น ทั้งเกษตรกร ชุมชน และผู้ประกอบการ SMEs