เครื่องเกม PS5 ดีมานด์ทะลัก แห่เก็งกำไร พุ่งเฉียด 3 หมื่น แพงขึ้น 60%

ps 5

พ่อค้า-แม่ค้าออนไลน์ แห่เก็งกำไรเครื่องเกมรุ่นใหม่ หลังเปิดจองวันแรกดีมานด์ทะลักสินค้าหมดใน 2 นาที ดันราคาขายต่อแตะ 2.25-2.7 หมื่นบาท จากราคาปกติที่ 1.4 และ 1.7 หมื่นบาท

วันที่ 23 มกราคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า Playstation 5 เครื่องเกมรุ่นใหม่จาก โซนี่ กลายเป็นสินค้าสุดฮอตตัวใหม่ที่กำลังถูกนำมาเก็งกำไรกันอย่างคึกคักในโลกออนไลน์ในขณะนี้ หลังจากการเปิดจองเมื่อวันศุกร์ที่ 22 มกราคม นั้นดีมานด์ล้นทะลักจนสินค้าของร้านตัวแทนต่างๆ หมดภายในเวลาเพียง 2 นาที รวดเร็วยิ่งกว่าสิทธิ์คนละครึ่ง ส่วนเว็บไซต์ของโซนี่เอง ก็ล้มจนต้องเลื่อนการจองออกไปแบบไม่มีกำหนด

ดีมานด์มหาศาลนี้ทำให้เกิดการเก็งกำไรกันอย่างคึกคัก โดยมีการโพสขายและรับซื้อเครื่องเกม Playstation 5 ประกันศูนย์ไทย ในเพจซื้อขายบนเฟสบุ๊ค ซึ่งมีการตั้งราคาขายและรับซื้อตั้งแต่ 2.2 หมื่นบาท ไปจนถึง 3.2 หมื่นบาท หรือ 2 เท่า ของราคาเครื่องที่โซนี่ประเทศไทยประกาศไว้ที่ 16,990 และ 13,990 บาท

ขณะเดียวกันความร้อนแรงนี้ ทำให้เพจซื้อขายบางแห่งเริ่มประกาศแจ้งเตือนให้ผู้ใช้ระวังการถูกหลอกลวงจากมิจฉาชีพ เนื่องจากผู้ค้าหลายรายใช้วิธีการให้ผู้ซื้อจ่ายค่ามัดจำในระดับ 1-5 พันบาท ก่อนจะรับสินค้าในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2564 ซึ่งเป็นวันที่โซนี่ ประเทศไทยกำหนดส่งมอบเครื่องให้กับผู้ซื้อ ด้านผู้ใช้โซเชียลหลายรายเริ่มเกิดกระแสรณรงค์ไม่ให้ซื้อสินค้าจากเหล่านักเก็งกำไร

ทั้งนี้การเก็งกำไรเครื่อง Playstation 5 เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงท้ายปี 2563 ที่ผ่านมา ในหลายประเทศซึ่งมีการวางจำหน่ายไปก่อนหน้า โดยนักเก็งกำไร หรือ Scalper ได้กว้านซื้อเครื่องและนำมาวางขายในมาเก็ตเพลสและโซเชียลเน็ตเวิร์ค เช่น Ebay และ Twitter ในราคาที่สูงถึง 1 พันดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 30,000 หมื่นบาท จากราคาปกติ 500 ดอลลาร์สหรัฐ

ส่วนในประเทศไทยก่อนที่ โซนี่ ประเทศไทยจะประกาศขายเครื่องเกมรุ่นนี้อย่างเป็นทางการห้างสรรพสินค้าใหญ่หลายแห่ง รวมถึงผู้นำเข้าอิสระหลายราย ได้นำเข้าเครื่อง Playstation 5 มาวางขายในราคา 3-4 หมื่นบาทมาก่อนแล้ว

โดยสาเหตุที่มีผู้ยอมซื้อในราคาที่แพงขึ้นมากนี้ ผู้เชี่ยวชาญในต่างประเทศวิเคราะห์ว่า เป็นผลต่อเนื่องจากการระบาดของโรคโควิด-19 ที่ทำให้ผู้คนอยู่บ้านมากขึ้น ส่งผลให้ความต้องการอุปกรณ์เพื่อความบันเทิงพุ่งสูงขึ้นตามไปด้วย ในขณะที่การระบาดทำให้กำลังผลิตของโรงงาน และประสิทธิภาพการขนส่งลดลง


นอกจากนี้มาตรการการเว้นระยะห่างที่บีบให้ร้านค้าหลายแห่งหันไปใช้การจอง-ขายผ่านออนไลน์ เปิดโอกาสให้เหล่า Scalper สามารถใช้โปรแกรมอัตโนมัติหรือ บอท (Bot) ซึ่งสามารถติดตามสต๊อกของเว็บไซต์ต่างๆ และทำการสั่งซื้อภายในเสี้ยววินาทีที่มีการเติมสต๊อก มาใช้กว้านซื้อสินค้าได้อย่างเต็มที่ ต่างจากยุคก่อนการระบาดที่ต้องอาศัยการจ้างคนจำนวนมากไปต่อคิวซื้อสินค้าแทน