กสทช. จับมือ อย. กวาดล้างโฆษณาถั่งเช่าเกินจริง เผยพบกว่า 4,000 คดี ย้ำสื่อมีโทษจับ-ปรับเงินสูงสุด 5 ล้านบาท วิทยุลดอายุใบอนุญาตเหลือ 6 เดือน ขู่ผู้ประกอบการอาจโดนเพิกถอนตำรับยา ดารา-พรีเซ็นเตอร์โดนจับด้วย วอนประชาชนอย่าหลงเชื่อ พร้อมชี้โฆษณาสื่อออนไลน์อยู่ใต้การดูแลกระทรวงดิจิทัลฯ
พลโท ดร.พีระพงษ์ มานะกิจ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่ปี 61 กสทช. ได้ร่วมกับคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) จัดการปัญหาการโฆษณาอาหาร ยา และผลิตภัณฑ์สุขภาพ
ปรากฏว่า ตรวจจับการโฆษณาทางโทรทัศน์ดิจิทัลได้ 17 ราย จำนวน 77 โฆษณา, โทรทัศน์ดาวเทียม 90 ราย จำนวน 190 โฆษณา และวิทยุ 2,150 ราย จำนวน 4,058 โฆษณา
“ก่อนหน้านี้เราได้กวาดล้างโฆษณาที่หลอกลวงผู้บริโภคมาแล้วครั้งหนึ่ง ซึ่งได้จับและส่งดำเนินคดีจนเข็ดหลาบ เช่น กรณีโฆณาถั่งเช่าของ อ.ภาษาจีนท่านหนึ่ง กับโฆษณาเห็ดหลินจือ ที่มีดาราสาวสองพันปีเป็นพรีเซ็นเตอร์ และเมื่อโฆษณาลวงโลกเช่นนี้กลับมา เราจะกำจัดให้สิ้นซาก”
ผู้ประกอบการเหล่านี้ ขาดจิตสำนึก เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนมากกว่าส่วนรวม ต่อไปนี้นอกจากจะลงโทษปรับสื่อโทรทัศน์และวิทยุแล้ว กสทช.จะส่งเรื่องไป อย. เพื่อดำเนินคดีกับพิธีกร พรีเซ็นเตอร์ และพิจารณาเกี่ยวกับเพิกถอนทะเบียนตำรับอาหารด้วย
“ค่าปรับของ กสทช. กฎหมายกำหนดไว้สูงสุดไม่เกิน 5 ล้านบาท ปรับรายวันอีกไม่เกิน 1 แสนบาท นอกจากจะโดนปรับแล้ว ประวัติโฆษณาผิดกฎหมายเหล่านี้ จะถูกบันทึกไว้ กรณีสื่อวิทยุจะเหลือใบอนุญาตเพียง 6 เดือน”
ทั้งนี้ กสทช.ดูแลทางสื่อโทรทัศน์และวิทยุกระจายเสียงเท่านั้น ส่วนโฆษณาทางสื่ออินเทอร์เน็ต หรือสื่อสังคมออนไลน์ จะอยู่ภายใต้การดูแลของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดศ.) และ อย.
ด้าน เภสัชกรหญิงสุภัทรา บุญเสริม รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา กล่าวว่า ปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์ถั่งเช่าที่ อย.อนุญาต มี 2 กลุ่ม เท่านั้น ได้แก่ ผลิตภัณฑ์สมุนไพร (ยาแผนโบราณ) และผลิตภัณฑ์อาหารที่มีถั่งเช่าเป็นส่วนประกอบ เพื่อบำรุงร่างกายทั่วไป
ดังนั้น การโฆษณาว่าอาหารเสริมถั่งเช่าช่วยรักษาสารพัดโรค ทั้งความดัน เบาหวาน มะเร็ง ฯลฯ จึงเป็นการโฆษณาที่ไม่ได้รับอนุญาต และเป็นการโฆษณาโอ้อวดเกินจริง มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 30,000 บาท
ในปี 2563 ที่ผ่านมา อย.ดำเนินคดีโฆษณาผลิตภัณฑ์อาหาร สมุนไพร และสุขภาพประเภทอื่น ๆ ทางสื่อ จำนวน 1,388 คดี ทั้งนี้ อย.จะเป็นผู้วินิจฉัยความผิด และดำเนินคดีกับผู้ผลิต นำเข้า จำหน่าย หรือผู้ทำโฆษณา
ส่วนทาง กสทช.จะดำเนินการกับสถานีที่ออกอากาศ ตั้งแต่ปี 61-63 อย.ได้วินิจฉัยความผิดและส่งให้ กสทช. 250 เรื่อง เป็นโฆษณาถั่งเช่า 58 เรื่อง ซึ่งผู้โฆษณามักใช้จุดอ่อนของผู้ซื้อ นำภาพผู้ป่วยมาใช้เพื่อความน่าเชื่อถือ วอนประชาชนอย่าหลงเชื่อ หากพบโฆษณาเกินจริง แจ้งมาที่ กสทช. และ อย.ได้ทันทีที่เบอร์ 1556